ซอกซอนตะลอนไป (9 มิถุนายน 2562)
ครบเครื่องเรื่องเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของฟาโรห์(ตอน 3)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
ในพิธีราชาภิเษก(อีกครั้ง)ของฟาโรห์ ที่เรียกว่า พิธีเฮบ เสด(HEB-SED) ฟาโรห์จะสวมมงกุฎสองชั้นของอียิปต์บน และ อียิปต์ล่าง ที่มีเทพีวาดเจต หรือ เทพีงูเห่า และ เทพีเนคห์เบท หรือ เทพีนกแร้ง ประดับตรงหน้าผาก เพื่อประกาศความเป็นฟาโรห์ ผู้ปกครองของแผ่นดินอียิปต์บนและอียิปต์ล่าง
ผมจะเล่าเรื่องพิธีราชาภิเษก(อีกครั้ง) ให้ฟังในตอนถัดๆไปครับ
จากมงกุฎสองชั้นลงมา ก็จะเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์อีกชนิดหนึ่ง ที่ประกาศความเป็นฟาโรห์ คือ หนวดปลอม
หนวดปลอมที่ว่านี้ มีลักษณะเหมือนหนวดแพะที่ยื่นลงไปจากคาง โดยมีสายรัดลากขึ้นไปผูกไว้ที่เหนือศรีษะเพื่อยึดหนวดปลอมเอาไว้
หนวดปลอมที่ว่านี้ นอกจากฟาโรห์จะเป็นผู้สวมใส่แล้ว ก็จะเห็นเทพเจ้าบางองค์สวมใส่ด้วย ทั้งนี้ ตามความเชื่อของอียิปต์โบราณ ฟาโรห์ มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับเทพเจ้าต่างๆ
อียิปต์โบราณเชื่อว่า เทพเจ้าเป็นผู้ส่งฟาโรห์ให้ลงมาในโลกมนุษย์ หรือ พูดให้แคบเข้าก็คือ ลงมาสู่แผ่นดินอียิปต์ เพื่อทำหน้าปกครองแผ่นดินอียิปต์ เพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ให้แก่แผ่นดินอียิปต์ และ ปราบปรามศัตรูของประเทศอียิปต์ และ ของชาวอียิปต์
จะเห็นว่า ไม่ต่างไปจากแนวคิดเรื่อง พระนารายณ์อวตานตามคัมภีร์พระเวทของศาสนาฮินดู ที่พระนารายณ์ลงมาปราบพวกยักษ์ หรือ ชาวลงกา หรือ แนวคิดตามพระคัมภีร์ไบเบิล ฉบับพันธะสัญญาเก่า หรือ พระคัมภีร์ของชาวยิว ที่บอกว่า อาดัม กับ อีฟ เป็นมนุษย์สองคนแรกที่พระเจ้าเลือกสรรแล้ว
ดังนั้น เนื้อหาในคัมภีร์ชาวยิว จึงพูดถึงเฉพาะ ชาวยิว เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับมนุษย์ชาติพันธุอื่นๆ เราจึงไม่มีความเกี่ยวพัน หรือ สืบทอดมาจาก อาดัม กับ อีฟ ที่บอกว่าเป็นมนุษย์สองคนแรกของโลก แต่อย่างใด
เชื่อว่า ศาสนาทั้งสอง น่าจะได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากศาสนาอียิปต์โบราณอย่างมาก
กลับมาพูดเรื่องหนวดปลอมของฟาโรห์ จะมีความแตกต่างจากหนวดของเทพเจ้าในรายละเอียด กล่าวคือ หนวดปลอมของฟาโรห์ จะเป็นหนวดที่มีปลายเหยียดตรง แต่หนวดของเทพเจ้าจะมีปลายงอนม้วนขึ้นมา
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนวดของเทพเจ้า โอซิริส เทพแห่งโลกหน้า และ เทพเจ้าปตาห์ เทพแห่งเมืองเมมฟิส และ เทพแห่งแผ่นดินอียิปต์
เครื่องราชกกุธภัณฑ์ชิ้นต่อไปของฟาโรห์ก็คือ บัลลังก์
ในสมัยอียิปต์โบราณนั้น ผู้คนทั้งหมดมักจะนั่งบนพื้น เก้าอี้จะถูกจำกัดเอาไว้ให้เฉพาะชนชั้นสูงเท่านั้น เพราะ “เก้าอี้” เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงสถานะที่สูงกว่าคนอื่นของบุคคลผู้นั้น
แรกทีเดียว “เก้าอี้” หรือ อาจจะเรียกว่า “บัลลังก์” (THRONE) ก็ได้ จะใช้เฉพาะในพิธีทางศาสนาเท่านั้น โดยกำหนดให้เป็นที่ประทับของเทพเจ้า และ ของสมาชิกของราชวงศ์เท่านั้น
ประเพณีการให้ความสำคัญต่อ เก้าอี้ หรือ บัลลังก์นี้ ได้สืบทอดต่อมาจนกระทั่งเข้ามาสู่ยุโรป ตั้งแต่ยุคกลางเป็นต้นมา คริสตจักร กำหนดให้ “พระ” ในตำแหน่งบิชอป(BISHOP) ต้องมีที่นั่งประจำตัว ซึ่งเรียกว่า คาธีดรา (CATHEDRA)
จนกลายมาเป็นคำที่ใช้เรียก วิหาร ว่า คาธีดรัล (CATHEDRAL) ซึ่งมีความหมายว่า โบสถ์ทางศาสนาคริสต์ที่มีพระในตำแหน่งบิชอปประทับอยู่
บัลลังก์ของเทพเจ้าของอียิปต์โบราณ จะเป็นทรงสี่เหลี่ยมเหมือนกล่อง เช่น บัลลังก์ของเทพโอซิริส ผู้เป็นเทพแห่งโลกหน้าของอียิปต์
ด้านข้างของกล่อง จะเขียนภาพเป็นรูปสี่เหลี่ยม เป็นนัยยะหมายถึง วิหาร ซึ่งเป็นสถานที่สถิตของเทพเจ้า และ มุมล่างขวาจะมีกรอบสี่เหลี่ยมเล็ก ที่แสดงภาพของต้นดอกบัว และ ต้นปาปิรัส ผูกมัดกันอยู่ เป็นสัญลักษณ์ของการรวมชาติของอียิปต์โบราณ
ทำไมจึงต้องเป็นต้นดอกบัว และ ต้นปาปิรัส สัปดาห์หน้าผมจะเฉลยครับ
สำหรับท่านที่ต้องการจะร่วมเดือนเดินเจาะลึกอียิปต์แบบสบายๆ โดยผู้มีประสบการณ์ในการทำทัวร์อียิปต์มากว่า 30 ปี และผมจะเป็นผู้บรรยายชม ติดต่อได้ที่ 02 651 6900 หรือ 088 578 6666 หรือ Line ID 14092498 เรามีทัวร์อียิปต์ออกทุกเดือนครับ
หรือหากสนใจจะอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ย้อนหลังกลับไป 5 ปี ทุกตอน สามารถไปอ่านได้ใน บล็อก “ซอกซอนตะลอนไป” ในเว็บไซต์ของ www.whiteelephanttravel.co.th
สัปดาห์หน้า ผมจะเอาเรื่องรายละเอียดของบัลลังก์ของอียิปต์โบราณมาเล่าให้ฟังครับ