คอนสแตนติโนเปิล กับ สงครามครูเสดครั้งที่ 4(ตอน2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (8 เมษายน 2561)

คอนสแตนติโนเปิล กับ สงครามครูเสดครั้งที่ 4(ตอน2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ผลจากความล้มเหลวของสงครามครูเสด ครั้งที่ 3 ซึ่งในครั้งนั้น  มีนักรบที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนในยุคปัจจุบันคือ พระเจ้าริชาร์ด ใจสิงห์แห่งอังกฤษ เป็นผู้นำคนหนึ่งในการไปทำสงครามครั้งนี้  

               แต่ฝ่ายมุสลิม ก็มีนักรบที่เก่งกาจสามารถมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ ที่มีชื่อว่า ซาลาดิน  ซึ่งสร้างผลงานที่โดดเด่นมาก่อนหน้านั้น ในการทำสงครามแห่งแฮตติน และ ยึดเมืองเยรูซาเล็ม เอาไว้ในครอบครอบได้


(รูปหล่อของซาลาดิน )

               ด้วยเหตุนี้  เมื่อสันตะปาปา อินโนเซนต์ ที่ 3 ประกาศเรียกร้องให้ชาวคริสต์เดินทางไปทำสงครามศักดิ์สิทธิ์ หรือ สงครามครูเสดครั้ง ที่ 4  จึงไม่ค่อยได้รับการตอบรับจากผู้คนทั่วไปเท่าไหร่นัก 

               จึงค่อนข้างปั่นป่วนจนเกิดเรื่องที่เลวร้ายขึ้น ตามที่ผมได้พูดถึงไปในตอนที่แล้ว 

               ดังนั้น  การเดินทางจากเวนิสไปยังคอนสแตนติโนเปิล ของนักรบครูเสดครั้งนี้  จึงน่าจะหลับตานึกได้ว่า  คงจะไม่ต่างอะไรกับการเดินทางของพวกกองโจรที่ไร้ระเบียบ และ กฎเกณฑ์ต่างๆ เพราะไม่มีใครที่จะสามารถสั่งใครได้ 

               นักรบบางส่วนที่ยังมีสำนึกที่ถูกต้อง และไม่เห็นด้วยกับการปล้นชิงทรัพย์ของเพื่อนชาวคริสต์ด้วยกันเอง  ก็เลือกที่จะยกเลิกการเดินทางไปกู้เมืองเยรูซาเล็ม และ เดินทางกลับทันที  

               ในที่สุด  นักรบครูเสดก็เดินทางมาจนถึงคอนสแตนติโนเปิลจนได้  ซึ่งไม่รู้ว่าระหว่างทาง  กองโจรเหล่านี้ได้แวะปล้นที่เมืองไหนอีกหรือไม่  เพราะไม่มีบันทึก

               กองเรือของนักรบครูเสดเดินทางถึงคอนสแตนติโนเปิลในช่วงปลายเดือนมิถุนายน ปีค.ศ. 1203 


(แผนผังของนครคอนสแตนติโนเปิล – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ในห้วงเวลานั้น   ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในคอนสแตนติโนเปิล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวกรีก  กับ ผู้คนที่มาจากยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือจากอิตาลี มีความขัดแย้งกัน  อันเนื่องมาแต่ความขัดแย้งกันระหว่างสองคริสต์ศาสนจักร  คือ ศาสนจักรออร์โธดอกซ์ ที่มีฐานอยู่ในคอนสแตนติโนเปิล ที่มีแพททริอาร์ค ไมเคิล ที่ 1(PATRIARCH MICHAEL I CERULARIUS) เป็นผู้นำ  และ  ศาสนจักรโรมันคาธอลิค ที่มีฐานอยู่ที่วาติกัน โดยมีสันตะปาปา ลีโอ ที่ 9(POPE LEO IX) เป็นผู้นำ   

               ความขัดแย้งกันดังกล่าวที่คุกรุ่นมานานหลายสิบปี  และท้ายที่สุดนำไปสู่การแตกแยกอย่างรุนแรง  และ การคว่ำบาตรซึ่งกันและกัน ในปีค.ศ. 1054  และดำเนินเรื่อยมาแม้จนทุกวันนี้  แม้ว่าจะมีความพยายามฟื้นความสัมพันธไมตรีระหว่างกันจากสันตะปาปา จอห์น พอล ที่ 2 ก็ตาม

               ประกอบกับเกิดการแย่งชิงบัลลังก์ของจักรพรรดิไบแซนไทน์   และพวกนักรบครูเสด ก็เข้าไปแทรกแซงด้วยอำนาจทางทหารเพื่อสนับสนุนให้จักรพรรดิ บางพระองค์กลับสู่บัลลังก์  ซึ่งอยู่นอกเหนือบทบาทและภารกิจที่จะต้องมาทำในนามของนักรบครูเสด


(กำแพงเมืองแม้จะแข็งแกร่ง แต่ก็ไม่อาจต้านทานศัตรูภายในเมืองได้)

               หลังจากความวุ่นวายผ่านไประยะหนึ่ง  อเล็กซิอุส ที่ 4 ก็ได้ขึ้นครองราชย์    แต่พระองค์ก็อยู่ในฐานะลำบาก  เพราะทรัพย์สมบัติต่างๆถูกอเล็กซิอุส ที่ 3 ซึ่งเป็นจักรพรรดิพระองค์ก่อนหอบหนีเอาไปเกือบหมด 

               อเล็กซิอุส ที่ 4 ไม่มีทางเลือกนอกจากจะทำลายสิ่งของต่างๆในเมืองเพื่อลอกเอาทองคำและเงินไปใช้   นครคอนสแตนติโนเปิล  ที่เคยยิ่งใหญ่อลังการ์ในอดีตกำลังถูกคุกคามจากคนของตัวเอง 

               แต่ชะตากรรมที่เลวร้ายของคอนสแตนติโนเปิลยังสิ้นสุดแค่นี้ 

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ 

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *