อิงเกิลนุค ไวน์เนอร์รี่ ดื่มไวน์ ดื่มตำนาน(ตอน3)

ซอกซอนตะลอนไป                           (8 กรกฎาคม 2561 )

อิงเกิลนุค ไวน์เนอร์รี่ ดื่มไวน์ ดื่มตำนาน(ตอน3)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               วันที่ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า ตัดสินใจซื้อบ้านหลังหนึ่ง พร้อมกับพื้นที่ปลูกองุ่นอีกประมาณร้อยกว่าไร่  ด้วยหวังว่าจะใช้ชีวิตสงบตามแบบที่เขามุ่งหวังไว้  คือ ปลูกองุ่นเล็กๆน้อยๆเพื่อทำไวน์ในครัวเรือนเอาไว้ดื่มเองตามแบบฉบับของชาวอิตาลี  ซึ่งเขาคงจะซึมซับวิถีชีวิตของชาวอิตาเลี่ยนมาจาก ฟรานเชสโก เพนนิโน (FRANCESCO PENNINO)  คุณตาของเขานั่นเอง


(บ้านในสไตล์วิคตอเรียน ซึ่งกัปตันนีโบม  กับ ซูซานน์ ภรรยาของเขาเคยอาศัยอยู่  ปัจจุบันนี้เป็นของ ฟรานซิส ฟอร์ด  คอปโปล่า)

               แต่เขาหารู้ไม่ว่า  ไร่องุ่นอิงเกิลนุค ที่เขาได้ซื้อไปนั้น  จะเปลี่ยนชีวิตของเขาไปโดยสิ้นเชิง


(โรเบิร์ต มอนดาวี  ตำนานแห่งวงการไวน์อีกคนหนึ่งของอเมริกา)

               วันหนึ่ง   หลังจากที่คอปโปล่า ได้ย้ายเข้าไปอาศัยอยู่ที่บ้านในไวน์เนอร์รี่ อิงเกิลนุคได้ไม่นาน  เขาก็ได้ยินเสียงเคาะประตู  เมื่อคอปโปล่า เปิดประตูก็พบว่า  แขกคนแรกที่มาเยือนก็คือ โรเบิร์ต มอนดาวี  เพื่อนบ้านจากไวน์เนอร์รี่โรเบิร์ต มอนดาวี

               โดยธรรมเนียมทั่วไปของชาวอเมริกันที่ผู้อยู่อาศัยก่อน  มักจะมาแนะนำตัวให้ผู้มาอยู่ใหม่ได้รู้จักกัน  เผื่อว่าอาจจะมีอะไรที่พอจะช่วยเหลือได้

               เหตุผลส่วนหนึ่งที่มอนดาวี มาเคาะประตูก็ด้วยธรรมเนียนที่ว่านี้


(ผู้เขียน ด้านหน้าทางเข้าของไร่ไวน์ โรเบิร์ต มอนดาวี)

               แต่เหตุผลอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งสำคัญกว่าก็คือ  มอนดาวี ได้ทราบข่าวมาว่า  คอปโปล่า ต้องการจะล้มเลิกกิจการทำไวน์ของอิงเกิลนุคเสีย   และอาจจะโค่นต้นองุ่นเหล่านี้ลงเสียด้วย   เพราะราคาของไวน์ยี่ห้ออิงเกิลนุค ต่ำเตี้ยเรี่ยดินมาก  จนไม่คุ้มค่าในเชิงธุรกิจที่จะเดินหน้าต่อไป 

               คอปโปล่า  อาจจะเก่งในเรื่องการเขียนบทภาพยนตร์ และ กำกับภาพยนตร์    แต่เขาไม่มีความรู้ในเรื่องไวน์เลย  ต่างกันกับโรเบิร์ต มอนดาวี ที่คลุกคลีในวงการไวน์มาตลอด 


(กัปตันนีโบม กับเพื่อนที่ร่วมกันตั้งบริษัทค้าขายทางเรือ ในภาพกัปตันนีโบมคือคนที่สองจากซ้ายมือ)

               การพูดคุยของทั้งสองผู้ยิ่งใหญ่  คือ ผู้ยิ่งใหญ่ในวงการภาพยนตร์ และ ผู้ยิ่งใหญ่ในวงการไวน์ เป็นไปสักพักใหญ่   คำพูดส่วนใหญ่มอนดาวี ก็คือพยายามโน้มน้าวให้คอปโปล่า เลิกล้มความตั้งใจในการหยุดทำธุรกิจไวน์อิงเกิลนุค

               เขาย้ำกับคอปโปล่า ว่า  โดยพื้นฐานของไวน์อิงเกิลนุค เป็นไวน์ที่มีคุณภาพดี นับตั้งแต่กัปตันนีโบม ได้ลงหลักปักฐานสร้างไวน์เนอร์รี่แห่งนี้ขึ้นมา   แต่ไร้การดูแล และ ปรับปรุงที่ดีนับตั้งแต่เกิดการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล ของสหรัฐอเมริกายาวนานประมาณ 12 ปี 

               และยิ่งแย่ลงไปใหญ่เมื่อองค์กรธุรกิจที่ชื่อ ฮิวเบลอิน(HEUBLEIN INCORPORATED) ได้เข้ามาซื้อไวน์เนอร์รี่อิงเกิลนุคในปีค.ศ. 1964  ทำให้แทบจะไม่ต้องพูดถึงเรื่องคุณภาพไวน์เลย  เพราะ ฮิวเบลอิน เน้นการผลิตไวน์ออกมาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

               แทบจะเรียกว่า  ถ้าขายได้ขวดละ 10 เหรียญ  ผลิตได้หมื่นขวดก็จะได้ 1 แสนเหรียญ  แล้วทำไมไม่ผลิตสัก หนึ่งแสนขวดล่ะ จะสามารถขายได้เงิน 1 ล้านเหรียญล่ะ

               โดยไม่สนใจเรื่องรสชาติเลย 


(ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า  ผู้เป็นตำนานในโลกภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด  และกำลังจะเป็นตำนานแห่งโลกของไวน์)

               แต่ดูเหมือน คอปโปล่า จะไม่เปลี่ยนความตั้งใจ 

               มอนดาวี จึงบอก คอปโปล่าว่า   ได้ทราบว่า  ภายในห้องใต้ดินของบ้านหลังนี้  มีห้องเก็บไวน์อยู่   ขอเข้าไปดูได้มั้ย  ซึ่งคอปโปล่าก็พาเข้าไป 

               ทั้งสองคนคงจะดูไวน์เก่าเก็บด้วยอารมณ์ที่แตกต่างกัน  คนหนึ่งคงจะดูด้วยความเซ็ง   แต่อีกคนหนึ่งเดินดูด้วยความตื่นเต้น 

               มอนดาวี  หยิบไวน์ขึ้นมาขวดหนึ่ง  บอกว่า  ไหนๆ คุณก็ไม่สนใจเรื่องไวน์พวกนี้แล้ว   เราลองมาเปิดดูกันสักขวดมั้ย 

               คอปโปล่า อนุญาตให้เปิด  แล้วก็หันหลังเดินออกไปจากห้องอย่างไม่สนใจใยดี

               ยังไม่ทันที่คอปโปล่า จะเดินพ้นห้องเก็บไวน์   เขาก็ต้องหยุดชงักอยู่ตรงนั้น  แล้วค่อยๆหันกลับมา   เพราะความหอมหวนของกลิ่นไวน์เก่าเก็บในขวดมันพลุ่งพล่านออกมาจนฟุ้งล้นเต็มห้อง

               เขาเดินมาหา มอนดาวี ซึ่งกำลังถือขวดไวน์ที่เพิ่งเปิดใหม่ด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม  มอนดาวีบอกว่า  เห็นมั้ยล่ะ  ผมบอกคุณแล้ว  

               นักนิยมไวน์คงจะจินตนาการถึงความรู้สึกที่ของ คอปโปล่า ในวินาทีสัมผัสแรกทางจมูกของไวน์ขวดนั้นได้ดี   

               หลังจากนั้น  ทั้งสองก็นั่งลงสนทนา พร้อมจิบไวน์ขวดนั้น  และคงจะอีกหลายขวดต่อมา   ลงท้ายก็สรุปว่า  คอปโปล่า ล้มเลิกความตั้งใจที่จะโค่นต้นองุ่นทิ้ง  และ เดินหน้าผลิตไวน์จากอิงเกิลนุคไวน์เนอร์รี่ ต่อไป

               แต่ทางเดินข้างหน้าของอิงเกิลนุคไม่ได้ง่ายดาย  ผมจะเอามาเล่าต่อในตอนหน้านะครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *