ย้อนเวลา 4 พันปี อียิปต์โบราณ ที่ซัคคารา(ตอน 2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (2 กันยายน 2561 )

ย้อนเวลา 4 พันปี อียิปต์โบราณ ที่ซัคคารา(ตอน 2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               เนื่องจากคาเกมนิ เป็นข้าราชการระดับสูงของฟาโรห์  จึงมีกิจกรรมต่างๆมากมายในช่วงที่มีชีวิตอยู่   และแม้กระทั่งหลังจากที่เขาได้ตายไปแล้วก็ตาม

               เหตุการณ์ทั้งหมดถูกจารึกเอาไว้บนผนังหินปูนภายในมัสตาบา ที่ฝังศพของเขา 

               เมื่อพิจารณาภาพแกะสลักบนผนังในสุสาน  ในวิหาร  และที่อื่นๆ  ทำให้เราได้ทราบว่า  ศิลปินในยุคอียิปต์โบราณก็มีหลักการ  หรือ อาจจะเรียกว่า  มีไวยากรณ์ในการเล่าเรื่องต่างๆของตัวเองเช่นกัน


(ภาพของ คาเกมนิ ซึ่งเป็นประธานในรูปภาพต่างๆ และเป็นเจ้าของสุสานแห่งนี้  จะมีขนาดใหญ่กว่าคนอื่นๆ)

               อย่างเช่น  ภาพของเจ้าของสุสานในกรณีนี้ก็คือ  คาเกมนิ จะใหญ่กว่าเพื่อน  ใหญ่กว่ารูปสลักใดๆในสุสานของเขาทั้งหมด  ไม่ว่าจะเปรียบเทียบกับ มเหสีของเขา หรือ  ลูกๆของเขาก็ตาม   ซึ่งเป็นเรื่องที่มีเหตุผลและเข้าใจได้ไม่ยาก   

               เมื่อเดินผ่านเข้ามาในห้องที่สองของมัสตาบา ของ คาเกมนิ  ก็จะเห็นรูปสลักที่น่าสนใจอยู่กลุ่มหนึ่ง  เป็นรูปของคนที่ยืนด้วยเท้าข้างขวาข้างเดียว  เอนตัวไปข้างหลัง  และยกขาอีกข้างหนึ่งขึ้นมา   ลักษณะเหมือนคนเล่นกายกรรม


(ภาพของคนหลายคนในอากัปกิริยาที่แปลกๆ  ว่าแต่ว่า  พวกเขากำลังทำอะไรกัน)

               หากดูภาพนี้เดี่ยวๆ  ส่วนใหญ่ก็มักจะเข้าใจว่า   เขากำลังเล่นกายกรรมอยู่

               แต่เมื่อประกอบเข้ากับรูปของคนที่ยืนอยู่ด้านซ้ายซึ่งกำลังใช้มือทั้งสองข้างประกบกัน  ซึ่งสามารถตีความได้หลายอย่าง  แต่นักโบราณคดีตีความว่า   เขากำลังตบมือให้จังหวะอยู่

               ก็แสดงว่า  คนกลุ่มนี้ที่กำลังแสดงท่าเหมือนเล่นกายกรรมนั้น  แท้ที่จริงแล้วเขากำลังเต้นรำเข้าจังหวะอยู่นั่นเอง 


(เมื่อภาพของคนที่อยู่ในอากัปกิริยาแปลกๆ  มารวมกับคนที่กำลังประกบมือเข้าด้วยกัน  ก็สามารถทำให้ตีความได้ว่า  พวกเขากำลังทำอะไร)

               ภาพสลักบนผนังเหล่านี้  ยังเป็นเสมือนบันทึกทางประวัติศาสตร์   เช่น  ภาพเรือที่ใช้ในการจับปลา  เห็นได้ชัดว่าเป็นการเอาต้นปาปิรัส มาผูกกันให้แน่นๆเป็นเรือ


(เรือที่ทำด้วยต้นปาปิรัสแห้ง มาผูกมัดให้เป็นลำเรือใช้ในการเดินทาง  นอกเหนือจากเรือที่ทำด้วยไม้)

               หากไม่มีภาพแกะสลักนี้   ก็ยากที่คนในยุคปัจจุบันจะคาดเดาได้ว่า   ชาวอียิปต์โบราณเมื่อ 4 พันปีที่แล้ว  ใช้ต้นปาปิรัส มาทำเป็นเรือล่องแม่น้ำได้ 

               ถัดไปอีกนิดหนึ่งก็คือ ภาพชุดซึ่งเรียกว่า  ประเพณีการนับวัว 


(พิธีนับวัว  ซึ่งมักจะทำกันทุกๆ 2 ปี หรือ บางครั้งก็ในทุกๆปี  คนที่กำลังถือกระดาษคือ อาลักษณ์ ที่คอยทำหน้าที่บันทึกให้แก่ คาเกมนิ ผู้เป็นหัวหน้าในการนับวัว)

               อียิปต์โบราณ  ใช้ระบบเศรษฐกิจที่เรียกว่า เศรษฐศาสตร์พระราชวัง  หมายความว่า  พระราชาจะเก็บภาษีโดยตรงเข้ามาแล้วเก็บเอาไว้ในท้องพระคลัง  เมื่อบ้านเมืองถึงคราวอดอยาก  พระราชาก็จะให้เปิดพระคลังเอาอาหารมาแจกจ่ายให้กับประชาชน   

               ภาษีที่เก็บนั้น   นอกเหนือจากเงินทองแล้ว  ก็ยังมีพวกพืชพันธุ์ธัญญาหาร  หมูเห็ดเป็ดไก่ อีกด้วย

               ด้วยเหตุนี้  จึงต้องมีระบบการสำรวจทรัพย์สินของประชาชนกันทุกๆ 2 ปีครั้ง  แต่ก็ได้เปลี่ยนแปลงมาเป็น ปีละหนในช่วงหลัง    ทั้งนี้เพื่อจะทราบข้อมูลว่า  ประชาชนมีทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้นเท่าใด  และ ควรจะเสียภาษีเท่าใด

               ทรัพย์สินหลักๆของชาวประชาในยุคนั้น  นอกจากจะเป็นพวกพืชพันธุ์ธัญญาหารแล้ว   ก็ยังเป็นพวกวัวควายแพะแกะ    ฟาโรห์จึงจำต้องส่งข้าราชการออกไปทำการนับวัวควายนี้ตามบ้านเรือนที่อยู่อาศัยของประชาชน

               หลังจากนับแล้ว  ก็จะทราบว่า   ชาวบ้านแต่ละคนมีปศุสัตว์เพิ่มขึ้นกี่ตัว  และควรจะเก็บภาษีเข้ารัฐในอัตราเท่าไหร่


(คนที่หลบเลี่ยงภาษี  จะถูกลงโทษตามที่เห็นในภาพ)

               แต่สำหรับคนที่หลบเลี่ยงภาษี  หรือ แจ้งเท็จต่อเจ้าพนักงาน  ก็จะถูกทำโทษเฆี่ยนตีด้วย

               ภาพของการนับวัวที่ปรากฏในมัสตาบาของ คาเกมนิ ก็แสดงว่า   คาเกมนิ น่าจะเป็นเจ้าหน้าที่คนหนึ่งของฟาโรห์ที่ทำหน้าที่ออกไปสำรวจ หรือ  นับวัว  และเก็บภาษีด้วย 

               สำหรับท่านที่สนใจจะเดินทางเจาะลึกอียิปต์กับผม และได้เข้าไปชมมัสตาบาของ คาเกมนิ ของจริง   ในช่วงฤดูหนาวซึ่งจะมีทัวร์ออกทุกเดือน  สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่  02 651 6900  หรือ  088 578 6666 หรือ  ID Line  14092498 ครับ

               สัปดาห์หน้า   ผมจะพาเข้าไปชมห้องที่เข้าถึงทางเข้าห้องเก็บศพของ คาเกมนิครับ 

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *