ซอกซอนตะลอนไป (17 มิถุนายน 2561 )
ระทึกกับเที่ยวบิน UA560(ตอนจบ)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
ในที่สุด ผมก็ได้ขึ้นมานั่งบนเครื่องบิน ยูไนเต็ด แอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ UA560 เพื่อเตรียมเดินทางไปลอส แองเจลิส
แต่เรื่องระทึกยังไม่จบ
พอเครื่องบินถูกผลักออกจากงวง ผมก็หลับไปก่อน มารู้สึกตัวอีกครั้งก็ได้ยินเสียงประกาศ และ เสียงพูดอื้ออึงของผู้โดยสาร เมื่อมองออกไปนอกเครื่องบิน ก็เห็นว่าเครื่องบินกำลังเคลื่อนกลับมาที่งวงเทียบเครื่องบินอีกครั้ง
เพื่อนที่ไปด้วยกันเล่าให้ฟังว่า ตอนที่ผมหลับนั้น พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินได้เดินเก็บบอร์ดดิ้ง พาสส์จากผู้โดยสารทั้งหมด และ ขอหมายเลขโทรศัพท์ของผู้โดยสารเหล่านั้นด้วย
แต่ก็แปลกที่ว่า เมื่อเขามองเห็นผมนอนหลับอยู่ ก็ไม่ได้เรียกเก็บบอร์ดดิ้ง พาสส์ จากผม
ผมก็ยังไม่เข้าใจจนทุกวันนี้ว่า หากเขาต้องการจะตรวจสอบรายชื่อ หรือ จำนวนผู้โดยสารทั้งหมดบนเครื่องบิน ทำไมไม่เรียกเอาบอร์ดดิ้ง พาสส์ของผมไปด้วย
ทราบทีหลังว่า สาเหตุที่ต้องเรียกเก็บบอร์ดดิ้ง พาสส์ ก็เพราะ มีการตรวจพบว่า จำนวนบอร์ดิ้ง พาสส์ ที่ได้บันทึกด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ตอนจะผ่านขึ้นเครื่อง ไม่ตรงกับจำนวนผู้โดยสารบนเครื่องบิน
ดูเหมือนว่า จะต่างกันอยู่ประมาณ 20 คน
สาเหตุที่จำนวนไม่ตรงกันนั้น น่าจะมาจากการที่พนักงานสายการบินปล่อยให้ผู้โดยสารสแกนบอร์ดดิ้ง พาสส์ ด้วยตัวเองตอนจะเดินขึ้นเครื่องบิน ซึ่งโดยปกติ พนักงานของสายการบินทุกสายการบินจะต้องทำหน้าที่สแกนด้วยตัวเอง เพื่อป้องกันความผิดพลาด
ในกรณีนี้ อาจเป็นไปได้ว่า ผู้โดยสารสแกนบอร์ดดิ้ง พาสส์ ไม่ถูกต้อง จึงทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ไม่สามารถบันทึกบัตรโดยสารใบนั้นๆได้
ถือเป็นการทำงานสุดชุ่ยของพนักงานสายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์
นอกจากนี้ ก็ยังมีอีกปัญหาหนึ่งคือ ผู้โดยสาร 2 คน ได้บอร์ดดิ้ง พาสส์ เลขที่นั่งเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติมากมายแต่ประการใด
แต่ที่ผิดปกติมากที่สุด และ ถือเป็นความชุ่ยของทั้งระบบคอมพิวเตอร์ และ การทำงานของพนักงานก็คือ บอร์ดดิ้ง พาสส์ ทั้งสองใบนั้น เป็นชื่อผู้โดยสารคนเดียวกัน
ผมทำทัวร์มา 30 กว่าปี เคยเจอเรื่องที่นั่งซ้ำกันบ้างเป็นบางครั้ง ซึ่งไม่บ่อยนัก และในช่วง 5 ปีหลังไม่เคยเจอเลย แต่ในกรณีหมายเลขที่นั่งซ้ำกัน และ ชื่อผู้โดยสารยังเป็นชื่อเดียวกันอีกนั้น
เรื่องแบบนี้เพิ่งจะเจอเป็นครั้งแรกในประเทศอเมริกานี่แหละ
ในช่วงที่วุ่นวาย และ ร้อนใจของผู้โดยสาร พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินก็ประกาศเรียกชื่อผู้โดยสารบางคนให้มาพบกับพนักงานต้อนรับ แล้วก็ประกาศให้ทราบถึงสถานการณ์บนเครื่องว่า จำนวนผู้โดยสารที่ยังเกินจากจำนวนบัตรโดยสารที่สแกนจากเครื่องคอมพิวเตอร์ตรงประตูทางขึ้นเครื่องว่า เหลืออีกกี่คน
บางครั้งก็บอกว่า เรียบร้อยแล้ว ปิดประตูเครื่อง แล้วก็ฉายภาพยนต์บรรยายเกี่ยวกับการปฎิบัติตัวบนเครื่องบินในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน
แล้วในเวลาต่อมา ก็ประกาศว่า ยังไม่เรียบร้อย แล้วสักพัก ก็บอกเรียบร้อย แล้วก็ฉายภาพยนต์ที่บรรยายเกี่ยวกับการปฎิบัติตัวบนเครื่องบินอีกครั้ง
ผมจึงเลยพลอยได้ความรู้ใหม่ว่า ทุกครั้งที่มีการเปิดประตูเครื่องบิน และปิดประตูเครื่องบินทุกครั้ง จะต้องฉายภาพยนตร์เกี่ยวกับความปลอดภัยนี้ทุกครั้ง
คืนนั้น คิดว่าผมได้ดูภาพยนตร์เรื่องความปลอดภัยนี้ ไม่ต่ำกว่า 4 – 5 ครั้งทีเดียว
ในที่สุด พนักงานต้อนรับก็ประกาศว่า เครื่องบินพร้อมจะเดินทางได้แล้ว ก็ไม่รู้ว่าเขาแก้ปัญหาได้จริง หรือ ตัดสินใจว่า บินๆไปเหอะ ผู้โดยสารจะขาดหรือเกินไปบ้างก็ช่างมัน
ในระหว่างนั้น สายการบินก็ส่งอีเมล์มาแจ้งเข้ามาเป็นระยะๆให้ผู้โดยสารเจ็บใจว่า เครื่องบินเลื่อนเวลาบินออกไปอีกแล้ว
สรุปว่า สายการบินเสียเวลาเพราะความชุ่ยของพนักงานไปราว 2 ชั่วโมง ทำให้ถ้านับตั้งแต่เราเดินทางถึงสนามบิน ซาน ฟรานซิสโก จนกระทั่งเครื่องบินเดินทางถึง ลอส แองเจลิส ก็กว่า 6 โมง
ซึ่งหากเดินทางโดยรถยนต์ ก็น่าจะใช้เวลาน้อยกว่านี้
ไม่น่าเชื่อว่า ประเทศที่คุมเข้มเรื่องกฎการบินของทั่วโลก จะห่วยแตกกับสายการบินของตัวเอง และในประเทศตัวเองได้ขนาดนี้
คราวหน้า หากท่านผู้อ่านจะต้องเดินทางโดยสายการบินในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็กรุณาทำใจเอาไว้ก่อนนะครับ จะได้ไม่หงุดหงิด
สวัสดี