ย้อนเวลา 4 พันปี อียิปต์โบราณ ที่ซัคคารา(ตอน 3)

ซอกซอนตะลอนไป                           (9 กันยายน 2561 )

ย้อนเวลา 4 พันปี อียิปต์โบราณ ที่ซัคคารา(ตอน 3)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ห้องสุดท้ายในมัสตาบา ที่มีความสำคัญมากสำหรับผู้ตายซึ่งเป็นเจ้าของสุสานก็คือ  ห้องที่ใช้ในการบูชา  สักการะ  และ ถวายสิ่งของให้แก่ผู้ตาย 

               จุดเด่นในห้องนี้ก็คือ  ผนังปลายสุดของห้องจะมีรูปสลักที่มองดูก็รู้ว่า  เป็นรูปประตู  เพียงแต่เป็นประตูปลอม  เพราะไม่สามารถใช้งานขยับเปิดปิดได้

               เมื่อใช้งานไม่ได้   แล้วทำเอาไว้ทำไม ?


(ผู้เขียนในห้องสุดท้าย ที่มีประตูปลอมอยู่ด้านหลัง)

               ก่อนอื่น   ผมขอเล่าพื้นฐานความคิดของชาวอียิปต์โบราณเกี่ยวกับเรื่องชีวิต และ  ความตายเสียก่อน 

               ชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่า  ชีวิตมนุษย์มิได้สิ้นสุดเมื่อหมดลมหายใจ   หากแต่ยังมีอีกชีวิตหนึ่งรออยู่ข้างหน้า  หรือในโลกหน้า ซึ่งผมไม่อยากเรียกว่า “นรกภูมิ”  เพราะมันยังไม่ถึง  “นรก”   แต่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า  UNDERWORLD  

               โลกหน้านี้ จะมีเทพโอไซริส(OSIRIS) เป็นประมุขคอยควบคุมดูแล


(เทพโอไซริส(นั่ง)  ในสุสาน หุบผากษัตริย์)

               ชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่า  หากตอนที่ยังมีชีวิตอยู่  มนุษย์ผู้นั้นทำแต่ความดี  สุดท้ายเมื่อตายไป  ชีวิตในโลกหน้าของเขาก็จะได้ไปอยู่กับเทพโอไซริส     ดังนั้น  ผู้ตายจึงจำต้องรักษาร่างกายของเขาเอาไว้  เพื่อเอาไปใช้ในโลกหน้า  

               ชาวอียิปต์โบราณจึงต้องรักษาศพของผู้ตายให้อยู่ในรูปของมัมมี่  เพื่อให้วิญญาณของผู้ตายนำไปใช้เป็นที่สิงสถิตหรือที่พักของวิญญาณในโลกหน้า     หากปราศจากมัมมี่ที่ใช้เป็นที่สิงสถิตแล้ว  วิญญาณก็ไม่อาจจะคงอยู่ได้

               นี่เป็นเหตุผลที่เขาไม่ฝังศพลงไปในดิน  เพราะศพจะเน่าเปื่อยและย่อยสลายไปกับดิน    แต่เขาจะทำกรรมวิธีต่างๆให้ศพสามารถคงอยู่ได้  ซึ่งเรียกว่า  มัมมี่   ก่อนที่จะใส่มัมมี่ ลงไปในโลงศพเพื่อรักษาสภาพตัวมัมมี่เอาไว้

               ชาวอียิปต์โบราณยังได้จำแนกวิญญาณของมนุษย์ออกเป็น 2 ประเภท คือ  คา (KA) และ  บา(BA)  


(สัญลักษณ์ของ  คา)

               คา ก็คือ วิญญาณประเภทที่ไม่สามารถล่องลอยไปไหนมาไหนได้  แต่จะสถิตอยู่กับมัมมี่ไปตลอด  จะมีสัญลักษณ์เป็นรูปแขนสองข้างชูขึ้น  


(บา ซึ่งทำเป็นลักษณะเครื่องราง  มาจากยุคปโตเลมี – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ส่วน  บา จะเป็นวิญญาณประเภทที่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ด้วยตัวเอง  จึงมีรูปลักษณ์เป็นนก  แต่มีศรีษะเป็นใบหน้าของผู้ตาย  เพื่อเป็นการยืนยันว่า  เป็นวิญญาณของใคร   

               วิญญาณทั้งสองแบบนี้   จำเป็นจะต้องได้อาหารมาหล่อเลี้ยงชีวิต  เหมือนกับมนุษย์  อย่างไรอย่างนั้นทีเดียว

               ด้านหลังของประตูปลอม และ ลึกลงไปใต้ดินเป็นช่องที่ขุดลงไปเป็นปล่อง  ปล่องนี้จะไปสิ้นสุดที่ห้องเก็บศพของผู้ตาย  ที่ซึ่งมัมมี่ของผู้ตายจะอยู่ที่นั่นตราบนิรันดร์

               เนื่องจาก “บา” มีปีก  จึงสามารถโบยบินไปหาอาหารได้ด้วยตัวเอง   ชาวอียิปต์โบราณคงจะเป็นห่วงว่า  หากไม่มีประตู  “บา” ก็คงจะไม่รู้ว่า จะบินออกไปจากสุสานทางไหน  จึงเป็นที่มาของการทำประตูปลอม

               เห็นมั้ยครับว่า   ชาวอียิปต์โบราณน่ารักขนาดไหน    


(ภาพบรรดาคนใช้ของเอาเครื่องเซ่นต่างๆเข้ามาในสุสาน)

               จากภาพแกะสลักบนผนังในห้องนี้  นักโบราณคดีสันนิษฐานกันว่า   เป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึงกิจกรรมต่างๆในวันที่ทำพิธีฝังศพในมัสตาบาแห่งนี้ 

               มีทั้งภาพของคนใช้ที่ขนเอาสัตว์นานาชนิด  ไม่ว่าจะเป็นแพะ แกะ เป็ดไก่ เข้ามาในสุสาน   และยังมีภาพการขนภาชนะใส่ของเหลว ซึ่งอาจจะเป็น ไวน์ เบียร์  น้ำมัน  หรือ น้ำก็ได้ เข้ามา 


(บรรดาคนใช้ลากภาชนาใส่ของเหลวมาตามทาง)

               รวมถึงการขนเอาหีบไม้ หรือ กล่องใส่สิ่งของเครื่องใช้ของผู้ตาย  ตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่  นำมาฝังในสุสานมัสตาบาด้วย

               ทำไมจึงต้องนำสิ่งของต่างๆมากมายเหล่านี้มีฝังอยู่ในมัสตาบา    และ  คำถามที่ว่า  ชาวอียิปต์โบราณเขาฝังบรรดาคนรับใช้ทั้งเป็นภายในสุสานด้วยหรือไม่   สัปดาห์หน้ามาหาคำตอบกันครับ

               ท่านที่สนใจจะเดินทางเจาะลึกอียิปต์กับผมในครั้งต่อไปคือระหว่างวันที่  11 ถึง 20  ตุลาคม นี้  สามารถติดต่อสอบถาม และ สำรองที่นั่งได้ที่  02 651 6900 หรือ  088 578 6666 หรือ ID Line 14092498

               ผมจะเป็นผู้บรรยายชมเองครับ 

               สำหรับท่านที่ต้องการจะอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ตอนเก่าๆ เมื่อ 4 – 5 ปีที่แล้ว  สามารถเข้าไปหาอ่านได้ที่ BLOG  ซอกซอนตะลอนไป  ที่เว็บไซต์   www.whiteelephanttravel.co.th 

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *