เปิดโลกมหัศจรรย์ในคุชราฎ และ โอดิสสา(ตอน1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (6 ตุลาคม 2562)

เปิดโลกมหัศจรรย์ในคุชราฎ และ โอดิสสา(ตอน1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ผมได้รับเชิญให้เดินทางไปสำรวจเส้นทางใหม่ในอินเดีย ที่ไม่ค่อยมีใครเดินทางไปสักเท่าไหร่นัก ในแคว้นคุชราฎ  และ  แคว้นโอดิสสา

               แคว้นคุชราฎ เป็นแคว้นที่ร่ำรวยมาแต่เก่าก่อน  แม้จนกระทั่งทุกวันนี้  เพราะตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอินเดีย  ติดกับทะเลอาหรับ  จึงมีการติดต่อค้าขายกับต่างชาติโดยเฉพาะโลกตะวันตกมาเป็นเวลาช้านาน  

               ปัจจุบัน  ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของรัฐคุชราฎอยู่ในลำดับที่ 5 ของประเทศอินเดีย บนพื้นฐานจากการค้า  ด้วยเหตุนี้  ธุรกิจทางด้านการท่องเที่ยวจึงค่อนข้างจะเงียบเชียบ   เพราะประชาชนไม่สนใจจะทำธุรกิจท่องเที่ยว  และรัฐบาลท้องถิ่นก็ไม่ค่อยให้ความสำคัญนัก  ทั้งๆที่รัฐคุชราฎมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายที่น่าชม  


(แผนที่อินเดีย  รัฐคุชราฎ อยู่ซ้ายมือสุดสีชมพู- ภาพจากอินเตอร์เน็ต)

และ คุชราฎ ก็อยู่ติดกับรัฐราชสถาน ที่นักท่องเที่ยวรู้จักเมืองต่างๆในรัฐนี้กันดี  เช่น  ไจปูร์ นครสีชมพู ,   จ้อดปูร์ และ อุไดปูร์ เมืองแห่งมหาราชา  

               จนกระทั่ง  นายนเรนทรา โมดี(NARENDRA MODI) ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของอินเดีย  เขาเคยเป็นผู้ว่าราชการของรัฐคุชราฎมาก่อน  จึงมองเห็นศักยภาพทางการท่องเที่ยวของรัฐคุชราฎ  การท่องเที่ยวของรัฐนี้จึงได้รับการจัดลำดับให้มีความสำคัญในลำดับต้นๆ

               ทันทีที่ลงเครื่องบินที่สนามบินอาห์เมดาบาด ก็ตระหนักทันทีถึงความสำคัญของรัฐคุชราฎ ว่าเป็นเมืองประวัติศาสตร์ เพราะเป็นบ้านเกิดของท่านมหาตมะ คานธี ผู้นำในการต่อสู้เพื่ออิสรภาพจากอังกฤษ


(ภายในสนามบิน อาห์เมดาบาด ต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยภาพพจน์ของ มหาบุรุษ มหาตมะ คานธี)

               เมืองอาห์เมดาบาด ฟังจากชื่อก็รู้ว่า  เป็นเมืองมุสลิม เพราะผู้ก่อตั้งและสถาปนาเมืองนี้ก็คือ อาห์หมัด ชาห์ ที่ 1(AHMAD SHAH I) ขึ้นครองราชในปีค.ศ. 1411 หรือ ประมาณยุคกรุงศรีอยุธยาตอนต้น

               ขณะนั้นพระองค์มีอายุเพียง 19 ชันษาเท่านั้น

               แรกทีเดียว  ฐานที่มั่นของอาห์หมัด ชาห์ ที่ 1 อยู่ที่เมืองปาทาน(PATAN) ทางเหนือของอาห์เมดาบาดประมาณ 127 กิโลเมตร 

ตำนานเล่าว่า  วันหนึ่ง  อาห์หมัด ชาห์ มาล่าสัตว์ที่ริมแม่น้ำ ซาบาร์มาติ (SABARMATI RIVER) และได้เห็นปรากฎการณ์ที่แปลกก็คือ  กระต่ายตัวใหญ่วิ่งไล่หมา 

               เมื่อได้รับการทำนายจากนักปราชญ์ว่า  เป็นปรากฎการณ์ที่ดี  พระองค์จึงเลือกที่จะสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ที่ตรงจุดนี้  แทนเมืองปาทาน ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่า 

               ส่วนชื่อของเมืองนั้น ก็มาจากการที่พระองค์เอาชื่อ “อาห์หมัด” 3 คน คือ อาจารย์สอนศาสนาของพระองค์คือ อาห์หมัด คัตตู(AHMAD KHATTU)   และ คนใกล้ชิดอีก 2 คนคือ  คาซิ อาห์หมัด (KAZI AHMAD) กับ มาลิค อาห์หมัด(MALIK AHMAD) มารวมกับชื่อของพระองค์  กลายเป็น ชื่อเมือง 

อาห์เมดดาบาด(AHMEDABAD)  


(สุเหร่า จามา ใน อาเมห์ดาบาด มีประตูเข้าหลัก 3 ประตู)

               หลังจากนั้น  พระองค์ก็ให้สร้างสุเหร่า เรียกว่า สุเหร่าจามา (JAMA MOSQUE) ขึ้นในปี ค.ศ. 1424  ซึ่งเป็นสุเหร่าที่แปลกตา  และ สวยงามแตกต่างไปจากสุเหร่าของศาสนาอิสลามที่เคยพบเห็น 

               ที่เห็นได้ชัดส่วนหนึ่งก็คือ  ไม่มีโดมขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง  เพื่อสร้างพื้นที่สวดมนต์ขนาดใหญ่แบบไม่มีเสาค้ำกลาง  เพื่อรองรับคนจำนวนมากให้เข้ามาสวดมนต์ได้พร้อมๆกัน


(ภาพเขียนโดย ROBERT MELVILLE GRINDLEY ที่เขียนในปีค.ศ. 1809 ก่อนที่จะเกิดแผ่นดินไหว จนหอคอย 2 หอพังทะลายลงมา – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               อาจเป็นเพราะพื้นที่แถบนี้เป็นดินแดนของราชบุตร  และเป็นที่อยู่อาศัยของชาวฮินดูแต่เดิม   เมื่อมุสลิมเข้ามายึดครอง  ก็คงจะไม่ต้องการจะสร้างความรู้สึกเป็นศัตรูกับเจ้าของพื้นเดิม  เพราะแคว้นด้านเหนือ คือ ราชสถานก็เป็นดินแดนของราชบุตร ที่นับถือศาสนาฮินดูด้วยเช่นกัน 

               หรืออาจจะเป็นเพราะ  ช่างฝีมือส่วนใหญ่ที่มาสร้างสุเหร่าแห่งนี้  เป็นช่างชาวฮินดู  


(ภายในสุเหร่า  ที่เมื่อมองจากภาพถ่าย ก็คงคิดว่า เป็นวิหารในศาสนาฮินดู มากกว่าจะเป็นสุเหร่า)

               อาห์หมัด ชาห์ จึงให้สร้างสุเหร่าด้วยหินทรายสีเหลือง  ตามสไตล์ของวิหารของฮินดู  ในรูปแบบของสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า อินโด – ซาราเซน แต่ก็ยังคงมีหอคอยสองหอสำหรับเรียกคนให้สวดมนต์เมื่อถึงเวลา  ซึ่งพังทะลายไปในตอนที่เกิดแผ่นดินไหว   

               แรกทีเดียว  อาห์หมัด ชาห์ ต้องการจะสร้างสุเหร่า จามา ให้เป็นสุเหร่าส่วนตัวสำหรับครอบครัวของพระองค์  และ คนใกล้ชิดที่มีจำนวนไม่มากมายนัก    ดังนั้น  บางครั้งจึงเรียกสุเหร่านี้ว่า  มัสยิด ซึ่งหมายถึง สุเหร่าขนาดเล็ก


(สุดทางก็คือ ห้องสวดมนต์เฉพาะสุภาพสตรีของราชวงศ์ที่จะแยกไปเป็นส่วนตัว ไม่ปนกับผู้ชาย)

               นอกจากนี้  ข้างขวาของประตูมิหรับ  ซึ่งเป็นประตูที่หมายของการหันหน้าไปทางนครเมกกะ ในซาอุดิอาระเบียในตอนสวดมนต์  จะมีห้องที่ยกพื้นขึ้นไป  มีลวดลายฉลุบนแผ่นหินเพื่อระบายอากาศ และ เพื่อความสวยงาม  ห้องดังกล่าวสำหรับสมาชิกที่เป็นผู้หญิงเป็นหลัก  เพื่อจะได้แยกออกมาจากผู้ชายในตอนทำพิธี 


(ภาพสลักแสดงต้นอินทะผาลัม ที่อยู่ตรงกลาง และ ต้นกัลปพฤกษ์ที่อยู่รายรอบ)

               แต่มีหลายสิ่งที่สะท้อนภาพของความเชื่อมโยง และ เกี่ยวเนื่องระหว่างแนวคิดของ ฮินดู และ มุสลิมก็คือ  ภาพสลักที่มีอยู่มากมายหลายแห่ง  เป็นภาพของต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์สองชนิดตามความเชื่อของสองศาสนา

               คือ ต้นอินทะผาลัม  ตามความเชื่อของศาสนาอิสลาม  และ  ต้นกัลปพฤกษ์ ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู   


(โถน้ำ สัญลักษณ์ของศาสนาเชน และ ดอกบัว สัญลักษณ์ของศาสนาฮินดู  ในช่วงศตวรรษที่ 15  ศาสนาพุทธแทบจะเรียกได้ว่า  สูญหายไปจากประเทศอินเดียโดยสมบูรณ์แล้ว)

และ โถน้ำ ซึ่งเป็นสัญญลักษณ์ของศาสนาเชน กับ ดอกบัว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาฮินดู

               สำหรับท่านที่สนใจเดินทางเจาะลึกอียิปต์ 10 วัน 7 คืน ซึ่งมีออกเดินทางทุกเดือน  และในระหว่างวันที่  14 – 23 พฤศจิกายน นี้  ติดต่อสอบถามได้ที่ 02 651 6900 หรือ  088 578 6666 หรือ LINE ID 14092498

               สัปดาห์หน้า  ผมจะพาไปชม  อาคารเก็บน้ำใต้ดิน ที่ยิ่งใหญ่อลังการ์  สวยงามล้ำลึก  โปรดติดตามครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .