ซอกซอนตะลอนไป (10 กันยายน 2560 )
โรงพยาบาลเอกชนไทย ขุมทองของเจ้าของไร้เมตตา (ตอน2)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
ระลึกไว้เสมอนะครับว่า อย่าเดินซุ่มสี่ซุ่มห้า เข้าไปตรวจร่างกายประจำปีกับโรงพยาบาลเอกชนราคาแพงๆเป็นอันขาด
มีเพื่อนของผมคนหนึ่ง อยู่ดีๆก็เดินเข้าไปในโรงพยาบาลชื่อดังที่ผมกำลังพูดถึงอยู่นี่แหละครับ เพื่อตรวจร่างกายประจำปี เพราะเจ้าตัวมีสตังค์ และ เป็นคนใส่ใจในสุขภาพ
เดี๋ยวนี้ โรงพยาบาลเอกชนจำนวนมาก มักจะสร้างแคมเปญโฆษณาเรียกคนให้เข้าโรงพยาบาลด้วยการตลาดลดราคาต่างๆนานา เช่น แพ็คเก็จการคลอดลูกราคาถูกแบบเหมาจ่าย ตรวจร่างกายประจำปีในราคาพิเศษ เหล่านี้เป็นต้น
จึงอาจจะเป็นสิ่งจูงใจให้คนปกติธรรมดาที่ไม่เคยมีอาการป่วยไข้ หรือ เคยรู้สึกถึงความผิดปกติของร่างกายแต่อย่างใด อยากจะตรวจสุขภาพขึ้นมา เพราะเห็นว่าโรงพยาบาลลดราคาเป็นพิเศษ
เพื่อนของผมคนนี้ก็เข้าไปตรวจร่างกายตามระบบของโรงพยาบาล เช่น ตรวจเลือด เอ็กซ์เรย์ปอด เหล่านี้เป็นต้น จนกระทั่งมาถึงตอนวิ่งบนสายพาน เพื่อตรวจการทำงานของหัวใจ
หลังจากหมอมาอ่านผลการทดสอบก็คงจะทำสีหน้าไม่ค่อยดี หรือ อาจจะส่ายหน้าอีกเล็กน้อย และบอกกับเจ้าตัวว่า ดูเหมือนจะมีการทำงานที่ผิดปกติของหัวใจที่อาจจะเป็นอันตรายต่อคนไข้ จึงขอให้คนไข้อยู่ต่อในโรงพยาบาลเพื่อเฝ้าดูอาการอย่างละเอียดต่อสักหน้อย
เพื่อนผมคนนี้เขามีสตังค์อย่างที่บอก ก็จึงยอมอยู่ต่อในโรงพยาบาลอีก 3 วันในห้องพักธรรมดาเพื่อเฝ้าดูอาการ แล้วผลการตรวจก็ปรากฏว่า ไม่พบอะไรที่เป็นอันตราย หมอจึงปล่อยตัวกลับบ้านไปพร้อมด้วยบิลค่าใช้จ่ายประมาณ 4 หมื่นบาทเศษ
เพื่อนอีกคนหนึ่งก็เช่นเดียวกัน อยู่ๆก็เดินดุ่มๆเข้าไปขอตรวจร่างกายประจำปีกับโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังโรงพยาบาลนี้อีก หลังจากตรวจร่างกายด้วยระบบอื่นๆเรียบร้อย ก็ต้องมาวิ่งบนสายพาน เพื่อตรวจการทำงานของหัวใจ
เมื่อหมออ่านรายงานการตรวจจากเครื่องวัดการทำงานของหัวใจแล้ว (ซึ่งคนทั่วไปไม่มีทางรู้ หรือ จะเถียงหมอได้เลย) ก็คงจะทำสีหน้าแบบเดียวกัน แต่จะส่ายหน้าหรือเปล่าไม่แน่ใจ แล้วก็พูดแบบเดียวกันว่า พบการทำงานที่ผิดปกติของหัวใจเล็กน้อย อยากให้คนไข้อยู่ต่อในโรงพยาบาลเพื่อเฝ้าดูอาการอีกสัก 3 – 4 วัน
หลังจากนอนพักในโรงพยาบาลอีก 3 วัน หมอก็บอกว่า หัวใจของคนไข้ปกติดี ให้กลับบ้านได้ พร้อมด้วยบิลค่าใช้จ่ายอีกประมาณ 4 หมื่นบาทเศษ
เสียเงินไปเปล่าๆ 4 หมื่นกว่าบาท
เพื่อนคนแรกของผมเป็นคนรูปร่างผอมบาง ตัวขาว บางครั้งดูหน้าแล้วอาจจะดูเหมือนหน้าซีด แต่เขาเป็นนักกีฬาแบดมินตันที่ตีแบดฯทุกวัน วันละอย่างน้อย 2 ชั่วโมง อาจเป็นเพราะเขามีใบหน้าขาวซีด จึงเป็นช่องให้หมอแนะนำให้เขาตรวจหัวใจต่อ
ส่วนคนที่สอง เป็นนักไตรกีฬา ที่ร่วมการแข่งขันเป็นประจำแทบทุกปี
ไตรกีฬาก็คือ กีฬาผสมผสานหลายชนิด ตั้งแต่วิ่งระยะทางไกล ว่ายน้ำ และ ปั่นจักรยาน รวมระยะทางก็คงจะเกิน 10 กิโลเมตรขึ้นไป คนธรรมดาที่ไม่เคยฝึกฝนเป็นประจำจะไม่สามารถทำได้เลย
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B8%AC%E0%B8%B2
(ลิ้งค์รายละเอียดของ ไตรกีฬา)
ถ้าเพื่อนสองคนนี้เป็นโรคหัวใจ หรือ หมอวินิจฉัยว่า หัวใจอาจจะทำงานผิดปกติ ผมว่า คนครึ่งโลกนี้คงจะต้องตายในไม่ช้าอย่างแน่นอน
เรื่องนี้ ทำให้ผมนึกถึงโปรโมชั่นของอู่รถยนต์ที่บอกว่า “บริการตรวจเช็คฟรี 10 รายการ” ขึ้นมาทันทีว่า แล้วอู่รถยนต์เหล่านี้ จะเอารายได้มาจากไหน
ได้ทราบมาตอนหลังว่า เมื่อตรวจเช็ค 10 รายการแล้ว ช่างก็จะบอกว่า อะไหล่ตัวนี้ชักจะมีเสียงแล้ว ตรงจุดนี้น่าจะต้องเปลี่ยนได้แล้ว ประมาณนี้ แล้วรายได้ของอู่รถยนต์ก็จะมาจากตรงนี้
จากที่เจ้าของรถยนต์คิดว่าจะได้ตรวจเช็คฟรี กลายมาเป็นต้องจ่ายเงินค่าอะไหล่อีกหลายชิ้น ทั้งๆที่อะไหล่บางชิ้นยังน่าจะใช้งานต่อไปได้อีกด้วยซ้ำ
ผมบังเอิญเพิ่งเจอข่าว “ปูไข่” ถึงกับต้องรีบหาย โชว์ใบค่ารักษาพยาบาลบ่นอุบ ค่าห้องแพงกว่าไปยุโรป” ผมไม่รู้ว่าเขาเป็นศิลปินทางด้านไหน แต่เห็นว่า ได้ออกมาร้องโอดครวญค่ารักษาของโรงพยาบาลที่แพงมากอีกรายหนึ่ง จึงเอาลิ้งค์มาให้ เผื่อว่าท่านผู้อ่านจะอยากรู้เรื่องราวเพิ่มเติม
https://www.khaosod.co.th/entertainment/news_500406
สถานการณ์แบบนี้ นายแพทย์ และ โรงพยาบาล (ที่คดโกง) ก็ไม่ต่างอะไรกับช่างเครื่องในอู่รถยนต์(ขี้โกง) แบบนี้เท่าไหร่นัก ในด้านจริยธรรม
ซึ่งเมื่อย้อนมามองเปรียบเทียบกับโรงพยาบาลรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลเล็ก หรือ โรงพยาบาลใหญ่แบบมีมหาวิทยาลัยแพทย์อยู่ในตัว จะเห็นว่า วิธีการจัดการกับคนไข้จะต่างกันอย่างชัดเจน
โรงพยาบาลรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะให้คนไข้ที่อาการดีขึ้น หรือ ไม่เป็นอะไรมากนักแล้ว รีบกลับบ้านให้เร็วที่สุด เพื่อว่าจะได้ไม่ต้องจ่ายเงินมาก และ จะได้มีเตียงว่างสำหรับคนไข้คนต่อไปที่มีความจำเป็นมากกว่า
และที่สำคัญ ไม่ว่าโรงพยาบาลรัฐฯ หรือ เอกชน ก็แล้วแต่ การที่คนปกติจะเข้าไปนอนพักโดยไม่จำเป็นนั้น มันเสี่ยงอันตรายมากกว่านอนอยู่ที่บ้านเป็นอย่างยิ่ง
เพราะต้องไม่ลืมว่า โรงพยาบาล เป็นแหล่งรวมของคนป่วย เป็นแหล่งรวมของเชื้อโรค ทั้งโรคที่ติดต่อด้วยการสัมผัส และ โรคที่แพร่กระจายไปในอากาศ
ไว้สัปดาห์หน้าจะมาว่ากันต่อครับ