ซอกซอนตะลอนไป (19 พฤษภาคม 2562)
จากพิธีพืชมงคลของอียิปต์มาสู่เครื่องราชกกุธภัณฑ์
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
อียิปต์โบราณเป็นสังคมพื้นฐานแบบเกษตรกรรม และ กสิกรรม ความเป็นอยู่ที่ดี หรือ ร้าย ของประชาชนย่อมขึ้นอยู่กับผลผลิตทางด้านการเกษตร และ กสิกรรม ในปีนั้นๆเป็นหลัก
ฟาโรห์ หรือ กษัตริย์ ผู้นำทั้งทางด้านการเมือง และ ผู้นำทางด้านจิตวิญญาณของชาวอียิปต์ จึงจำต้องแสดงบทบาทของการให้กำลังใจ และ กระตุ้นให้ประชาชนสร้างผลผลิตให้มากที่สุด
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบเศรษฐกิจของอียิปต์ในยุคฟาโรห์ เป็นระบบเศรษฐกิจแบบพระราชวัง (PALACE ECONOMY)
คือ พระราชาจะทำการเก็บภาษีจากประชาชน เป็นผลผลิตทางด้านการเกษตร และ กสิกรรม เข้าสู่ยุ้งฉางของพระราชวัง เมื่อถึงคราวประเทศเกิดยุคเข็ญ หรือประสบกับทุกภิขภัย แห้งแล้งหนักหน่วง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ประชาชนอดอยากยากแค้น ฟาโรห์ก็จะสั่งให้ข้าราชการเอาอาหารที่เก็บในยุ้งฉางมาแจกจ่าย หรือ ขายให้แก่ประชาชน
ดังเช่นที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์ไบเบิล ฉบับพันธะสัญญาเก่า หรือ คัมภีร์ของชาวยิว ว่า หลังจากที่โยเซฟ ได้ทำนายฝันให้ฟาโรห์ ว่า ที่ทรงฝันเห็น “โคซูบผอมและน่าเกลียดมากเจ็ดตัวที่ขึ้นจากแม่น้ำไนล์มากินโคที่อ้วนพีงามน่าดูเจ็ดตัว….” .นั้น แปลความได้ว่า
แผ่นดินอียิปต์จะมีอาหารอุดมสมบูรณ์ทั่วประเทศถึงเจ็ดปี หลังจากนั้นก็จะเกิดการกันดารอาหารอีกเจ็ดปี
โจเซฟ จึงแนะนำฟาโรห์ให้
“จัดพนักงานไว้ทั่วแผ่นดิน และเก็บผลหนึ่งในห้าส่วนแห่งอียิปต์ไว้ตลอดเจ็ดปีที่อุดมสมบูรณ์นั้น” จนเมื่อเจ็ดปีแห่งความอุดมสมบูรณ์ผ่านไป เจ็ดปีแห่งความอดอยากก็มาถึง
พระคัมภีร์บันทึกว่า
“การกันดารแผ่ไปทั่วแผ่นดิน โยเซฟก็เปิดฉางออกขายข้าวชาวอียิปต์…….ยิ่งกว่านั้น ทั่วโลกก็มายังประเทศอียิปต์หาโยเซฟเพื่อซื้อข้าว เพราะการกันดารอาหารร้ายแรงทั่วโลก”
นี่คือหลักการสำคัญของระบบเศรษฐกิจแบบพระราชวัง
ด้วยเหตุนี้ จึงมีภาพบันทึกบนผนังในสุสานถึงพิธีกรรมอย่างหนึ่งของฟาโรห์ ที่เรียกว่า พิธีนับวัวนับควาย โดยเจ้าหน้าที่ของฟาโรห์จะออกไปตระเวนนับวัวนับควาย ซึ่งอาจจะรวมทั้งหมูเห็ดเป็ดไก่ แพะแกะด้วย ตามบ้านเรือนของชาวบ้าน
เพื่อเป็นข้อมูลว่า ปีนี้มีผลผลิตของชาวบ้านเพิ่มขึ้นมากน้อยเท่าใด และ ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นนี้ จะต้องนำไปเป็นพื้นฐานในการคิดคำนวณการเสียภาษีให้กับฟาโรห์ด้วย
นอกเหนือจากเรื่อง วัดระดับแม่น้ำไนล์ ที่ฟาโรห์ก็จะนำเอามาเป็นข้อมูลในการเก็บภาษีจากประชาชนด้วย ซึ่งผมจะพูดถึงในตอนหลัง
และประเพณีนับวัวนับควายนี่เอง ที่สันนิษฐานว่า อาจจะเป็นข้อมูลที่สร้างความผิดพลาดในการระบุชื่อฟาโรห์ที่ปกครองในช่วงเวลานั้นๆได้เหมือนกัน ซึ่งผมจะเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไปครับ
ต่อมาภายหลัง ระบบเศรษฐกิจแบบพระราชวัง ค่อยๆเสื่อมประสิทธิภาพลง และเลิกใช้ไปในที่สุด
กระนั้น พื้นฐานระบบเศรษฐกิจของอียิปต์ยุคฟาโรห์ก็ยังเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเกษตรกรรม และ กสิกรรมไปตลอดจนสิ้นระบบการปกครองแบบฟาโรห์
เครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งในการควบคุมเลี้ยงสัตว์ในยุคนั้นก็คือ ไม้เท้าที่มีตะขอ(CROOK) ขนาดใหญ่อยู่ที่ปลายด้านหนึ่ง เข้าใจว่า คนเลี้ยงอาจจะใช้ในการช่วยพยุงเดินเหมือนไม้เท้า และ ใช้ตะขอในการเกี่ยวคอสัตว์เลี้ยงไม่ให้เดินไปทางอื่น
เครื่องมืออีกชนิดหนึ่ง ซึ่งคล้ายๆกับกระบองสองท่อนของบรู๊ซ ลี มีด้ามจับซึ่งคล้องด้วยโซ่ติดกับปลายอีกด้านที่มีท่อนไม้หรือโลหะหลายท่อน ผมจะเรียกว่าแส้ (FRAIL) ครับ
เครื่องมือดังกล่าว มีไว้สำหรับใช้ฟาดรวงข้าวเพื่อให้เมล็ดข้าวหลุดออกมาจากรวง ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวนี้ มีใช้อยู่ทั่วไป แม้กระทั่งในยุโรป
ด้วยเหตุนี้ อียิปต์โบราณ จึงเลือกเอา ตะขอ และ แส้ มาเป็นสัญลักษณ์ และ เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ที่ใช้สำแดงความเป็นกษัตริย์ หรือ ฟาโรห์ เพื่อยืนยันความเป็นชาติเกษตรและกสิกรรม
โดยฟาโรห์จะถือ ตะขอ เอาไว้ในมือข้างหนึ่ง และ ในมืออีกข้างหนึ่งก็จะถือ แส้ โดยมือทั้งสองจะวางไขว้ทับกันในลักษณะของเทพโอไซริส(OSIRIS)
สำหรับท่านที่สนใจจะเดินทางท่องเที่ยวเจาะลึกอียิปต์ กับ ผม สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร 026516900 หรือ 088 578 6666 หรือ Line ID 14092498 หรือหากสนใจจะซื้อหนังสือ “ท่องโลกศิลปวัฒนธรรมกับ เสรษฐวิทย์” เล่ม 2 “อียิปต์- กรีซ – ตุรี” ก็สามารถสั่งซื้อได้เช่นกัน
พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้านะครับ