ซอกซอนตะลอนไป (24 กันยายน 2560 )
โรงพยาบาลเอกชนไทย ขุมทองของเจ้าของไร้เมตตา (ตอน4)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
ความผิดพลาดครั้งใหญ่ของประเทศไทย ก็คือ การให้ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์
ประการที่หนึ่ง เพราะธุรกิจที่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ เน้นการทำทุกวิถีทางที่จะให้ได้รายได้เข้ามาให้มากที่สุด โดยไม่ต้องสนใจวิธีการ เพื่อแบ่งเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นรายย่อย และ ส่งผลกำไรมหาศาลให้แก่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และ เจ้าของบริษัท
โดยไม่ต้องสนใจผลกระทบในด้านอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องจรรยาบรรณทางการแพทย์ และ ปฎิญญาที่แพทย์เคยให้ไว้ตอนเข้าเรียน และ ตอนที่สำเร็จการศึกษา
การขูดรีดอย่างไร้ความปรานี จึงเกิดขึ้น
เห็นได้ชัดจากยาที่โรงพยาบาลเอกชนสั่งจ่ายให้แก่คนไข้ ซึ่งบางรายการมีราคาแพงกว่าราคาที่ร้านขายยาตามท้องตลาดขายอยู่นับเป็น 10 ถึง 100 เท่า
อย่างเช่นราคาท้องตลาดขาย 1 พันบาท แต่โรงพยาบาลเอกชนจะขายในราคา 1 หมื่นกว่าบาท
อย่าลืมว่า ราคาที่ร้านขายยาทั่วไปขายอยู่นั้น ก็เป็นราคาที่มีกำไรอยู่แล้ว แต่โรงพยาบาลเอกชนก็ยังหน้าเลือดขูดรีดกันซึ่งๆหน้า ซ้ำบางครั้งก็ไม่ยอมให้คนไข้มีทางเลือกที่จะซื้อยาจากภายนอกโรงพยาบาลได้ด้วย
รัฐบาลเองได้ผ่านกฎหมายที่บังคับให้ร้ายขายยาทั่วไปจะต้องมีเภสัชกรควบคุม ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมทำให้ร้ายขายยาเหล่านี้ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น แต่รัฐกลับไม่ปกป้องร้านขายยาที่มีเภสัชกรควบคุมด้วยการกำหนดให้ นายแพทย์มีหน้าที่เพียงออกใบสั่งยาเท่านั้น แล้วให้สิทธิ์แก่คนไข้ที่จะเลือกซื้อยาที่ไหนก็ได้ เพราะร้ายขายยาทุกร้านต่างก็มีเภสัชกรควบคุมอยู่แล้ว
แต่รัฐบาลกลับยืนดูเฉยๆ ปล่อยให้โรงพยาบาลเอกชนเหล่านี้ ขูดเนื้อเถือกระดูกจากคนไข้อย่างไร้จรรยาบรรณ ซึ่งไม่ใช่ว่า คนไข้ทุกคนที่ไปโรงพยาบาลเอกชนจะร่ำรวยมีเงินทองเหลือเฝือ บางคนการเข้าโรงพยาบาลเพียงครั้งเดียวทำให้ครอบครัวล้มละลายเป็นหนี้เป็นสินไปตลอดชีวิตก็มี
ซึ่งธุรกิจชนิดอื่นๆไม่สามารถจะขูดเลือดขูดเนื้อแบบนี้ได้ ทั้งนี้เพราะลูกค้าของโรงพยาบาลเอกชนไม่มีสิทธิ์ที่จะต่อรองราคากับโรงพยาบาลได้เลย ทั้งๆที่ น่าจะทำได้
แต่สิ่งที่น่าเกลียดกว่านั้นที่ผมจะเล่าให้ฟังก็คือ ในกรณีที่ญาติผู้ป่วยเรียกรถพยาบาลมารับที่บ้าน นั่นคือจุดเริ่มต้นของการตกเป็นเหยื่อของโรงพยาบาลเอกชนที่ไร้คุณธรรม
กรณีนี้เกิดขึ้นกับโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังที่ผมได้พูดถึงมา 3 ตอนที่แล้ว
โดยปกติ เมื่อรถพยาบาลมารับคนไข้ พยาบาลที่มากับรถพยาบาลจะทำหน้าที่ตรวจวัดความดันโลหิต การเต้นของหัวใจ และ อื่นๆเท่าที่เครื่องมือในรถจะอำนวย
กรณีนี้เกิดขึ้นกับคนที่ผมรู้จัก คนไข้เข้ามาที่โรงพยาบาลเพราะเกิดอาการเหมือนไม่มีแรง เมื่อคนไข้มาถึงห้อง CCU ที่ดูแลคนไข้ใหม่ นายแพทย์คนหนึ่งเข้ามา แล้วก็ดูรายงานผลจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ แล้วหันมาพูดกับญาติคนไข้ว่า
“การเต้นของหัวใจก็ปกติดีนี่”
พยาบาลคนที่มากับรถพยาบาล รีบปรี่เข้ามาหาแพทย์ทันที และพยายามส่งสัญญาณอะไรบางอย่าง ทั้งขยิบตา และพูด
“ไม่ใช่นะหมอ หมอดูนี่ซิ”
เท่านั้นแหละ หมอก็เปลี่ยนเสียงไปทันที และ บอกคนไข้ว่า อื้มม อาจจะมีอะไรบางอย่างนะ
สรุปก็คือ คนไข้ต้องป่วยเป็นอะไรแน่นอน ส่วนจะเป็นอะไร ก็ตามแต่นโยบายของโรงพยาบาลเอกชนนั้นๆว่า จะขูดเลือดขูดเนื้อแค่ไหน จะต้องผ่อนส่งเครื่องมือแพทย์ชิ้นไหนที่ซื้อมากี่ล้าน กี่แสน
เรียกว่า แล้วแต่หมอจะให้คนไข้เป็นโรคอะไร ก็เป็นโรคนั้น
การที่ธุรกิจโรงพยาบาลเข้ามาเป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ในการระดมทุน ทำให้โรงพยาบาลมีโอกาสที่จะไปขอเข้ารับการส่งเสริมการลงทุน หรือที่เรียกว่า BOI
ทำไมต้องเข้า BOI
เพราะเมื่อเข้ารับการส่งเสริมการลงทุนแล้ว โรงพยาบาลเอกชนเหล่านี้ก็ได้รับการลดภาษีการนำเข้าเครื่องมือต่างๆมากมาย ซึ่งธุรกิจอื่นๆที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ จะไม่ได้รับการลดภาษีแบบนี้
แน่นอนว่า ธุรกิจโรงยาบาลที่เข้าตลาดหลักทรัพย์เรียบร้อยแล้ว เมื่อขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐ หน่วยงานส่งเสริมการลงทุนก็ย่อมต้องอนุญาตแน่นอน เพราะรู้ๆกันอยู่ว่า ธุรกิจโรงยาบาลเอกชนมีความมั่นคงอยู่แล้ว
เพราะเป็นธุรกิจเดียวในโลกนี้ ที่ผู้ซื้อไม่กล้าต่อรองราคา ในขณะที่ แผนกจัดซื้อของโรงพยาบาลเอกชนจะต่อรองราคากับคู่ค้าของตนเองอย่างเอาเป็นเอาตาย
รวมแม้กระทั่งเงินเดือนของพยาบาล หรือคนงานเล็กๆก็ตาม ก็ไม่ได้มีเงินเดือนสูงหรือพิเศษเพิ่มขึ้นตามราคาค่าห้องพัก และ ค่ารักษาพยาบาลที่แพงแสนแพงเลย
เพราะกำไรเหล่านี้ จะไปตกอยู่กับผู้ถือหุ้นรายย่อย และ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และ กรรมการบริหารที่เป็นเจ้าของธุรกิจ
ถ้ารัฐบาลไม่ควบคุมโรงพยาบาลเอกชน สังคมจะอยู่ลำบากมากยิ่งขึ้นในอนาคต
รออ่านตอนต่อไปสัปดาห์หน้าครับ