คอนสแตนติโนเปิล กับ สงครามครูเสดครั้งที่ 4(ตอน1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (1 เมษายน 2561 )

คอนสแตนติโนเปิล กับ สงครามครูเสดครั้งที่ 4(ตอน1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               สัปดาห์ที่แล้ว  ผมมีโอกาสนำนักท่องเที่ยวของบริษัท ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่ จำกัด  เดินทางเจาะลึกตุรกี – ดินแดนสองฝั่งทวีป  ซึ่งนำชมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ตามเส้นทางที่เคยผ่านการยึดครองของกรีก และ โรมัน ตามแนวเส้นชายฝั่งทะเลอีเจียน ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของตุรกี 

               แล้วเราก็มาถึง อีสตันบุล หรือ นครคอนสแตนติโนเปิล ของอาณาจักรโรมันไบแซนไทน์ในอดีต ผมนำคณะเดินมาถึงฮิปโปโดรม หรือ สนามแข่งรถม้าของพวกโรมันโบราณ  ก็เลยต้องเล่าประวัติศาสตร์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับ สงครามครูเสด  , ฮิปโปโดรม  และ โบสถ์ เซนต์ โซเฟีย


(ฮิปโปโดรม หรือ สนามแข่งรถม้าของยุคโรมัน ซึ่งเป็นจุดที่เกิดเหตุการณ์เลวร้ายอันเป็นผลจากนักรบครูเสด ครั้งที่ 4)

               สงครามครูเสด ที่ผมพูดถึงก็คือ  สงครามครูเสดครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นสงครามครั้งที่แสนอัปยศที่สุดของนักรบเพื่อศาสนาคริสต์ 

               สงครามครูเสดเริ่มขึ้นในปีค.ศ. 1095 จนกระทั่งปีค.ศ. 1270 โดยประมาณ  เริ่มจากที่สันตะปาปาเออร์บัน ที่ 2 (POPE URBAN II) ได้ออกมาเรียกร้องให้ชาวคริสต์ทั้งมวลไปยึดนครเยรูซาเล็ม และ ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งประกอบด้วย จอร์แดน  อิสราเอล  ปาเลสไตน์  เลบานอน และ ซีเรีย กลับคืนมาจากการยึดครองของนักรบมุสลิม  

               สงครามครูเสด กินเวลายาวนานเกือบ 200 ปี และเป็นสงครามประมาณ 7-8 ครั้ง   แต่ในที่นี้   ผมจะขอพูดถึงเฉพาะสงครามครูเสดครั้งที่ 4 เท่านั้น

               ข้อเท็จจริงก็คือ  ในบรรดาสงครามครูเสดทั้งหมด 7-8 ครั้งนั้น   มีเพียงสงครามครูเสดครั้งที่ 1 เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง  คือ มีผู้ร่วมเดินทางไปรบกันอย่างมากมายล้นหลาม  ตั้งแต่ระดับกษัตริย์ จนกระทั่งบรรดาอัศวิน และ ชาวบ้านธรรมดาๆ

               และที่สำคัญก็คือ  สามารถยึดครองเยรูซาเล็มกลับคืนมาจากการยึดครองของพวกเติร์ก เซลจุก ที่นับถือศาสนาอิสลามมาได้   แต่หลังจากนั้นไม่นาน   เยรูซาเล็มก็กลับคืนไปอยู่ในมือของชาวมุสลิมอีกครั้ง  


(เยรูซาเล็ม ดินแดนที่แย่งชิง ฆ่าฟันกันมาช้านาน)

               หลังจากสงครามครั้งที่หนึ่งแล้ว  สงครามครูเสดก็แทบจะเรียกได้ว่า  ไม่ประสบความสำเร็จใดๆเลย  ที่แย่ที่สุดก็คือ  สงครามครูเสด ครั้งที่ 4 ที่ถือเป็น “หายนะ” แห่งเกียรติยศ  ศักดิ์ศรีของนักรบครูเสด และ ศาสนาคริสต์ออร์โธดอกซ์

               นักรบเหล่านี้  เลือกที่จะเดินทางออกจากยุโรปโดยทางเรือ  จำนวนมากเลือกที่จะมาลงเรือกันที่เกาะเวนิส  ซึ่งเป็นรัฐที่มีความเข้มแข็ง และ มีสามารถในการสร้างเรือ  และ การเดินเรือ

               แรกทีเดียว  คาดกันว่ากองกำลังที่ร่วมเดินทางในครั้งนี้จะมีจำนวนมากถึง 3 หมื่นคนเศษ  และม้าอีกประมาณ 4500 ตัว   ผู้นำนักรบครูเสดจึงต้องว่าจ้างให้เวนิสต่อเรือเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก

               แต่พอเอาเข้าจริง  จำนวนผู้เดินทางที่ออกจากเวนิสกลับลดน้อยลงอย่างมาก  เพราะนักรบส่วนหนึ่งเปลี่ยนใจไปเดินทางจากเมืองอื่นๆแทน  อาจเป็นเพราะเหตุนี้  เงินที่เตรียมมาเพื่อจ่ายเป็นค่าเรือ และ ค่าเดินเรือจึงไม่ครบตามจำนวนที่ตกลงไว้ก่อน   

               กองเรือของนักรบครูเสด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวฝรั่งเศส กำหนดเดินทางออกจากท่าเรือเมืองเวนิสในเดือนตุลาคม ปีค.ศ. 1202  แต่เมื่อไม่สามารถจ่ายเงินได้ครบตามที่ตกลงคือ 85,000 มาร์กเหรียญเงิน


(พระราชวังของ ดอจ แห่งเวนิส  ผู้ปกครองสูงสุดของเวนิส)

               ดอจ(DOGE) ของเวนิส ซึ่งมีฐานะเหมือนประธานาธิบดีในปัจจุบันนี้ ไม่ยอมให้เรือออกเดินทางจากเวนิสเด็ดขาด  หากไม่สามารถจ่ายเงินได้ครบ 

               เมื่อมาถึงทางตันแบบนี้   นักรบครูเสด ซึ่งมีเจตนาจะไปทำสงครามเพื่อศาสนา  ก็ต้องเปลี่ยนบทบาทของตัวเองไปในบัดดล   ด้วยการเสนอว่า  พวกเขาจะทำการปล้นเมืองที่อยู่ตามรายทางเพื่อหาเงินมาจ่ายค่าเรือให้แก่เมืองเวนิสให้ได้ 

               ภารกิจบาป บนเส้นทางแสวงบุญ จึงเริ่มขึ้น


(เมืองซาดาร์ อยู่ฝั่งตรงข้ามกับเวนิส – ภาพจากเว็บไซต์)

               เมืองที่คราวซวยมาเยือนเป็นเมืองแรกก็คือ  เมืองซารา(PORT OF ZARA)  หรือ เมืองซาด้าร์(ZADAR) ที่อยู่ในประเทศโครเอเชียปัจจุบันนี้ 

               เมื่อก้าวแรกผิด  ก้าวต่อไปก็ยากที่จะเดินให้ถูกทาง   เหตุการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร  กรุณารอ่านต่อไปตอนต่อไปในสัปดาห์หน้า  

               สำหรับท่านที่สนใจจะเดินทางไปเจาะลึก อียิปต์ และ เจาะลึกตุรกี  ร่วมกับผม  เชิญสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร 02 651 6900 หรือ  088 578 6666 หรือ ID Line 14092498

               สวัสดีครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *