ร้านซักรีดที่ใหญ่ที่สุดในโลก(ตอน2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (17 กุมภาพันธ์ 2560)

ร้านซักรีดที่ใหญ่ที่สุดในโลก(ตอน2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ลานซักผ้า มหาลักษมี โดบี กาด มีคนทำงานประมาณ 1 พันคน  เริ่มงานกันตั้งแต่เช้ามืด   ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่มีพื้นเพ หรือ อาศัยอยู่ในสลัมแห่งนี้

               นอกจากนั้น  ก็อาจจะเป็นคนที่มาจากถิ่นอื่น   ซึ่งมักจะเข้ามาอาศัยอยู่ในห้องพักแคบๆในสถานที่ซักผ้าแห่งนี้ โดยที่ไม่ต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน   แต่คนเหล่านี้ต้องหาอาหารการกินของตนเอง  ส่วนใหญ่มักจะร่วมกันลงขันทำอาหารมาแบ่งกันทานในหมู่ของคนงาน

               ค่าแรงขั้นต้นของคนงานเหล่านี้จะตกประมาณเดือนละ 8000 รูปี หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 4000 บาท ซึ่งอยู่ยากมากในเมืองใหญ่อย่างมุมไบหากจะต้องเช่าบ้านอยู่เอง    

               แต่ละวันจะมีผ้าส่งเข้ามาซักประมาณหลายพันชิ้น บางวันอาจจะถึงหมื่นชิ้น  ซึ่งทำให้คนงานเหล่านี้จะต้องเริ่มทำงานตั้งแต่เช้ามืด  เพราะจะต้องอาศัยแสงแดดในการตากผ้าด้วย 


(อาณาบริเวณของสถานที่ซักผ้าแห่งนี้  ที่ซักผ้าได้วันละหลายพันตัว จนถึงหมื่นชิ้น)

               ตอนที่ผมไปถึงสถานที่ซักผ้าแห่งนี้ตอนประมาณ 11 โมง  ก็เหลือคนงานที่ยังซักผ้าอยู่ไม่มากนักแล้ว

               เมื่อซักผ้าเสร็จเรียบร้อย  ก็จะต้องแขวนบนเชือกเพื่อตากแดด

               ลองหลักตานึกภาพดูนะครับว่า  ถ้าหากจะต้องใช้ไม้หนีบผ้าละก้อ  ก็คงจะต้องมีที่เก็บไม้หนีบผ้าเป็นถังขนาดใหญ่ทีเดียว


(ใช้เชือกสองเส้นมาพันกันแล้วบิดเป็นเกลียว  แค่นี้ก็ไม่ต้องใช้ไม้หนีบผ้า)

               แต่ด้วยวิธีการเอาเชือกขนาดเท่านิ้วก้อยมาพันบิดเป็นเกลียว  แล้วเอาเสื้อผ้าสอดเข้าไปในในร่องเกลียวของเชือก  ก็สามารถแขวนเสื้อผ้าได้นับร้อยตัวโดยไม่ต้องใช้ไม้หนีบผ้าแม้แต่อันเดียว 

               นั่นเป็นวันที่แดดดีเท่านั้น

               แต่ภาคใต้ของอินเดีย มีช่วงมรสุมระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนกรกฎาคม ของทุกปี  ซึ่งจะทำให้มีฝนตกชุกมาก   แดดแทบจะไม่เห็น  จึงเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะทำให้ผ้าแห้ง


(ผ้าที่ซักน้ำสะอาดเรียบร้อย  ก็เอาเข้าขึ้นสลัดน้ำ  ทำให้ไม่เสียเวลาตากนาน)

               ไม่ทราบว่าเมื่อหลายสิบปีก่อนนั้น  เขาตากผ้ากันอย่างไรให้แห้งในช่วงมรสุม   แต่ในปัจจุบัน   เขามีเครื่องอบผ้าใช้แล้ว  ทำให้งานซักผ้าสะดวกมากขึ้น


(นอกจากเอาผ้าฟาดกับก้อนคอนกรีตแล้ว  ยังมีการลงแปรงก่อนด้วย)

               ท่านผู้อ่านคงอยากรู้แล้วว่า  เขาคิดค่าซักรีดอย่างไร 

               จากคำอธิบายของหัวหน้าสถานซักผ้าแห่งนี้บอกว่า   อัตราค่าซักรีดผ้าสำหรับเสื้อจะอยู่ที่ 10 รูปี หรือประมาร 5 บาทต่อชิ้น  กางเกงตัวละ 10 รูปี  สำหรับส่าหรีซึ่งยาวประมาณ 7 เมตรราคา 50 รูปี

               เป็นที่พึ่งสำหรับชนชั้นกลางลงมาของชาวเมืองมุมไบ ที่ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อหารายได้ให้ครอบครัว  จนไม่มีเวลาที่จะซักผ้า


(น้ำที่ใช้ซักผ้า  ดูแล้วสยอง)

               แม้ว่า  ภาพที่เห็นจากสถานที่ซักผ้าแห่งนี้จะไม่น่าดูนัก  เช่น  น้ำที่ซักดูเหมือนจะมีสีคล้ำ ดำ จนถึงสกปรก ซ้ำคนซักผ้าก็ยังใช้เท้าเหยียบย่ำบนเสื้อผ้าอีกด้วย   แต่จากที่เห็น  เสื้อผ้าสีขาวที่แขวนบนราวตากผ้า  ก็ยังแลดูขาวนวลมาก

               ขาวนวลจนอดประหลาดใจไม่ได้ 

               แน่นอนว่า   ลานซักผ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกของเมืองมุมไบแห่งนี้  ซึ่งดำเนินธุรกิจมานานกว่าร้อยปีแล้ว  ก็จะยังคงเป็นที่พึ่งของคนชั้นกลางของอินเดียไปอีกนาน

               ดูแล้วอดรู้สึกไม่ได้ว่า   โชคดีที่เกิดเป็นคนไทย

               สวัสดีครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *