อิงเกิลนุค ไวน์เนอร์รี่ ดื่มไวน์ ดื่มตำนาน(ตอน2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (1 กรกฎาคม 2561 )

อิงเกิลนุค ไวน์เนอร์รี่ ดื่มไวน์ ดื่มตำนาน(ตอน2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               มีคำกล่าวว่า  ความมั่งคั่งไม่สามารถถ่ายทอดได้ 3 ชั่วคน

               หลังจากกัปตันนีโบม เสียชีวิตในปีค.ศ. 1908   ซูซานน์(SUSANNE) ภรรยาของเขาก็บริหารงานไร่ไวน์ต่อมา

               ไร่ไวน์ และ ธุรกิจเหล้าทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาประสบปัญหาอย่างหนักหน่วง  เมื่อรัฐบาลกลางประกาศกฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ทุกชนิด เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1922 จนกระทั่งเกิดการค้าขายใต้ดิน  ขบวนการมาเฟีย  และ อาชญากรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์  อาทิ อัลคาโปน


(นายอำเภอของเขต ออร์เรจน์ เทเครื่องดิ่มแอลกอฮอลผิดกฎหมายทิ้ง  ถ่ายเมื่อปีค.ศ. 1932 – ภาพจากวิกิพีเดีย) 

               ถือเป็นยุคมืดของวงการเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ และ เป็นยุครุ่งเรืองของมาเฟียอเมริกัน  ทำให้บรรดาไร่ไวน์ในแคลิฟอร์เนีย ต้องหันมาทำธุรกิจน้ำองุ่นแทนที่ธุรกิจไวน์   เรื่อยมาจนกระทั่งกฎหมายฉบับนี้ถูกยกเลิกในปีค.ศ. 1933 


(อัล คาโปน อาชญากร และ มาเฟียตัวใหญ่ของยุคนี้ – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               เมื่อซูซานน์เสียชีวิตในปีค.ศ. 1937  ไร่ไวน์จึงตกไปอยู่ในเมืองของ จอห์น แดเนียล จูเนียร์ ซึ่งเป็นเหลนของกัปตันนีโบม  


(จอห์น แดเนียล จูเนียร์)

               ธุรกิจไร่ไวน์ของ อิงเกิลนุค ค่อยๆเสื่อมทรุดลงเป็นลำดับ  นำไปสู่ผลการดำเนินการที่ขาดทุนเรื่อยมาจนในที่สุด แดเนียล ไม่อาจฝืนทำธุรกิจที่อยู่ในช่วงขาลง และ ขาดทุนอีกต่อไป  จำต้องขายธุรกิจไร่ไวน์ทั้งหมดให้แก่องค์กรธุรกิจแห่งหนึ่ง ที่มีชื่อว่า ฮิวเบลอิน(HEUBLEIN INCORPORATED) ในปีค.ศ. 1964 


(อาคาร ฮิวเบลอิน – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               แต่ฮิวเบลอิน เป็นองค์กรธุรกิจการเงิน และ การลงทุน   ไม่ใช่บุคคลที่มีไวน์อยู่ในหัวใจเช่น กัปตันนีโบม ที่ทุ่มเททุกหยาดเหงื่อ และ หยดเลือดให้แก่ไวน์  และ หายใจเข้าออกเป็นไวน์ทุกลมหายใจ

               ดังนั้น  ฮิวเบลอิน จึงเน้นการผลิตไวน์ออกมาขายให้ได้มากขวดที่สุด  โดยไม่ใยดีว่า  ไวน์ในขวดที่ผลิตออกมาจะมีรสชาติอย่างไร  ขอให้ผลิตออกมาได้มากที่สุดก็เพียงพอ

               ในที่สุด  ราคาของไวน์ที่ผลิตจากไร่อิงเกิลนุค ก็ตกลงทุกวันตามคุณภาพของไวน์ในชวด

               เมื่อมีวาสนาจะได้พบกัน   มันก็จะต้องมาพบกันในที่สุด


(ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า –ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า  ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง  ก็ต้องมาประสบพบเจอกับ ไวน์เนอร์รี่ อิงเกิลนุค

               คอปโปล่า มีเชื้อสายอิตาเลี่ยน  ปู่ของเขาเป็นนักดนตรี ชื่อ ฟรานเชสโก เพนนิโน (FRANCESCO PENNINO) อพยพมาจากทางตอนใต้ของประเทศอิตาลี  บางข้อมูลก็บอกว่า  มาจากเมืองเนเปิล   เข้ามาอยู่ในนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา  และเริ่มทำธุรกิจโรงภาพยนต์ในย่านบรุ๊คลิน


(ภาพของ ฟรานเชสโก เพนนิโน ซึ่งถูกจัดแสดงอยู่ในชาร์โต ในไวน์เนอร์รี่ อิงเกิลนุค)

               ลูกสาวของเพนนิโน คือ อิตาเลีย แต่งงานกับ คาร์มิเน คอปโปลา(CARMINE COPPOLA) ซึ่งมีอาชีพเป็นนักดนตรี และ ผู้กำกับวงดนตรี  ทั้งสองมีลูกด้วยกัน 3 คน หนึ่งในนั้นก็คือ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า

               อาจเพราะสายเลือดศิลปิน 2 ชั่วอายุคนของบรรพบุรุษของคอปโปล่า จะแรง  ทำให้วิถีชีวิตของเขาหันเหมาทางสายของศิลปะด้วยอีกคน

               แม้ว่าในช่วงวัยเด็ก   เขาจะมีปัญหาได้รับผลกระทบจากโรคโปลิโอ  ทำให้ต้องอยู่กับที่นานหลายปี  ซึ่งเป็นช่วงที่เขาเริ่มสนใจศึกษาวิชาดนตรี  จนกระทั่งมีความเชี่ยวชาญในเครื่องดนตรี ทูบา  จนสามารถสอบชิงทุนไปศึกษาวิชาดนตรีที่ NEW YORK MILITARY ACADEMY

               แต่หลังจากนั้น  เขาหันมาสนใจการเขียนบทละคร  แม้ว่าบิดาจะไม่เห็นด้วยก็ตาม   จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย UCLA โดยมีเพื่อนร่วมชั้นเรียนอย่าง  เจมส์  คานน์  และ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล หรือ ท่านมุ้ย

               คอปโปล่า เริ่มทำงานภาพยนตร์ตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1960 เรื่อยมา   ทั้งเป็นผู้เขียนบท และ กำกับการแสดง  มีผลงานมากมายหลายเรื่องที่โดดเด่น  อาทิ  PATTON ซึ่งเขาทำหน้าที่เป็นผู้เขียนบทภาพยนตร์ในปีค.ศ. 1970 

               ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เขาได้รับรางวัลออสก้า ประเภทบทภาพยนตร์ดั่งเดิมยอดเยี่ยม  ทำให้ชื่อของ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปล่า เริ่มเป็นที่รู้จักในวงการภาพยนตร์มากยิ่งขึ้น 

               ปีค.ศ. 1972  ผลงานอมตะนิรันดรกาลเรื่องแรกของเขาถูกนำออกฉาย  และเปลี่ยนวิถีชีวิตของเขาไปโดยสิ้นเชิง  ภาพยนตร์เรื่องนั้นก็คือ  THE GODFATHER ที่นำแสดงโดย มาร์ลอน แบรนโด , อัล ปาชิโน  และ เจมส์ คานน์ เพื่อนร่วมชั้นเรียนของคอปโปล่า 

               แม้ว่าในตอนสร้างภาพยนตร์จะประสบปัญหามากมายสารพัด   แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ ประสบความสำเร็จอย่างมหาศาล  ทั้งในแง่รายได้  และ ชื่อเสียง  เพราะได้รับรางวัลตุ๊กตาทองออสก้ามากมายหลายสาขา   รวมทั้งรางวัลเขียนบทภาพยนต์ยอดเยี่ยมของคอปโปล่าเองด้วย

               อีก 2 ปีต่อมา  หลังจากผ่านการทำภาพยนตร์หลายเรื่อง  เขาก็กลับมาทำภาพยนตร์เรื่อง THE GODFATHER ภาค 2 ในปีค.ศ. 1974  ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งทางธุรกิจ และ รางวัลเกียรติยศอย่างมากมายอีกเช่นกัน

               บางคนไม่ต้องโอกาสหลายครั้งในชีวิต  ก็สามารถประสบความสำเร็จได้  เช่น คอปโปล่า ซึ่งเพียงแค่ 3 ปี คือปีค.ศ. 1972 – 1974  เขาก็สร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้แก่ตัวเองได้อย่างที่แม้แต่ตัวเองก็ไม่คาดคิด

               วันหนึ่งในปีค.ศ. 1975  เขาและภรรยาเดินทางมาที่ นาป้า วัลเลย์ ซึ่งครั้งหนึ่งเขาเคยมาถ่ายทำภาพยนตร์ที่นี่  เพื่อจะหาซื้อที่ดินผืนเล็กๆ เพื่อปลูกบ้าน และ ทำไร่องุ่นขนาดที่พอจะทำไวน์ดื่มได้เองสักผืน

               และวันนั้นเอง  เป็นจุดเริ่มต้นของยุคใหม่แห่ง ไวน์เนอร์รี่ อิงเกิลนุค

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *