ซอกซอนตะลอนไป (13 มกราคม 2561)
หิมะตกในทะเลทรายซาฮารา เป็นวิกฤติโลกจริงหรือ
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
ข่าวใหญ่ของสัปดาห์ที่แล้วที่ทำให้ทั่วโลกต้องตะลึง และ พรั่นสะพรึง ก็คือ ข่าวหิมะตกหนัก และ อุณหภูมิลดต่ำลงอย่างรวดเร็วในภาคตะวันออกของประเทศสหรัฐอเมริกา และ อีกหลายภูมิภาคของโลก
ต่อด้วยข่าวหิมะตกหนักในทะเลทรายซาฮารา ซึ่งเป็นทะเลทรายขนาดใหญ่กินพื้นที่ครอบคลุมหลายประเทศของอัฟริกาตอนเหนือ ตั้งแต่ภาคตะวันตกของอียิปต์เรื่อยไปทางตะวันตกจนถึงมอร็อคโค และทิศตะวันตกสุดของอัฟริกา
ข่าวหิมะตกนี้ ระบุว่าเกิดในประเทศอัลจีเรีย ที่อยู่ระหว่างประเทศลิเบีย และ มอร็อคโค
ด้วยประสบการณ์ในการเดินทางไปอียิปต์มานาน 30 ปี และ จากที่ได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องราวของอียิปต์มาตลอดเวลา ทำให้ผมไม่ค่อยรู้สึกตื่นเต้นกับข่าวนี้เท่าใดนัก
สำหรับท่านที่เคยเดินทางไปอียิปต์ หรือ เคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของอียิปต์มาบ้าง ก็คงจะพอทราบว่า ในประเทศอียิปต์แต่ไหนแต่ไรมา มีผู้คนอาศัยอยู่แต่เพียงพื้นที่แคบๆบนสองฝั่งแม่น้ำไนล์ที่ยาวประมาณ 1 พันกิโลเมตรเศษเท่านั้น
ถัดจากพื้นที่สีเขียวริมแน่น้ำไนล์ออกไปเพียงไม่กี่กิโลเมตรทั้งทางตะวันออก และ ตะวันตก ก็จะเป็นพื้นที่ทะเลทรายล้วนๆ
จึงเกิดคำถามในใจมานานแล้วว่า เหตุใด อารยธรรมโบราณที่ยิ่งใหญ่ของโลกจึงถือกำเนิดในดินแดนที่แสนจะแห้งแล้งแบบนี้
แห้งขนาดจะหาต้นไม้สักต้นยังยากเลย
ผมเคยพูดคุยเล่นๆกับ อาจารย์พิสิฐ เจริญวงศ์ อดีตผู้อำนวยการขององค์การสปาฟา (SEAMEO SPAFA) ตอนที่เราเดินทางไปอียิปต์ด้วยกันว่า หรืออารยธรรมอียิปต์โบราณที่เจริญรุ่งเรืองมายาวนานหลายพันปีต้องแลกมาด้วย การทำลายป่าไม้ทั้งหมดที่เคยหนาแน่นชุกชุมในบริเวณนี้มาก่อน
สมมติฐานของเราก็คือ ก่อนหน้าที่ชาวอียิปต์โบราณจะเข้ามาอาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้ ภูมิภาคนี้เคยอุดมสมบูรณ์มาก่อน แต่ชาวอียิปต์โบราณเอาแต่ตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเอามาสร้างความเจริญในแก่ตนเอง โดยไม่เคยคิดที่จะปลูกพืชทดแทนขึ้นมา จนทำให้พื้นที่ทั้งหมดกลายเป็นทะเลทราย
ซึ่งก็คงไม่ต่างอะไรกับสถานการณ์ในประเทศไทยทุกวันนี้ ที่ป่าไม้ที่เคยอุดมสมบูรณ์กลายเป็นเขาหัวโล้นไปจนหมด จนเกิดวิกฤติทางธรรมชาติ เช่น อากาศร้อนผิดปกติ ฝนตกมากกว่าปกติ น้ำป่าไหลทะลักผิดปกติ และ แผ่นดินแห้งแล้งผิดปกติ อีกด้วย
ซึ่งเราคงจะได้เห็นความหายนะอันเกิดจากภัยธรรมชาติในสหรัฐอเมริกา และ อีกหลายแห่งทั่วโลกเมื่อสัปดาห์แล้ว
แนวคิดนี้ก็มีโอกาสเป็นไปได้ สอดคล้องกับข่าวอีกข่างหนึ่งที่เกี่ยวกับการค้นพบของนักธรณีวิทยาท่านหนึ่งในทะเลทรายซาฮารา
นักธรณีวิทยา ท่านนี้ได้ค้นพบฟอสซิลของพืชจำนวนมากที่มีอายุย้อนหลังไปเมื่อนับหมื่นปีมาแล้วในพื้นที่กว้างใหญ่ดังกล่าว และสรุปว่า พ้นที่ดังกล่าวเคยเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่มาก่อน มีพืชพันธุ์นานาชนิดปกคลุมอย่างหนาแน่น และ มีสิ่งมีชีวิตมากมายอาศัยอยู่ในบริเวณนี้มาก่อน
แต่สาเหตุที่ทำให้พื้นที่ที่เคยเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ กลายเป็นทะเลทรายก็เพราะการเปลี่ยนแปลงของลมมรสุมที่เคยพัดผ่านพื้นที่แห่งนี้ เกิดหยุด หรือ เปลี่ยนทิศทางการพัดไปจากเดิม
ทำให้ความชุ่มชื้น และ น้ำฝนที่ลมมรสุมเหล่านี้เคยนำพามาตกในทะเลทรายซาฮารา ค่อยๆลดน้อยลงไปจนหายไปในที่สุด
หากปรากฎการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับประเทศไทย คือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ที่พัดมาจากทะเลอันดามัน เข้ามาสู่ประเทศไทย กับ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ที่พัดจากทะเลจีนผ่านเวียตนามเข้ามาสู่ประเทศไทยเกิดหยุดไปเมื่อใด
จำนวนน้ำฝน และ ความชุ่มชื้นในอากาศที่เคยเข้ามาสู่ประเทศไทยเป็นประจำสม่ำเสมอ ก็จะหายไป เมื่อนั้นแหละ ประเทศไทยก็คงจะค่อยๆเปลี่ยนสภาพกลายเป็นพื้นที่แห้งแล้งไปในไม่ช้า
และยิ่งคนไทยเอาแต่ตัดไม้ทำลายป่ากันอย่างไม่บันยะบันยังเช่นทุกวันนี้ ประเทศไทยก็คงจะกลายสภาพไปเป็นทะเลทรายซาฮาราในที่สุด
การที่ทะเลทรายซาฮาร่า เริ่มมีหิมะตกเป็นครั้งแรกในรอบเกือบครึ่งศตวรรษ แสดงให้เห็นว่า เริ่มมีความชุ่มชื้นเกิดขึ้นในบริเวณทะเลทรายแห่งนี้แล้ว และหากลมมรสุมที่นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า เคยพัดผ่านทะเลทรายซาฮาราเริ่มกลับมาพัดผ่านพื้นที่นี้อีกครั้ง
ไม่แน่ว่า ทะเลทรายซาฮารา อาจจะกลับมาเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ และเขียวขจีอีกครั้งก็ได้ เมื่อนั้น ผู้คนที่อาศัยอยู่ในทะเลทรายซาฮารา อาจจะต้องเดินทางมาดูทะเลทรายในประเทศไทย
ขออย่าให้เป็นจริงเถอะ เจ้าประคุณ