แคทเธอรีน แห่ง เมดิชี่ กับ รองเท้าส้นสูง(ตอน3)

ซอกซอนตะลอนไป                           (6 สิงหาคม 2560 )

แคทเธอรีน แห่ง เมดิชี่ กับ รองเท้าส้นสูง(ตอน3)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               แล้ววันอภิเษกสมรสระหว่าง  แคทเธอรีน แห่ง เมดิชี่ กับ เฮนรี่ ดยุ๊ค แห่งออร์ลิออง(HENRY DUKE OF ORLEANS) ผู้เป็นรัชทายาทแห่งบัลลังก์ของฝรั่งเศส ก็มาถึงในปีค.ศ. 1533 

               ไม่มีการบันทึกภาพ  ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด หรือ ถ้อยบันทึกใดๆระบุว่า  รองเท้าส้นสูงที่บรรดาศิลปินของเมืองฟลอเรนซ์ ได้ออกแบบให้แคทเธอรีน แห่ง เมดิชี่ ใส่ไปงานอภิเษกสมรสกับ มกุฎราชกุมารของฝรั่งเศสนั้น  หน้าตาเป็นอย่างไร


(ใครใส่รองเท้ายกพื้นแบบนี้  มีสิทธิ์ตกลงมาคอหักตายได้)

               อาจเป็นไปได้ว่า   แฟชั่นชุดกระโปรงของสุภาพสตรีในยุคเรอเนสซองส์ของยุโรป  จะมีลักษณะเหมือนสุ่มไก่   ที่ยาวจนกรอมเท้า  ระไปตามพื้นห้องเมื่อเดิน  จึงไม่มีใครสามารถเห็นรองเท้าของแคทเธอรีนได้

               ผมจึงขอเอารูปภาพของรองเท้ายกพื้น  หรือ รองเท้าส้นสูงในยุคศตวรรษที่ 16  เรื่อยมา  มาลงให้ดูกัน  ซึ่งภาพเหล่านี้ก็ได้มาจากเว็บไซต์ต่างๆ   ก็ขอขอบคุณเจ้าของภาพเอาไว้ ณ.ที่นี้ด้วย


(เพื่อความสวย  ก็ต้องทนใส่)

               ว่ากันว่า  แคทเธอรีน แห่ง เมดิชี่ ในวันอภิเษกสมรสนั้น  ได้สร้างความตลกขบขันเฮฮาแก่บรรดาแขกเหรื่อทั้งหลายเป็นที่ยิ่ง   เพราะไม่ว่าเธอจะพยายามเดินให้ดีขนาดไหน   แต่การทรงตัวบนรองเท้ายกพื้นนั้น   เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย  แม้ว่าอาจจะมีการซักซ้อมสวมใส่มาก่อนอยู่บ้างก็ตาม  

               เธอจึงเดินไปในพิธีอย่างกระโดกกระเดก  กระปลกกระเปลี้ย  หรือ อาจจะถึงขั้นทรุด   แต่คาดว่า   น่าจะมีคนเดินข้างๆให้เธอเกาะแขนเอาไว้บ้าง  ทำให้ไม่ถึงกับถลาล้มลงไปกับพื้น


(แบบนี้  คนใส่จะทรงตัวยังไง)

               กระนั้นก็ตาม  ชาวฝรั่งเศสส่วนใหญ่กลับรู้สึกว่า   ท่าทางการเดินที่กระโดกกระเดก กระปลกกระเปลี้ย ของแคทเธอรีน  เป็นท่าทางที่น่ารักเอาการอยู่  จึงถือว่า  เธอสอบผ่านการยอมรับของบรรดาชนชั้นสูงของฝรั่งเศสไปได้


(รองเท้ายกพื้น  ทรงแปรงขัดห้องน้ำ)

               และทำให้รองเท้ายกพื้น หรือ  รองเท้าส้นสูง ได้รับความนิยมในหมู่ของชนชั้นสูงชาวฝรั่งเศสแทบจะในทันที  และต่อๆมา

               เมื่อลองสืบค้นประวัติศาสตร์ของรองเท้ายกพื้นก็ปรากฏว่า   อันที่จริงผู้คิดค้นรองเท้ายกพื้นเป็นชาติแรกหาใช่ศิลปินชาวฟลอเรนซ์ไม่    หากแต่เป็นชาวอียิปต์โบราณในยุคอาณาจักรใหม่เมื่อประมาณ 4 พันปีที่แล้ว 


(ทรงนี้เริ่มค่อยๆพัฒนาจนดูค่อยเป็นรองเท้าในยุคปัจจุบันสักหน่อย)

               ในสมัยอียิปต์โบราณนั้น   ผู้ที่สวมใส่รองเท้ายกพื้นส่วนมากจะเป็นพวกคนฆ่าสัตว์ หรือ คนแล่เนื้อ   ทั้งนี้   ก็เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เท้าของพวกเขาเปื้อนเลือดของสัตว์นั่นเอง

               รองเท้ายกพื้นกลับมาได้รับการนิยมอีกครั้งในยุโรป  ในสมัยของแคทเธอรีน แห่ง เมดิชี่  และ ราชินี แมรี่ ที่ 1 แห่งอังกฤษ(MARY I)  ในสมัยศตวรรษที่ 16


(หลังจากผ่านการพัฒนามาหลายสิบปี  รองเท้าส้นสูงในศตวรรษ ที่ 17 ก็ดูดีขึ้นมากทีเดียว)  

               แม้ว่าแคทเธอรีน จะสอบผ่านการยอมรับจากชาวฝรั่งเศส  และ  การแต่งงานของธอก็ได้รับการเรียกขานจากชาวฝรั่งเศส และ อิตาเลียนในยุคนั้นว่า   เป็นคู่สมรสที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ราวกับงานช้างชนช้างของศตวรรษทีเดียว   เพราะผู้ที่เป็นพ่อสื่อแม่สื่อฝ่ายเจ้าสาวก็คือ สันตะปาปา คลีเมนต์ ที่ 7(POPE CLEMENT VII) และ  กษัตริย์ ฟรังซัวส์ ที่ 1 แห่งฝรั่งเศส ฝ่ายเจ้าบ่าว 

               ต้องไม่ลืมว่า   สันตะปาปา คลีเมนต์ที่ 7 ก็คือ สมาชิกคนหนึ่งของตระกูลเมดิชี่  เครือญาติใกล้ชิดของแคทเธอรีน นั่นเอง


(เปรียบเทียบรองเท้าในยุคศตวรรษที่ 17 -18  กับรองเท้าในยุคหลังๆนี้)

               ทว่า  ความรักของคนทั้งสองไม่ราบรื่นเลยตลอดชีวิตการแต่งงาน   สาเหตุหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะอายุของทั้งสองเท่ากัน  ก็คือ 14 ปีทั้งคู่ในวันแต่งงาน   แต่ที่สำคัญ  และ  เป็นปัญหาทำให้ชีวิตคู่ของทั้งสองไม่ราบรื่นเลยก็คือ 

               ก่อนหน้าที่เฮนรี่ จะมาแต่งงานกับ แคทเธอรีน นั้น    เขาถูกจองจำอยู่ในคุกที่เมืองมาดดริด ประเทศสเปน ในฐานะตัวประกัน   จึงทำให้เขามีความหยาบคาย และ สถุน ในจิตใจ


(เลดี้ ไดแอน เดอ ปัวเตียร์ส)

               ด้วยความเจตนาดีของ พระเจ้าฟรังซัวส์ ผู้พ่อ ที่ต้องการจะให้โอรสของพระองค์มีมารยาทแบบชนชั้นสูง   พระองค์จึงแนะนำ ไดแอน เดอ ปัวเตียร์(DIANE DE POITIERS) สาวสวยรุ่นใหญ่ที่ขณะนั้นอายุ 20 ปีให้มาเป็นพี่เลี้ยงของเฮนรี่   ด้วยหวังว่า  ไดแอนจะช่วยสอนมารยาทที่ดีแบบชนชั้นสูงของฝรั่งเศาให้แก่ลูกชายของตัวเอง 

               ไดแอน สาวรุ่นใหญ่ไฟแรง  มาเจอหนุ่มน้อยไก่อ่อนแบบ เฮนรี่ มีหรือจะรอดพ้นเงื้อมมือของเธอไปได้

               สุดท้าย   เฮนรี่ ก็ยกฐานะของ ไดแอน เดอ ปัวเตียร์ มาเป็นมเหสีลับของพระองค์  และ ผลักแคทเธอรีน ออกไปจากแวดวงราชการงานเมืองของพระองค์โดยสิ้นเชิง 

               แม้บทบาทของแคทเธอรีน ในช่วงที่เฮนรี่ เป็นกษัตริย์แห่งฝรั่งเศส จะมีไม่มาก   แต่หลังจากนั้น   พระนางก็มีบทบาทอย่างสูงในวันที่โอรสของเธอก้าวขึ้นมามีอำนาจ  จนทำให้เกิดเรื่องร้ายๆในประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส  จนเป็นรอยด่างจนทุกวันนี้

               โอกาสหน้าจะนำมาเล่าให้ฟังครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *