ซอกซอนตะลอนไป (17 กันยายน 2560)
โรงพยาบาลเอกชนไทย ขุมทองของเจ้าของไร้เมตตา (ตอน3)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
มีเพื่อนหลายคนถามผมว่า โรงพยาบาลเอกชนที่เขียนถึงนั้นชื่ออะไร
ขอเรียนว่า แม้จะมีเหตุการณ์ที่ไม่ดีเกิดขึ้นกับโรงพยาบาลเอกชนที่ว่า แต่เรื่องแบบนี้ สามารถเกิดขึ้นกับโรงพยาบาลเอกชนอะไรก็ได้เสมอ หากผู้บริหารโรงพยาบาลไร้ซึ่งมนุษยธรรม และ เมตตาธรรม
และไม่ได้หมายความว่า โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งจะเลวร้ายไปหมด ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลายประการที่ผมจะพูดถึงในตอนหลัง
หลังจากคนไข้ในกรณีที่ผมได้เล่าให้ฟังในตอนที่ 1 ขอย้ายออกจากโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังที่ว่านี้ หลังจากเข้าพักรักษาอยู่ 5 คืน โดยที่ไม่มีวี่แววว่าอาการของคนไข้จะดีขึ้นเลย ญาติของคนไข้บอกกับหมอว่า จะขอกลับไปเฝ้าดูอาการที่บ้าน
หมอทุกคนคัดค้าน แต่ก็ไม่เคยคิดว่า ทำไม คนไข้จึงขอย้ายออกหากโรงพยาบาลรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หมอทุกคน ยันถึงผู้จัดการโรงพยาบาล ต่างเวียนกันมาเกลี้ยกล่อม บางรายผสมขู่ให้คนไข้อยู่ในโรงพยาบาลต่อไป
หมอบางคนบอกว่า หากย้ายออกจากโรงพยาบาลไปแล้ว คนไข้เป็นอะไรจะไม่รับผิดชอบ
พูดเหมือนกับว่า หากคนไข้อยู่โรงพยาบาลแล้วเกิดเป็นอะไรไป หมอ กับ โรงพยาบาลจะรับผิดชอบยังงั้นแหละ ทั้งๆที่ สาเหตุที่คนไข้เช็คอินเข้าโรงพยาบาลนั้น คนไข้มีอาการนอนไม่หลับจนเกิดอาการเพ้อ แต่หมอก็ให้ยาแบบจิ๊บๆ ที่ไม่ช่วยในเรื่องนี้เลย เหมือนมีเจตนาจะเลี้ยงไข้ให้คนไข้อยู่ในโรงพยาบาลให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้
เมื่อคนไข้ เช็คเอ้าท์จากโรงพยาบาลหลังจากพักอยู่ในโรงพยาบาล 5 คืน บิลค่ารักษาพุ่งขึ้นไปเป็น หนึ่งแสนเจ็ดหมื่นกว่าบาท
หลังจากเช็คเอ้าท์จากโรงพยาบาลนี้แล้ว คนไข้ก็เดินทางต่อไปยังโรงพยาบาลเอกชนแถวแจ้งวัฒนะ และ ADMIT ที่นี่ เพื่อทำการรักษาต่อ
โดยรูปลักษณ์ภายนอกของโรงพยาบาลเอกชนทั้งสองแห่ง ย่อมเทียบกันไม่ได้เลยในแง่ความหรูหรา ความสุขสบาย ความน่าเชื่อถือ และต่างๆนานา หรือแม้กระทั่ง เครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ที่โฆษณากันอย่างมากมายว่าล้ำยุคล้ำสมัย
แต่คุณภาพของหมอ และ การใส่ใจอย่างแท้จริงของหมอในการดูแลคนไข้นั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่งจริงๆ
หลังจากพักรักษาตัวเองในโรงพยาบาลเอกชนแถวแจ้งวัฒนะ 7 คืน คนไข้ก็หายเป็นปกติ (อันที่จริงอาการของคนไข้ดีขึ้นตั้งแต่วันที่ 4 -5 แล้ว) สามารถนอนหลับได้ ทานอาหารได้ตามปกติ
บิลค่ารักษาของโรงพยาบาลแถวแจ้งวัฒนะคือ 58,000 บาท ทั้งๆที่มีการใช้เครื่องตรวจ MRI ด้วย
จะเห็นว่า ค่ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังในหมู่ไฮโซ สูงกว่าโรงพยาบาลเอกชนในระดับมาตรฐานถึง 3 เท่าตัวทีเดียว
แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ มาตรฐานการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนระดับธรรมดา กลับมีประสิทธิภาพสูงกว่าการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังเสียอีก เพราะหลังจากผู้ป่วยย้ายไปรักษาโรงพยาบาลเอกชนระดับมาตรฐานธรรมดา ก็สามารถฟื้นตัวและหายเป็นปกติได้ในเวลา 7 คืน
ทำให้เกิดสงสัยว่า รัฐบาลไม่มีการควบคุมราคาค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเลยหรืออย่างไร แล้วแต่จะตั้งราคาค่าบริการ และการรักษาให้สูงแพงขนาดไหนก็ได้หรืออย่างไร
จะว่าโรงพยาบาลเอกชนมีค่าใช้จ่ายสูงมาก จึงต้องคิดค่าบริการแพงก็ไม่ใช่ เพราะแม้โรงพยาบาลเอกชนแถวแจ้งวัฒนะ จะคิดค่ารักษาถูกกว่าโรงพยาบาลชื่อดังถึง 3 เท่า เขาก็ยังมีกำไร และกำลังขยับขยายต่อเติมอาคารอยู่ด้วยซ้ำ
รัฐบาลมีมาตรการในการควบคุมราคาสินค้าประเภทอุปโภค บริโภค เช่น ข้าวสาร เนื้อสัตว์ ไข่ น้ำมันพืช ซึ่งเป็นสินค้าพื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิต เพราะกลัวประชาชนเดือดร้อน
หรือแม้กระทั่ง เพิ่มอัตราภาษีให้สูงขึ้นมากๆแก่สินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน เช่น เหล้า บุหรี่ ทั้งๆที่ประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ดื่ม และ สูบ ก็ไม่ได้เดือดร้อน
แต่สำหรับธุรกิจโรงพยาบาล อัตราค่ารักษาของหมอในโรงพยาบาล และค่ายาในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นปัจจัยสี่ที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อชีวิตมนุษย์ รัฐบาลกลับไม่สนใจดูแล
ความผิดพลาดมันเกิดจาก กิเลสของมนุษย์ที่อยู่ในสถานะ และ ฐานะทางการเงินที่ได้เปรียบกว่าเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ มาอาศัยช่องว่างมาทำมาหากินบนความทุกข์ยากลำบากของเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง
และความผิดพลาดที่สำคัญของประเทศนี้ก็คือ การอนุญาตให้กิจการโรงพยาบาลเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ ยิ่งเท่ากับส่งเสริมให้มนุษย์ที่เต็มไปด้วยกิเลส สามารถโขกสับเพื่อนมนุษย์ที่กำลังตกยาก กำลังป่วยไข้ หรืออาจจะเรียกว่าปล้นทรัพย์ไปอย่างไรก็ได้ตามใจชอบ
ในไม่ช้า คนจน หรือ แม้แต่คนชั้นกลางจะต้องตายเพราะเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล เนื่องจากไม่มีเงิน หรือ ต้องเอาเงินที่หามาได้ทั้งชีวิตไปประเคนให้กับโรงพยาบาล และหมอ ที่ไร้คุณธรรม
เมื่อคุณธรรม และ จริยธรรม ของผู้เป็นเจ้าของโรงพยาบาลเอกชน และ นายแพทย์บางคนในโรงพยาบาลเอกชนที่เห็นเรื่องเงินเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในชีวิต
สัปดาห์หน้า ผมจะมาว่ากันถึงสถานะที่ได้เปรียบของชนกลุ่มนี้กัน
(ไม่มีภาพประกอบนะครับ)