ระเบียบการสอบใบขับขี่ใหม่ ใครได้ประโยชน์(ตอน2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (9 เมษายน 2560 )

ระเบียบการสอบใบขับขี่ใหม่ ใครได้ประโยชน์(ตอน2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               แม้ว่า  กรมการขนส่งจะยกเลิกนโยบายให้อบรมผู้สอบใบขับขี่ 5 – 15 ชั่วโมง และ ให้โรงเรียนสอนขับรถยนต์เข้ามาร่วมในการสอบใบขับขี่ด้วยแล้วก็ตาม   แต่สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้  เป็นเรื่องหลักการของการสอบใบขับขี่  ซึ่งอยากจะกรมการขนส่งทางบกได้พิจารณา

               หลักการการสอบใบขับขี่นั้น  หากเจ้าตัวสามารถสอบข้อเขียนผ่าน  และ สอบการขับขี่ยานพาหนะผ่านแล้ว  การที่กรมการขนส่งทางบกจะออกกฎให้ต้องอบรมต่อไปอีก 4 หรือ 5 ชั่วโมง หรือจนถึง 15 ชั่วโมง   เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

               เพราะหากเขาสอบผ่านทั้งข้อเขียนและภาคปฎิบัติผ่าน   ก็หมายความว่า  เขามีคุณสมบัติเพียงพอแล้วที่จะได้รับใบขับขี่ที่รัฐฯออกให้เพื่อยืนยันว่า   เขามีความสามารถที่จะขับขี่รถยนต์บนถนนตามกฎจราจร 

               หากกรมขนส่งทางบกต้องบังคับให้ผู้สอบใบขับขี่ผ่าน  ต้องเข้าอบรมอีก  ก็แสดงว่า  การสอบใบขับขี่ไม่มีความหมาย  หรือ  ไม่มีประโยชน์  

               ถ้าเช่นนั้น  ทำไมกรมขนส่งทางบกจึงไม่กำหนดให้ผู้ขอมีใบขับขี่เข้าอบรมเพียงอย่างเดียวก็ผ่านได้  โดยไม่ต้องสอบ  จะเอาสัก 100 –200 ชั่วโมงก็ว่ากันไป

               ยิ่งมีความพยายามจะดึงเอาโรงเรียนสอนขับขี่รถยนต์เข้ามาร่วมอีก  ก็ยิ่งทำให้รู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากลเพิ่มขึ้น   ทำให้นึกถึงการทำหนังสือเดินทางของประเทศไทยเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว


(หนังสือเดินทางของไทย)

               หลายท่านอาจจะลืมไปล้วว่า  การทำหนังสือเดินทางในยุคนั้น   ทุกคนต้องไปให้ตำรวจสันติบาลสอบประวัติเสียก่อน  แล้วจึงเอาหลักฐานต่างๆไปยื่นขอมีหนังสือเดินทางที่กระทรวงต่างประเทศ  ซึ่งจะมีคนไปเข้าคิวยาวเหยียดเพื่อทำหนังสือเดินทางกัน   

               ซึ่งต้องใช้เวลาเป็นวันกว่าจะเรียบร้อย

               แต่คนจำนวนมาก สามารถมีหนังสือเดินทางได้โดยที่ไม่ต้องไปให้สันติบาลสอบประวัติ และ ไม่ต้องไปกระทรวงการต่างประเทศเองด้วยซ้ำ 

               คิดดูแล้วกันว่า  จะมีเงินใต้โต๊ะสะพัดกันมากขนาดไหน 

               ผมไม่เข้าใจว่า  กรมขนส่งทางบกคิดอย่างไรจึงต้องการเปลี่ยนแปลงระเบียบการสอบใบขับขี่  ให้ลำบากมากขึ้นอย่างไร้เหตุผล   โดยไม่หันไปดูประเทศที่เจริญแล้วเขาทำกัน 

               เพราะประเทศที่เจริญแล้ว เช่น อเมริกา  เขาสอบใบขับขี่ง่ายมาก(ตามที่ผมได้เขียนไปในตอนที่แล้ว)   ก็สามารถขอใบขับขี่สากลมาขับรถในประเทศไทยได้ กลายเป็นว่า  คนไทยกลายเป็นพลเมืองชั้นสองในเรื่องใบขับขี่ไปซะงั้น 

               ดูเหมือนว่า  ธงของกรมการขนส่งทางบกที่คิดเอาไว้แต่แรกก็คือ  อุบัติเหตุทั้งหลาย  เกิดจากคนขับรถที่เพิ่งได้ใบขับขี่มาใหม่ๆ  ก็อยากจะรู้ว่า  กรมขนส่งทางบกมีสถิติ หรือ ข้อมูลอะไรที่บ่งบอกว่า  อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจากผู้ที่เพิ่งได้ใบขับขี่มาหมาดๆ

               กรมขนส่งทางบก  น่าจะหันไปสนใจคิดป้องกันอุบัติเหตุอย่างเป็นระบบจะดีกว่า   เช่น  ตรวจสอบการจัดวางป้ายสัญญาณจราจรตามถนนให้ครบถ้วน  และ ควรหมั่นออกตรวจตราหากมีกิ่งไม้งอกออกมาบังป้ายเหล่านี้จะมองไม่เห็น 


(เครื่องหมายจราจร ที่จะต้องเห็นได้ชัดเจนบนถนน  เพื่อเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ)

               นอกจากนี้  ยังจะต้องพิจารณาเลือกวางในจุดที่เหมาะสม  เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของทั้งผู้ขับรถ และ คนเดินถนน  

               การวางจุดสัญญาณจราจรที่เหมาะสมนั้น  เท่าที่เห็นในซอยสังคมสงเคราะห์ตรงสามแยกตัดกับถนนสุคนธ์สวัสดิ์ ไม่มีสัญญาณไฟจราจร ทั้งๆที่รถราคับคั่ง  ต่างคนต่างไม่ยอมกัน  จะทำให้จราจรติดขัดอย่างไม่ควรจะเป็น

               แต่ถัดออกไปประมาณ 20 เมตร กลับมีสัญญาณไฟแดงให้คนข้ามถนน ทั้งๆที่ไม่มีคนใช้มากจนต้องมีไฟสัญญาณ

               เข้าใจว่า  คนที่ขอสัญญาณไฟจราจรตรงจุดนี้  คงจะเส้นใหญ่มาก 

               กรมขนส่งทางบกน่าจะกวดขันเรื่องรถบัสสองชั้นที่ไม่ได้มาตรฐานมาเป็นเวลาช้านาน  จนก่อให้เกิดอุบัติเหตุมากมาย

               กรมขนส่งทางบก น่าจะอออกตรวจตรารถแท็กซี่ที่ไม่ดีรับการต่ออายุทะเบียนที่ออกหากินในตอนกลางคืน   และ จัดการพวกแท็กซี่ที่ไม่ยอมรับผู้โดยสารให้มีโทษหนักขึ้น  

               กรมขนส่งน่าจะตรวจตรารถบรรทุก 6 ล้อ  ที่ดัดแปลงกระบะบรรทุกให้ใหญ่จนมีขนาดเท่ากับรถบรรทุก 10 ล้อ

               กรมขนส่งทางบก  น่าจะเข้าไปควบคุมดูแล  และ ออกมาตรการความปลอดภัยในเรื่องการสร้างสะพาน  ไม่ให้มีคอสะพาน  เพราะคอสะพานเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุหลายต่อหลายครั้ง

               หรือ หากจะช่วยกวดขันรถซาเล้งที่ดัดแปลงสภาพด้วยการติดเครื่องยนต์  จนเหมือนรถจักรยานยนต์ที่ออกวิ่งกันเกลื่อนว่า   กรมขนส่งอนุญาตให้ออกมาวิ่งได้อย่างไร


(อุบัติเหตุบนท้องถนน  ที่เกิดขึ้นโดยมีรถมอเตอร์ไซด์มีส่วน)

               สุดท้าย  กรมขนส่งทางบก  น่าจะต้องร่วมกันกับตำรวจจราจร กำหนดให้ชัดเจนว่า  จักรยานยนต์จะต้องวิ่งอย่างไรบนถนน  ต้องวิ่งในเลนไหน   เพราะทุกวันนี้  จักรยานยนต์เป็นตัวป่วนที่วิ่งแทรกซ้ายป่ายขวา  จนเกี่ยวชนกระจกมองข้างของรถยนต์จนหักแล้วขับหนีไปอย่างไม่ใยดี

               จัดการเรื่องพวกนี้ให้เรียบร้อยก่อนเถอะ  ค่อยมายุ่งกับเรื่องเปลี่ยนแปลงวิธีสอบใบขับขี่

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้า  สวัสดีครับ

               สำหรับท่านที่สนใจเดินทางท่องเที่ยว โตเกียว – ไหว้พระใหญ่คามาคุระ  –  เกียวโต- นาโกยา – โอซากา  ชมพิงค์มอส และ ดอกวิสทีเรีย กับผม  ที่พักดี  อาหารเลิศ  ระหว่างวันที่ 9 – 15 พฤษภาคม นี้  โทรสอบถามรายละเอียด และ สำรองที่นั่งโทร 02 6516900   

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *