ซอกซอนตะลอนไป (14 พฤษภาคม 2560 )
อุ่นเครื่องอียิปต์ก่อนแฟม ทริป(ตอน3)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
เมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว ผมได้มีโอกาสนำคณะนักท่องเที่ยว ของ บริษัท ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่ ไปเที่ยวอียิปต์ตามโปรแกรม อียิปต์- ท่องแดนฟาโรห์ โดยมี ดร.พิสิฐ เจริญวงศ์ อดีตผู้อำนวยการองค์การสปาฟา หรือ SEAMEO Regional Centre for Archaeology and Fine Arts ให้เกียรติเป็นผู้บรรยายชม
อาจารย์พิสิฐ และ ผม มีเรื่องฉงนสงสัยเหมือนกันอยู่เรื่องหนึ่งก็คือ ทำไม่ อารยะธรรมอียิปต์โบราณ จึงรุ่งเรืองอยู่ในแผ่นดินที่แห้งแล้งเป็นทะเลทราย แทบจะหาต้นไม้ไม่ได้เลยสักต้น
ต้นไม้ที่พบมาก็คือ สามเหลี่ยมดินแดงปากแม่น้ำไนล์ และ ริมฝั่งแม่น้ำไนล์เท่านั้น
และเป็นเรื่องที่น่าฉงนสงสัยอีกด้วยว่า ทำไม สถานที่เที่ยวชมในอียิปต์จึงมีเพียง วิหาร สุสาน และ สิ่งก่อสร้างที่ทำด้วยหินขนาดใหญ่เพื่อใช้เป็นที่ฝังศพ เช่น พีระมิด หรือ หุบผากษัตริย์ เท่านั้น
ทำไม เราจึงไม่เห็นพระราชวังของฟาโรห์เลย แม้แต่สักหลังเดียว
จากหลักฐานทางธรณีวิทยาที่มีการค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ในทะเลทราซาฮารา ที่อยู่ทางด้านตะวันตกของประเทศอียิปต์ระบุว่า พื้นที่แห่งนี้เมื่อนับหมื่นปีที่แล้ว เคยเป็นทะเลสาบที่อุดมสมบูรณ์มาก่อน
นอกจากนี้ ยังค้นพบซากของพืชพันธุต่างๆมากมาย ที่เคยขึ้นอยู่ในบริเวณแถบนี้อีกด้วย
เป็นการย้ำว่า ในพื้นที่ประเทศอียิปต์ปัจจุบัน หรือ แม้แต่ในทะเลทรายซาฮารา ล้วนเคยเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์อย่างยิ่งมาก่อน จนเกิดชุมชนเมืองขึ้นในภายหลัง
ชุมชนเมืองของชาวอียิปต์โบราณเมื่อประมาณ 6000 – 7000 ปีที่แล้ว และ ชุมชนที่มีอายุเก่าแก่มากกว่านั้น ต่างก็เคยใช้ไม้เป็นวัสดุในการก่อสร้างที่อยู่อาศัยของตนเองมาก่อน
ใครที่มีโอกาสไปชม พีระมิดแบบขั้นบันไดซัคคารา(SAQQARA) ซึ่งเป็นสุสานของฟาโรห์โซเซอร์ (DJOSER) จากราชวงศ์ที่ 3 ของอียิปต์โบราณ ที่มีอายุประมาณ 4687 ปีแล้ว ก็จะเห็นหลักฐานการใช้ไม้ในการก่อสร้างของยุคก่อนหน้านั้น
ถ้าจะพูดให้เห็นภาพว่า ซัคคารา มีความเก่าแก่แค่ไหน ก็ต้องบอกว่า ในขณะที่ ซัคคารา มีอายุ 4687 ปีนั้น กรุงโรมจะมีอายุเพียงประมาณ 2800 ปีเท่านั้นเอง
นักอียิปต์ศาสตร์ระบุว่า ซัคคารา เป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ทำด้วยหินเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์อียิปต์โบราณ ออกแบบโดย อิมโฮเทป (IMHOTEP) ซึ่งมีฐานะเหมือน นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ออกแบบสร้าง
ก่อนหน้ายุคของอิมโฮเทป การก่อสร้างส่วนใหญ่เข้าใจว่าจะใช้ไม้เป็นหลัก
ดังนั้น อิมโฮเทป จึงยังรู้สึกผูกพัน ถวิลหา และ ยังจดจำภาพสิ่งก่อสร้างที่ทำด้วยไม้อยู่ในใจ และนำมาถ่ายทอดเป็นการก่อสร้างที่ทำด้วยหินของเขา
บริเวณซุ้มทางเข้าของซัคคารา ที่เป็นทางเดินแคบๆ กว้างประมาณหนึ่งเมตรเศษๆ มีเพดานที่ทำด้วยหินรูปทรงโค้งครึ่งวงกลม ซึ่งนักอียิปต์ศาสตร์ระบุว่า สร้างด้วยเจตนาเลียนแบบเพดานที่ใช้ต้นไม้ หรือ ต้นซุงมาวางเรียงกัน
นอกจากนี้ ถัดจากซุ้มทางเดินนี้เข้าไป ก็จะพบประตูปลอมที่สร้างเลียนแบบประตูไม้ ที่เปิดปิดโดยยึดกับกำแพงด้วยบานพับแบบเดียวกับบ้านไม้ในปัจจุบันนี้
เพียงแต่ประตูที่นี่ทำด้วยหิน ไม่สามารถเปิดปิดได้ จึงเป็นเสมือนการจำลองภาพประตูไม้เอาไว้เฉยๆเท่านั้น
บนทางเดินที่เชื่อมไปสู่ลานกว้างของพีระมิดแบบขั้นบันได มีเสาขนาดใหญ่ประมาณ 20 ต้น เรียงรายอยู่สองข้างทางเดิน มีลักษณะเหมือนการเอาต้นไม้ขนาดเล็กกว่าต้นมะพร้าวมามัดรวมกันเป็นเสาเพื่อรับน้ำหนักส่วนที่เป็นเพดานและหลังคา
นักอียิปต์ศาสตร์ สันนิษฐานว่า อิมโฮเทป สร้างเลียนแบบเสาที่ทำด้วยไม้ที่เขาเคยเห็นมาก่อน
ผมถึงบางอ้อทันทีว่า เสาที่สวยงามในวิหารของกรีก ที่ทำเป็นทรงเว้าเข้าที่เรียกว่า FLUTING นั้น น่าจะได้แนวคิดมาจากเสาของอียิปต์โบราณ เพียงแต่แทนที่จะนูนขึ้นมา ก็กลับเว้าเข้าไปแทน
ก็สวยไปคนละแบบ
สนใจเดินทางไปชมอียิปต์ กับ ไอยคุปต์ คอนซอร์เตี้ยม ติดต่อได้ที่ทุกเอเยนต์ที่คุณรู้จัก
ว่าจะเล่าเรื่องทำไมจึงไม่เหลือพระราชวังของอียิปต์โบราณให้เห็นแม้แต่แห่งเดียว แต่ก็ไถลไปเล่าเรื่องอื่นเสียนี่ สัปดาห์หน้ามาว่ากันต่อครับ