ครบเครื่องเรื่องเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของฟาโรห์(ตอน 1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (26 พฤษภาคม 2562)

ครบเครื่องเรื่องเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของฟาโรห์(ตอน 1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               สองสัปดาห์ก่อน  เมื่อผมเขียนเรื่องพิธีพืชมงคลของอียิปต์โบราณ มาสู่เครื่องราชกกกุธภัณฑ์ของฟาโรห์   มีผู้อ่านสนใจค่อนข้างมาก   สัปดาห์นี้  ก็จึงขอนำเรื่องราวของ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ของฟาโรห์ มาเล่าต่อครับ

               ตามความหมาย  เครื่องราชกกุธภัณฑ์ แปลว่า  เครื่องใช้ของกษัตริย์  หรือ  เครื่องใช้ที่แสดงความเป็นกษัตริย์ 

               ชุมชนของอียิปต์โบราณจะเกาะกลุ่มอาศัยอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำไนล์ ที่ไหลจากทางทิศใต้ขึ้นไปสู่ทิศเหนือ ไปจบลงในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน   จึงกล่าวได้ว่า  อารยธรรมของอียิปต์โบราณล้วนเกิดขึ้นตามริมฝั่งแม่น้ำไนล์ทั้งสิ้น   เพราะถัดจากแนวของแม่น้ำเข้าไปในแผ่นดินเพียงไม่เกิน 10 กิโลเมตร  ก็จะเป็นทะเลทรายที่แห้งแล้งที่สุด


(แผนที่การไหลของแม่น้ำไนล์จากใต้สู่เหนือ)

               ชุมชน  หมู่บ้าน และเมือง ขึ้นเกิดขึ้นตามริมฝั่งแม่น้ำไปตลอดแนว

               นานวันเข้า   เมืองใดก็ตามที่เข้มแข็ง  ก็จะทำสงคราม เพื่อยึดครองเมืองที่อ่อนแอกว่า   จนในที่สุด  ผู้ปกครองคนหนึ่งคือ เมเนส(MENES) หรือ นาร์เมอร์(NARMER) ก็สามารถทำสงครามได้ชัยชนะเหนือเมืองต่างๆทั้งหมด  และ รวบรวมเมืองต่างๆของอียิปต์ให้มาอยู่ภายใต้การปกครองของผู้ปกครองเพียงคนเดียว

               มีจารึกเรื่องราวของ นาร์เมอร์ ผู้รวมแผ่นดินอียิปต์เอาไว้ได้ทั้งหมด บนแผ่นหินเนื้ออ่อนแบบที่ใช้ทำกระดานชนวน(SILTSTONE)  สูงประมาณ 2 ฟุต  อายุประมาณ 5100 ปี  ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิทภัณฑ์แห่งชาติไคโร


(แผ่นจารึกของ นาร์เมอร์)

               ภาพจารึกด้านหน้า ซึ่งก็คือภาพซ้ายมือ  มีรูปของฟาโรห์สวมมงกุฎสีขาว(WHITE CROWN) ของ อียิปต์บน(UPPER EGYPT)  หรือ ดินแดนภาคใต้ของอียิปต์   มุงกุฎดังกล่าวมีลักษณะเหมือนพินโบว์ลิง  

               มือซ้ายของฟาโรห์ กำลังจับผมของเชลยศึกที่กำลังคุกเข่าอยู่กับพื้น  มือขวายกขึ้นสูง ในมือมีไม้ตะบองเตรียมที่จะฟาดลงไปที่เชลยศึกคนนั้น


(มงกุฎขาว ของ อียิปต์บน)

               แม้ว่าฟาโรห์ จะไม่ได้สวมรองเท้า  แต่ก็มีเจ้าพนักงานคนหนึ่งถือรองเท้าแตะ และ คนโทน้ำล้างเท้าเดินตามหลังมาด้วย  แสดงว่า  โดยปกติ  ฟาโรห์จะสวมรองเท้าแตะ ซึ่งเราสามารถเห็นได้ในพิพิทภัณฑ์ไคโรได้ว่า  อียิปต์คิดค้นรองเท้าแตะมานานหลายพันปีแล้ว

               ส่วนแผ่นจารึกด้านหลัง ซึ่งก็คือ แผ่นจารึกด้านขวา  จะเห็นว่า  ฟาโรห์กำลังเดินอยู่ในขบวนพิธี (แถวบนสุด ที่สองจากซ้ายมือ)  บนศรีษะจะสวมงกุฎสีแดง(RED CROWN) ของ อียิปต์ต่ำ(LOWER EGYPT)  หรือ ภาคเหนือของอียิปต์  มีลักษณะเหมือนเก้าอี้ที่มีพนักพิงหลัง  


(มงกุฎแดง ของ อียิปต์ต่ำ)

               มือขวาของฟาโรห์ จะถือไม้ตะบอง  ในขณะที่มือซ้ายจะถือแส้(FLAIL) ที่ใช้ในการหวดรวงข้าว  อันเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์อย่างหนึ่งของฟาโรห์  ตามที่ผมได้เขียนไปในบทความตอนที่แล้ว 

               เมื่อนาร์เมอร์ รวบรวมแผ่นดินอียิปต์ได้เป็นหนึ่งเดียว   ก็สถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์แห่ง อียิปต์บน และ อียิปต์ล่าง   จากนั้นก็นำมงกุฎทั้งสอง ของอียิปต์บน และ อียิปต์ต่ำ มาสวมซ้อนกัน  เรียกว่า  มุงกุฎสองชั้น(DOUBLE CROWN)  เป็นการประกาศความเป็นผู้ปกครองเหนือแผ่นดินอียิปต์แต่เพียงผู้เดียว   

               ดังนั้น  จึงถือว่า  มงกุฎขาว และ มงกุฎแดง เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์อย่างหนึ่งของฟาโรห์  และรวมถึง ไม้ตะบองที่ฟาโรห์ถือด้วย  ซึ่งผมจะได้พูดถึงในตอนต่อไป

               ก่อนจะจบบทความนี้  ขอทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องทิศของอียิปต์โบราณสักเล็กน้อย  ไม่เช่นนั้นผู้อ่านอาจจะงงได้

               อียิปต์โบราณรู้ว่า  ภาคใต้ของอียิปต์เป็นพื้นที่สูงกว่าภาคเหนือของอียิปต์  เนื่องเพราะแม่น้ำไนล์ไหลจากทิศใต้ไปทางทิศเหนือ   อียิปต์โบราณจึงเรียกภาคใต้ของอียิปต์ว่า อียิปต์บน(UPPER EGYPT)   ในขณะที่เรียกอียิปต์ภาคเหนือว่า  อียิปต์ต่ำ(LOWER EGYPT)  

               ซึ่งน่าแปลกใจมากว่า   เป็นวิธีเดียวกันการเรียกทิศแบบเดียวกับชาวจีนโบราณเหมือนกัน

               ดังนั้น  ทิศเหนือจึงเป็นอียิปต์ต่ำ  ในขณะที่ทิศใต้จะเป็นอียิปต์บน 

               งงหน่อยนะครับ

               สำหรับท่านที่สนใจจะเดินทางท่องเที่ยวแบบเจาะลึกอียิปต์ กับผม ซึ่งมีทัวร์ออกเดินทางทุกเดือน  สามารถติดต่อได้ที่ 02 651 6900 หรือ  088 578 6666 หรือ LINE ID 14092498

               ท่านสามารถอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ย้อนหลังไป 5 ปีได้ที่ บล็อก ซอกซอนตะลอนไป ของ www.whiteelephanttravel.co.th  ครับ

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .