เปิดโลกมหัศจรรย์ในคุชราฎ และ โอดิสสา(ตอน4)

ซอกซอนตะลอนไป                           (27 ตุลาคม 2562)

เปิดโลกมหัศจรรย์ในคุชราฎ และ โอดิสสา(ตอน4)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               อาคารเก็บน้ำใต้ดินในรัฐคุชราฎ ยังมีอีกหลายแห่ง  เช่น  อาคารเก็บน้ำอาดาลาจ ที่สวยงามมาก เป็นต้น  แต่ผมจะขอข้ามไปก่อน  เพราะหากจะพูดถึงเรื่องความสวยงามพิสดารพันลึกของอาคารเก็บน้ำใต้ดิน  เราจะต้องลงลึกในรายละเอียดของการออกแบบ และ การแกะสลัก ซึ่งยากจะเข้าใจได้ด้วยการอ่าน


(อาคารในอาศรมที่ท่านคานธีใช้เป็นที่พักในช่วงที่ท่านมาพำนักที่นี่)

               สิ่งหนึ่งที่จะพลาดไม่ได้ในการชมเมือง อาเมห์ดาบาด ก็คือ อาศรม ซาบาร์มาติ  หรือ บางครั้งก็เรียกว่า  อาศรมท่านคานธี เพราะเป็นอาศรมที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ซาบาร์มาติ(SABARMATI RIVER)  ซึ่งท่านมหาตมะ คานธีเคยพำนักอาศัยอยู่ที่นี่นานกว่า 10ปี


(ภริยา คู่ทุกข์คู่ยากของท่านคานธี ที่อยู่เคียงข้างท่านตราบจนนาทีสุดท้าย)

               ยิ่งไปกว่านั้น  ที่นี่คือก้าวแรกของแนวทางการต่อสู้เพื่อเรียกร้องอิสรภาพจากอังกฤษด้วยวิธีการที่เรียกว่า SALT SATYAGRAHA หรือ การต่อต้านด้วยความสงบสันติด้วยการใช้เกลือเป็นเครื่องมือ เป็นอีกหนึ่งวิธีการในการต่อสู้ที่เรียกว่า แนวทาง อาหิมสา (AHIMSA) ซึ่งเป็นคำในภาษาสันสกฤต ที่แปลว่า  ไม่ทำร้ายกัน


(คำจารึกที่ท่านคานธี เขียนระลึกถึงภริยาของท่าน)

               เป็นแนวทางที่คนทั่วโลกรู้จักตัวตนของท่านมหาตมะ คานธี   คือ  การแสดงการดื้อแพ่ง  การปฎิสธไม่รับฟังคำสั่งจากอังกฤษ ด้วยสันติวิธี

               จากอาศรมแห่งนี้  ท่านคานธีได้นำอาสาสมัครเพียงแค่ 80 คนที่ศรัทธาในแนวทางการต่อสู้ของท่าน  ออกเดินทางไปยังเมืองแดนดิ  ซึ่งเป็นเมืองชายทะเล


(ท่านมหาตมะ คานธี ออกเดินเท้าเพื่อเดินรณรงค์เกลือ-ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ท่านเริ่มออกเดินทางในวันที่ 12 มีนาคม ปีค.ศ. 1930 ระยะทางข้างหน้าประมาณ 384 กิโลเมตรไปยังเมืองแดนดิ  เพียงเพื่อที่จะแสดงอารยะขัดขืนด้วยการ ทำเกลือจากน้ำทะเล

               “เกลือ” เป็นสินค้าประเภทยุทธปัจจัยที่ควบคุมเข้มงวดเป็นพิเศษ  เริ่มตั้งแต่สมัยบริษัท อีสต์ อินเดีย เข้ามาค้าขายในอินเดีย  ได้ประกาศให้สินค้าประเภทเกลือเป็นสินค้าต้องห้ามภายใต้การควบคุมดูแลของบริษัท อีสต์ อินเดียในปี ค.ศ. 1772 

และประกาศให้เกลือเป็นสินค้าผูกขาดที่อนุญาตให้เพียงบุคคลบางคนเท่านั้นที่จะมีสิทธิ์ผลิตเกลือ และ ขายเกลือได้

ต่อมา  เมื่ออังกฤษยึดบริษัท อีสต์ อินเดียไป  ก็ได้ออกกฎหมายบังคับให้ชาวอินเดียจะต้องจ่ายภาษีเกลือในปีค.ศ. 1835

ก่อนอื่น  ขอย้อนกลับไปในอดีต  ไม่ว่าจะเป็นในเอเชีย หรือ ยุโรป ตั้งแต่เมื่อยุคโรมันเรื่อยมา   เกลือเป็นสินค้าจำเป็นประเภทยุทธปัจจัยที่ต้องควบคุม   แต่อาจจะยังไม่ผูกขาด

แต่เมื่อผ่านเข้ามาสู่ศตวรรษที่ 15 เรื่อยมา  เกลือกลายเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต  และ ถูกผูกขาดเอาไว้ให้แก่เฉพาะบรรดาราชวงศ์ และ ผู้ปกครองในยุคนั้น 


(พระนางมาเรีย เธเรซ่า แห่งราชวงศ์ฮับส์เบิร์ก ผู้เป็นเจ้าของเหมืองเกลือทั้งหมดในเขต ซัลส์คามเมอร์กุท(SALZKAMMERGUT) -ภาพจากวิกิพีเดีย)

ราชวงศ์ฮับส์เบิร์ก ของออสเตรีย จึงเป็นเจ้าของเหมืองเกลือทั้งหมดในประเทศ  สามัญชนธรรมดาไม่มีสิทธิ์ที่จะเป็นเจ้าของได้ 

บิช้อปแห่งซัลส์เบิร์กก็เป็นเจ้าของเหมืองเกลือในย่านนี้  และด้วยเหตุที่เกลือถูกผูกขาดเช่นนี้  จึงทำบิช้อปแห่งซัลส์เบิร์กร่ำรวยอย่างเหลือล้น  จนผู้คนในยุคนั้น  เรียกขานเกลือว่า  “ทองคำสีขาว”

ด้วยเหตุนี้  เมื่ออังกฤษเข้ามาปกครองอินเดีย  ก็จึงนำวิธีหาเงินแบบง่ายๆจากยุโรปมาใช้กับคนอินเดีย  ซึ่งเป็นเรื่องที่คนอินเดียรู้สึกถึงความไม่ยุติธรรม  และ พยายามต่อสู้มาตลอด  ทว่าไม่เป็นผล

การเริ่มต้นเดินเท้าเพื่อรณรงค์เรื่องเกลือของท่านมหาตมะ คานธี  แท้ที่จริงไม่ได้ต้องการจะเรียกร้องเรื่องความเป็นธรรมในเรื่องเกลือโดยตรง  หากแต่ต้องการจะสร้างกระแสให้ชาวอินเดียตื่นตัวถึงการเอารัดเอาเปรียบของอังกฤษที่มีต่ออินเดีย   และนำไปสู่การเรียกร้องอิสรภาพในที่สุด

คนส่วนใหญ่เรียกการเดินเท้าของท่านคานธีว่า  เกลือ สัตยะกราหะ (SALT SATYAGRAHA)  เป็นความหมายของการต่อต้านการเก็บภาษีเกลืออย่างสงบ และ ไม่ก่อเหตุรุนแรง

ท่านคานธี ออกเดินเท้าจากเมืองอาเมห์ดาบาดเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ปีค.ศ. 1930 ถึงปลายทางเมือง แดนดิ เมื่อวันที่ 6 เมษายน  ใช้เวลา 24 วัน   จากจำนวนคนเริ่มต้นที่ 80 คน  สุดท้ายมีผู้ร่วมเดินเท้ากับท่านนับแสนคน


(ท่านคานธี ก้มลงเก็บเกลือ หลังจากนั้น  ท่านก็ถูกจับกุม-ภาพจากวิกิพีเดีย)

และเมื่อถึงเมืองแดนดิ  ท่านคานธีก็ได้ลงมือผลิตเกลือขึ้นใช้เอง  และ ถูกตำรวจอังกฤษจับกุมในเวลาต่อมา  พร้อมด้วยชาวอินเดียอีกนับพันๆคนที่ถูกจับกุมในข้อหาเดียวกันนี้ด้วย 

แต่เพียงไม่นาน  ตำรวจก็ต้องปล่อยตัว   เพราะไม่อาจต้านทานกระแสผู้คนที่เข้าร่วมได้ 

นี่เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ของท่านมหาตมะ คานธีที่เริ่มจากอาศรม แห่งเมือง อาเมห์ดาบาด แห่งนี้

สำหรับท่านที่สนใจจะเดินทางเจาะลึก คุชราฎ และ โอดิสสา และนมัสการพระเขี้ยวกับผม  อดใจรอสักนิดครับ  เพราะเรากำลังเตรียมการจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ปีหน้าครับ

สำหรับท่านที่สนใจจะเดินทางเจาะลึกอียิปต์ โปรแกรมสำหรับปีนี้เต็มหมดแล้วครับ  ครั้งต่อไปก็คือ เดือนกุมภาพันธ์ 2563   สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ 02 651 6900 หรือ  088 578 6666 หรือ LINE ID 14092498

สวัสดีครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .