อิงเกิลนุค ไวน์เนอร์รี่ ดื่มไวน์ ดื่มตำนาน(ตอน4)

ซอกซอนตะลอนไป                           (22 กรกฎาคม 2561 )

อิงเกิลนุค ไวน์เนอร์รี่ ดื่มไวน์ ดื่มตำนาน(ตอน4)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า ไม่รู้เลยว่า  วันที่เขาสนทนากับ โรเบิร์ต มอนดาวี นั้น เป็นวันที่ชีวิตของเขาจะเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

               หลังจากวันนั้น  คอปโปล่าก็หันมาผลิตไวน์เพื่อการพาณิชย์  ไม่ใช่เพื่อเอาไว้ดื่มเองตามความตั้งใจตั้งแต่แรกในวันที่ซื้อที่ดินราคา 2.2 ล้านเหรียญดอลลาร์ต่อที่ดิน 1500  เอเคอร์ หรือ ประมาณ 3,795 ไร่  โดยในจำนวนนี้ มี 110 เอเคอร์ หรือ ประมาณ 278 ไร่เศษเป็นพื้นที่ไร่ไวน์ที่ใช้ในการปลูกองุ่นเพื่อผลิตไวน์ยี่ห้อ อิงเกิลนุค มาก่อนในอดีต

               ไร่องุ่น 110 เอเคอร์นั้น  อยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า รุธเธอร์ฟอร์ด(RUTHERFORD) 

               รุธเธอร์ฟอร์ด เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์เหมาะสมกับการปลูกองุ่นมากที่สุดในเขตนาป้า วัลเลย์  ในเขตรุธเธอร์ฟอร์ดมีไร่ไวน์อยู่ 4 ไวน์เนอร์รี่ คือ  โบลิว วินยาร์ด(BEAULIEU VINEYARD)  , กริช ฮิลล์ เอสเตต(GRGICH HILLS ESTATE) , เอลิซาเบธ สเปนเซอร์(ELIZABETH SPENCER) และ  อิงเกิลนุค ไวน์เนอร์รี่ เท่านั้น 


(ชาโตว์ โบราณที่กัปตันนีโบมได้สร้างเอาไว้)

               แม้แต่ไร่ไวน์ของ โรเบิร์ต มอนดาวี เอง ก็ยังอยู่นอกเขตรุธเธอร์ฟอร์ด ด้วยซ้ำ

               ว่ากันว่า  ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า ขนสมาชิกทั้งหมดในครอบครัว  คือ  ภรรยา  และ ลูกๆ   รวมถึงบิดาของเขาด้วย  ลงเหยียบพื้นไร่องุ่นเพื่อปรับพื้นที่  แผ้วถางหญ้า และ วัชพืชต่างๆด้วยมือของตัวเอง

               ผลผลิตจากองุ่นในวินเทจแรกที่เก็บเกี่ยวได้ของ คอปโปล่า ก็คือ วินเทจของปี 1977   

               ตรายี่ห้อของไวน์ที่ผลิตได้ในปี 1977 นี้  ประทับชื่อว่า “นีโบม-คอปโปล่า” (NIEBAUM-COPPOLA)  ด้วยการอ้างอิงชื่อของ  กัปตัน กุสตาฟ นีโบม ไว้สักหน่อย   คาดว่า  คอปโปล่า  เองก็คงไม่มั่นใจนักว่า   หากใช้ชื่อ “คอปโปล่า” โดดๆแล้ว  ในเชิงการตลาดจะไปรอดหรือไม่

               ไวน์ยี่ห้อ “นีโบม-คอปโปล่า” ปี 1977   คงไม่เหลืออยู่ในท้องตลาดแล้ว   แต่หากใครยังมีเหลืออยู่ในครอบครอง    คาดว่าราคาน่าจะแพงมากทีเดียว   เพราะเป็นไวน์ของปีประวัติศาสตร์ของ คอปโปล่า   

               ทำไม   คอปโปล่า จึงไม่ใช้ชื่อไวน์ว่า  อิงเกิลนุค


(แผนที่ของไร่อิงเกิลนุค)

               จากแผนที่ของไร่ไวน์ อิงเกิลนุค  จะเห็นว่า  แนวล่างสุดขวามือที่มีเส้นแนวสีแดงขีดอยู่   ก็คือแนวของถนนไฮเวย์สาย 29   ที่ดินส่วนใหญ่ที่คอปโปล่าซื้อเอาไว้  ก็คือที่ดินที่อยู่ด้านบนสุดของแผนที่  ที่มีวิลล่าของกัปตันนีโบมอยู่ด้วย 

               และพื้นที่ไร่องุ่นของอิงเกิลนุค อีก 110 เอเคอร์ที่ถัดลงมาเล็กน้อย  

               ตอนที่ ฟรานซิส คอปโปล่า ซื้อที่ดินผืนนี้  เขาคิดแต่เพียงว่าต้องการจะได้บ้านสบายๆสักหลังไว้พักอาศัย และมีพื้นที่อีกส่วนหนึ่งไว้ปลูกองุ่นทำไวน์ไว้ดื่มเอง   เขาไม่เคยคิดถึงไวน์ในแง่ธุรกิจเลย


(ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า กับ เอลีนอร์ ภรรยา ที่วิลล่าในไร่รุธเธอร์ฟอร์ด)

               เขาจึงซื้อเพียงที่ดินผืนหนึ่ง  ไร่องุ่นอีกเล็กน้อย  และ  วิลล่าหลังหนึ่งเท่านั้น  ที่ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นบ้านพักถาวรของเขาที่ใช้ทำงานภายนตร์   แม้กระทั่งห้องอัดเสียงภาพยนตร์ระบบดิจิตอลบนชั้นสอง

               เขาจึงไม่มีสิทธิ์ที่จะใช้ตรายี่ห้อ “อิงเกิลนุค” แม้ว่า   ไวน์ที่เขาผลิตนั้นจะมาจากไร่รุธเธอร์ฟอร์ด ที่เคยปลูกองุ่นให้แก่ อิงเกิลนุค ไวน์เนอร์รี่ ก็ตาม 

               เพราะลิขสิทธิ์ชื่อของ  “อิงเกิลนุค” ยังเป็นของ ฮิวเบลอิน อยู่


(เกียรติยศ และ ศักดิศรีของไวน์อิงเกิลนุคที่ได้รับรางวัลต่างๆจากทั่วโลก  เป็นเครื่องหมายการันตีความเยี่ยมยอดของไวน์จากไร่นี้)

               ดังนั้น   ชื่อที่เขาจะสามารถใช้ได้ก็คือ กัปตันนีโบม  ตำนานแห่งวงการไวน์อเมริกาในอดีต   และ ความยิ่งใหญ่ของชื่อ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า ตำนานแห่งวงการภาพยนตร์เจ้าของรางวัลตุ๊กตาทองภาพยนตร์ยอดเยี่ยม , ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม , และ นักแสดงนำยอดเยี่ยม และรางวัลอื่นๆอีกมากมายจากหลายสถาบัน  จากภาพยนตร์เรื่อง THE GODFATHER  ในปีค.ศ. 1973


(ไวน์รุ่น FRANCIS COPPOLA DIRECTOR’S ซึ่งดูเหมือนว่าจะเริ่มผลิตตั้งแต่ปี ค.ศ. 1014  ปัจจุบันราคาขายในอเมริกาประมาณ 20 เหรียญ)

               แล้วทำไม  จึงมีไวน์ อิงเกิลนุค ในวันนี้

               สัปดาห์ผมจะมาปิดท้ายเรื่อง อิงเกิลนุค ไวน์เนอร์รี่ ครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *