ซอกซอนตะลอนไป (11 กุมภาพันธ์ 2561 )
ก่อนจะมาเป็นดาราศาสตร์ และ โหราศาสตร์ (ตอน4)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
ที่วิหารคอม ออมโบ(KOM OMBO TEMPLE) ริมแม่น้ำไนล์ ในอียิปต์ ซึ่งเป็นวิหารแบบเกรโก-โรมัน มีภาพสลักที่น่าสนใจมากภาพหนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่า ปฎิทินของยุค ปโตเลมี
ไกด์ท้องถิ่นมักจะเรียกว่า ปฎิทินแผ่นแรกของโลก แม้ว่าการกำหนดวันเวลาของเดือนไม่ใช่เพิ่งจะมีในยุคนี้ แต่อาจจะเป็นไปได้ว่า ยังไม่เคยมีภาพปฎิทินที่แสดงวิธีการนับวันเวลาแบบนี้มาก่อนให้เห็น
ที่น่าสนใจก็คือ อียิปต์โบราณในยุคราชวงศ์ปโตเลมี(PTOLEMY DYNASTY) กำหนดให้ในแต่ละเดือนมี 3 สัปดาห์ (ไม่ใช่ 4 สัปดาห์อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้) และในแต่ละสัปดาห์จะมี 10 วัน (ไม่ใช่ 7 วัน)
1 เดือนมี 3 สัปดาห์ เท่ากับ หนึ่งเดือนจะมี 30 วัน หนึ่งปีมี 12 เดือน จึงเท่ากับ หนึ่งปีจะมี 360 วัน
จากนั้น ก็มีการเพิ่มวันเข้าไปอีก 5 วัน โดยกำหนดให้วันเหล่านี้เป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองของเทพเจ้าต่างๆ ว่ากันว่า เบื้องหลังเหตุผลของการใส่วันชดเชยเข้าไปก็เพื่อให้หนึ่งปีมี 365 วันตามปีทางสุริยะคติ นอกจากเหนือการเหตุผลของวันเฉลิมฉลองของเทพเจ้าต่างๆ
อาจเป็นเพราะไม่ต้องการให้เกิดความสับสนปนเป หรือ เกิดความขัดแย้งกันกับระบบการนับวันเดือนปีตามระบบสุริยะคติ เพราะปฎิทินของอียิปต์โบราณเขาใช้ระบบปฎิทินแบบจันทรคติ
สาเหตุที่อียิปต์โบราณกำหนดให้ 1 สัปดาห์มี 10 วันก็ด้วยความเชื่อที่ว่า บนท้องฟ้ามีกลุ่มหมู่ดาวที่โคจรอยู่ 36 หมู่ดาว ทุกๆ 10 วัน กลุ่มหมู่ดาวเหล่านี้จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันโผล่ขึ้นเหนือขอบฟ้าทางทิศตะวันออก อย่างนี้ไปเรื่อยๆ
แนวความคิดนี้ก็เหมือนกับ การปรากฎตัวของหมู่ดาวของจักราศีต่างๆทั้ง 12 ราศีที่โผล่ขึ้นมาทางขอบฟ้าด้านทิศตะวันออก และเป็นพื้นฐานในการกำหนดว่า คนผู้นั้นถือกำเนิดในราศีใดนั่นเอง
เช่น ถ้าเกิดในตอนที่หมู่ดาวเมษ โผล่ขึ้นมา ก็จะถือว่าเป็นคนราศีเมษ หรือ หากเกิดในช่วงที่หมู่ดาวกรกฎ โผล่ขึ้นมา ก็จะนับว่าเป็นคนราศีกรกฎ เป็นต้น
ด้วย 12 หมู่ดาวเหล่านี้เอง ปัจจุบันจึงกำหนดให้มี 12 ราศี คือ ราศีเมษ , พฤษภ , เมถุน , กรกฎ , สิงห์ , กันย์ , ตุลย์ , พิจิก , ธนู , มังกร , กุมภ์ และ มีน
ซึ่งเป็นไปตามภาพสลักที่เห็นในวิหารเดนเดอรา ที่เป็นรูปจักราศี 12 ราศี
ทั้งนี้เพราะวิหารเดนเดอรา สร้างในยุคเกรโก – โรมัน คือ เมื่อประมาณ 2200 ปีที่แล้ว ซึ่งสันนิษฐานว่า ในยุคนั้นมีการกำหนดหมู่ดาวบนท้องฟ้าเพียงแค่ 12 หมู่ดาว ถือว่าเป็นแนวคิดใหม่ของวิชาดาราศาสตร์ และ โหราศาสตร์ ที่เป็นส่วนผสมของอียิปต์โบราณ และ กรีก
แต่เรื่อง 36 กลุ่มหมู่ดาวนั้น น่าจะเป็นเรื่องความเชื่อถือของชาวอียิปต์โบราณ ที่เป็นชาวอียิปต์แท้ๆ และเก่าแก่กว่าชาวกรีกผสมอียิปต์เช่นราชวงศ์ปโตเลมี มากมายนัก
มีหลักฐานภาพวาดบนเพดานในสุสานของ เซเนนมุท(SENENMUT) ผู้เป็นทั้งทหารคู่ใจผู้ค้ำบัลลังก์ของ พระนางฮัทเชปซุท (HATSHEPSUT) และ ยังเป็นชู้รักของพระนางฮัทเชปซุทด้วย ปรากฏเป็นรูปตารางของหมู่ดาวต่างๆทั้ง 36 หมู่ดาว
สุสานดังกล่าว น่าจะสร้างขึ้นในราว 1450 ปีก่อนคริสตกาล หรือ เมื่อประมาณ 3450 ปีที่แล้ว ก่อนหน้าวิหารเดนเดอราประมาณ 1200 ปีทีเดียว
และยังปรากฏหลักฐานภาพเขียนแผนผังเหล่านี้ในสุสานของราชวงศ์ที่ 11 ของอียิปต์โบราณ ที่มีอายุตั้งแต่ประมาณ 2100 ปีก่อนคริสตกาล หรือ เมื่อประมาณ 4100 ปีที่แล้วอีกด้วย
หมู่ดาวเหล่านี้ถูกเรียกว่า เดคคาน (DECANS) แปลว่า 10 ซึ่งสันนิษฐานว่า น่าจะมีรากฐานจากคำในภาษากรีกที่ว่า DEKANOI หรือ TENTHS ที่สื่อความหมายถึงคำว่า 10
เมื่อเอาหมู่ดาวทั้ง 36 หมู่ดาว หารด้วย 12 ก็จะได้เท่ากับ 3 หมายความว่า ในแต่ละราศีก็จะประกอบไปด้วย 3 หมู่ดาว ซึ่งตรงกันกับแนวคิดทางโหราศาสตร์ปัจจุบันนี้ ที่กำหนดให้แต่ละราศีมีดาวเจ้าราศีอยู่ 1 ดวง และ มีดาวอีก 3 ดวงเป็นเจ้าพื้นที่ 10 องศาในแต่ละราศี
10 องศา ที่ว่านี้ เรียกว่า ตรียางค์
ซึ่งภาษาสันสกฤต เรียกว่า DREKKANA
เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของชาวอียิปต์โบราณยังไม่จบครับ ผมจะมาเล่าต่อในตอนหน้า
สนใจจะเดินทางเจาะลึกอียิปต์กับผมและ ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่ ซึ่งออกเดินทางเป็นซีรี่ส์ทัวร์ทุกเดือน ใกล้ที่สุดคือ 1 – 10 มีนาคม และ 10 – 19 เมษายน ติดต่อ 02 651 6900 หรือ 088 578 6666 หรือ ID Line 140924978
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ
ซอกซอนตะลอนไป (18 กุมภาพันธ์ 2561)
ก่อนจะมาเป็นดาราศาสตร์ และ โหราศาสตร์ (ตอน5)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
พื้นฐานสังคมของอียิปต์โบราณเป็นสังคมแบบเกษตรกรรม และ กสิกรรม ดังนั้น เศรษฐกิจของประเทศจึงขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการเพาะปลูก และ การเลี้ยงสัตว์เป็นสำคัญ
ในยุคนั้น ระบบเศรษฐกิจเป็นแบบที่เรียกว่า เศรษฐกิจพระราชวัง
คือพระราชาจะเรียกเก็บภาษีจากประชาชนโดยตรง ภาษีที่เก็บได้ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน หรือ เครื่องอุปโภคบริโภคจะถูกนำมาเก็บไว้ในท้องพระคลัง เพื่อใช้จ่ายในการบริหารแผ่นดิน รวมทั้งในยามเมื่อประเทศเกิดความอดอยาก ก็จะเอาอาหารในท้องพระคลังมาแจกจ่ายแก่ประชาชน
ดังนั้น เกษตรกรรม และ กสิกรรมจึงมีความสำคัญต่อสังคมอียิปต์โบราณอย่างมาก
ในวิหารของฟาโรห์รามเซส ที่ 3 ซึ่งสร้างเมื่อประมาณ 1160 ปีก่อนคริสตกาล หรือ เมื่อประมาณ3160 ปีที่แล้ว ปรากฏภาพเขียนบนฝาผนังซึ่งยืนยันความจริงข้อนี้ได้อย่างดีทีเดียว
เป็นภาพที่แสดงให้เห็นภาพฟาโรห์ รามเซส ที่ 3 สวมมงกุฎขาวแห่งอียิปต์บน มือซ้ายกำลังจับคันไถที่เทียมด้วยโค 2 ตัว มือขวาก็กำลังเงื้อแส้เหมือนกำลังจะเฆี่ยนลงไปที่โคทั้งสอง
สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นประเพณีที่ประกาศว่า เป็นการเริ่มฤดูการเพาะปลูกที่เกิดขึ้นหลังจากฤดูน้ำท่วมผ่านไป อาจจะเป็นเทศกาล หรือ การเฉลิมฉลอง ที่ฟาโรห์จะต้องเป็นผู้นำประชาชนในการเพาะปลูกในครั้งนี้
ซึ่งก็คงจะคล้ายกับพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ของไทย
ถัดไปอีกภาพก็จะเป็นภาพของฟาโรห์กำลังเกี่ยวข้าว และถัดไปก็จะเป็นภาพฟาโรห์กำลังถวาย หรือ รายงานสิ่งต่างๆที่ได้ทำมาให้แก่เทพฮาปี(HAPI) ที่นั่งอยู่บนบัลลังก์
เทพฮาปี เป็นเทพเจ้าแห่งแม่น้ำไนล์ เป็นเทพแห่งความอุดมพันธ์ เป็นเทพที่ทำให้เกิดความเจริญพันธ์ ด้วยเหตุนี้ เทพฮาปี จึงเป็นเทพกะเทย หรือ เทพที่มีสองเพศในร่างเดียวกัน จึงสามารถให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเพศตรงข้าม
และด้วยเหตุผลที่ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติเป็นตัวชี้เป็นชี้ตายของอนาคตของฟาโรห์ และของแผ่นดิน ฟาโรห์จึงต้องพึ่งพานักบวช ให้ช่วยภาวนาและสวดอ้อนวอนต่อเทพเจ้าให้ดลบันดาลสิ่งดีๆให้แก่แผ่นดิน
นักบวชนอกจากจะต้องทำหน้าที่สวดมนต์อ้อนวอนแล้ว ยังจะต้องทำหน้าที่เสมือนหนึ่งผู้หยั่งรู้อนาคต ว่าจะดีหรือร้ายอย่างไร
อนาคตจะดีหรือร้ายอย่างไร ขึ้นอยู่กับระดับน้ำท่วมของแม่น้ำไนล์นั่นเอง
แต่นักบวชไม่ได้ออกไปจากวิหารของตัวเองเอง ทำอย่างไรเขาจึงจะสามารถรับรู้ว่า ในปีนั้นๆ ระดับน้ำของแม่น้ำไนล์สูงต่ำมากน้อยอย่างไร
นักบวชเหล่านี้ จึงต้องสร้างเครื่องมือเพื่อวัดระดับของแม่น้ำไนล์ ที่เรียกว่า NILOMETER ด้วยการขุดบ่อน้ำ หรือ สระน้ำภายในวิหาร แล้ววางท่อน้ำจากบ่อหรือสระน้ำไปยังแม่น้ำไนล์
เมื่อน้ำในแม่น้ำไนล์ สูงขึ้นหรือลดลง น้ำในสระน้ำหรือบ่อน้ำก็จะขึ้นหรือลดลงตามด้วย
เหตุนี้เอง นักบวชนอกจากจะสามารถทำนายว่า ฤดูน้ำท่วมกำลังจะมาถึงเมื่อใดแล้ว ด้วยการสังเกตจากหมู่ดาวซิริอุส เขายังสามารถบอกได้อีกว่า ปีนี้น้ำจะดี หรือ แย่ขนาดไหน ซึ่งจะทำให้ผลผลิตในปีนั้นดี หรือ แย่ตามไปด้วย
นักบวชของอียิปต์โบราณจึงมีสถานะเหมือนผู้กำความลับของจักรวาล ความลับของดวงดาวบนท้องฟ้า และ ดวงดาวในโหราศาสตร์ไปด้วยในตัว จนทำให้นักบวชมีสถานะ และ มีอำนาจในสังคมสูงขึ้นด้วย จนทำให้ในบางยุคสมัยที่ฟาโรห์อ่อนแอมากๆ นักบวชเหล่านี้ก็จะฉวยโอกาสยึดอำนาจราชบัลลังก์ไปเลย
ท่านผู้อ่านที่สนใจจะเดินทางเจาะลึกอียิปต์กับผม และ ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่ ซึ่งออกเดินทางเป็นซีรี่ส์ทัวร์ทุกเดือน ใกล้ที่สุดคือ 1 – 10 มีนาคม และ 10 – 19 เมษายน ติดต่อ 02 651 6900 หรือ 088 578 6666 หรือ ID Line 140924978
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ