ซอกซอนตะลอนไป (2 กันยายน 2559 )
ก่อนจะมาเป็นกีฬาโอลิมปิค(ตอน 1)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
กีฬาโอลิมปิค ซึ่งคณะกรรมการโอลิมปิคสากล พยายามสร้างภาพว่า “เป็นกีฬาแห่งมวลมนุษย์ชาติ” ครั้งที่ 31 ระหว่างวันที่ 5 – 21 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ในประเทศบราซิล ได้ปิดฉากลงแล้ว
นับว่าเป็นกีฬาโอลิมปิคครั้งที่ล้มเหลวที่สุด ทั้งในแง่จำนวนผู้ชม รายได้ และ ความโปร่งใส
แต่วันนี้ผมจะเขียนถึงเรื่องราวความเป็นมาของกีฬาโอลิมปิคเท่านั้น
ก่อนอื่น เราจะต้องเข้าใจถึงจิตวิญญาณของชาวกรีกโบราณเสียก่อน จึงจะสามารถเข้าถึงกีฬาโอลิมปิคที่ชาวกรีกได้คิดขึ้น
“จงเป็นเลิศ และไม่เป็นรองใคร” เป็นคำกล่าวของ เพลิอุส (PELEUS) ผู้เป็นบิดาของ อาคิเลส(ACHELES) ซึ่งร่วมเดินทางไปรบในสงครามโทรแจน ที่กรุงทรอย
โฮเมอร์ ได้เขียนเรื่องสงครามทรอย ในมหากาพย์ “อีเลียด” และได้สะท้อนจิตวิญญาณของชาวกรีกโบราณออกมาได้อย่างชัดเจน
จิตวิญญาณที่กระหายจะเป็นหนึ่งในทุกการแข่งขัน
และในการศึกสงคราม เมื่อมีนักรบจำนวนมากเสียชีวิต ชาวกรีกจะหยุดการรบไว้ชั่วคราวเพื่อจัดการแข่งขันกีฬาขึ้นมาเป็นเกียรติแก่นักรบเหล่านั้น
อะคิเลส ก็เคยจัดการแข่งขันที่ว่า เพื่ออุทิศให้แก่ พาโทรโคลส (PATROKLOS) สหายของเขา
ว่ากันว่า นี่คือต้นเค้าความคิดของกีฬาโอลิมปิค แต่ไม่ใช่เหตุผลเดียว เพราะการเล่นกีฬานั้น ไม่ใช่กรีกเป็นชาติแรกที่เริ่มเล่นกีฬา หากเราย้อนดูประวัติศาสตร์ก็จะเห็นว่า ในอียิปต์โบราณมีประเพณีที่คล้ายกับการต่อสู้ หรือ ออกกำลังกายในสนามกีฬา ซึ่งมีมาก่อนกรีกหลายพันปี
ประเพณีนี้ อียิปต์โบราณเรียกว่า เฮบเสด (HEB SED) ซึ่งเป็นประเพณีที่แสดงให้ประชาชนเห็นว่า ฟาโรห์ของพวกเขา ยังมีสุขภาพแข็งแกร่ง และมีความสามารถพอที่จะครองราชย์ต่อไปได้อีก
ประเพณีที่ว่านี้ก็คือ ฟาโรห์จะลงไปต่อสู้กับวัวกระทิงในสนามหลังจากครองราชย์มาแล้ว 29 หรือ 30 ปี หากฟาโรห์สามารถเอาชนะวัวกระทิงได้ ก็แสดงว่า พระองค์จะได้ครองราชต่อไปได้ หลังจากนั้น ก็จะต้องทำพิธีนี้อีกในทุกๆ 3 ปี
ว่ากันว่า ก่อนการต่อสู้กับวัวกระทิง อาจจะมีการวางยา หรือ มอมให้วัวกระทิงเมาเสียก่อน เพื่อฟาโรห์จะสามารถเอาชนะได้โดยไม่ยาก
ท่านที่สนใจจะเดินทางไปกับผม เพื่อไปชมสนามสู้กระทิง ในพิธี เฮบ เสด ดังกล่าวในอียิปต์ ระหว่างวันที่ 3 -13 ธันวาคมนี้ เชิญสำรองที่นั่งได้ที่ บริษัท ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่ โทร 02 651 6900
ประเพณีดังกล่าวนี้ ได้รับเผยแพร่ไปยังแผ่นดินกรีก ผ่านทางนักรบรับจ้างชาวกรีกที่มารบในอียิปต์โบราณ จนกลายเป็นประเพณีกระโดดวัว (BULL LEAPING) ในหมู่ชาวกรีก
ภาพกีฬากระโดดวัวนี้ จะเห็นได้มากบนเครื่องถ้วยโบราณของกรีก และ ภาพเขียนฝาผนังในพระราชวัง นอสซอส บนเกาะครีต ซึ่งอยู่ประมาณครึ่งทางระหว่างอียิปต์ กับ กรีซ
นอกจากกีฬากระโดดวัวแล้ว ภาพเขียนจำนวนมากบนเกาะครีตยังแสดงถึงกีฬาที่ได้รับความนิยมในสมัยนั้นอีกหลายชนิด เช่น กีฬาประเภทยิมนาสติค กีฬาชกมวย และ กีฬามวยปล้ำ
จากมหากาพย์ของโฮเมอร์ ทำให้เราได้ทราบว่า กีฬาจากเกาะครีตที่แพร่หลายมาสู่เมือง ไมซีเน่ บนแผ่นดินกรีก ได้รับความนิยมละเล่นกันในหมู่ชาวกรีกทั่วทุกหัวระแหง
ทุกคนต่างก็ใฝ่ฝันที่จะเป็นหนึ่งเหนือคู่ต่อสู้ เด็กหนุ่มต่างก็พยายามพัฒนาร่างกายของตนเอง ให้มีศักยภาพเหนือผู้อื่น
การต่อสู้ทุกประเภทจะได้รับความสนใจจากผู้ชมจำนวนมาก คนดูจะเกิดความรู้สึกมีส่วนร่วมในการต่อสู้ของนักกีฬาทั้งสองฝ่าย และ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะกลายเป็นขวัญใจของคนดูเหล่านี้ก็ได้
เนื่องจากชาวไมซีเน่กรีก เป็นพวกที่ชอบทำศึกสงคราม กีฬาบางชนิดจึงได้รับการพัฒนาให้มีความหลากหลายตามแนวคิด และ รสนิยมของชาวไมซีเน่ เช่น การแข่งรถม้า แบบในภาพยนตร์เรื่อง เบน เฮอร์ , กีฬาวิ่งแข่ง , ชกมวย และ มวยปล้ำ
กีฬาสองอย่างหลังนี้ ได้รับความนิยมอย่างมากในดินแดนของชาวกรีก และ แพร่หลายออกไปตามเกาะแก่งต่างๆ และ แผ่นดินอื่นๆที่ชาวกรีกได้อพยพไปสร้างอาณานิคมของตนเองขึ้น อาทิเช่น เมืองเอฟฟิซัส(EPHESUS) , เดลฟี(DELPHI) , เบอร์กามอน(BERGAMON) และ ทรอย(TROY) ที่อยู่ในประเทศตุรกีในปัจจุบันนี้
นอกเหนือจากเรื่องกีฬาการต่อสู้แล้ว ชาวกรีกโบราณยังให้ความสำคัญในเรื่อง “การศึกษา” อย่างมาก เพราะเขาเชื่อว่า ร่างกายมนุษย์เป็นส่วนประกอบของ “ร่างกาย” และ “จิตวิญญาณ” การศึกษาที่จะให้แก่มนุษย์ จึงต้องให้ทั้งสองอย่างพร้อมกัน
ปรัชญากรีกโบราณ กล่าวไว้ว่า จิตวิญญาณจะไม่สามารถคงอยู่ได้ หากปราศจากร่างกายที่เข้มแข็ง และ ร่างกายที่เข้มแข็งแต่ปราศจากจิตวิญญาณ ก็จะเป็นร่างกายที่หาค่าอะไรมิได้เช่นกัน
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ
(เชิญติดตามอ่านบทความ ดูดวงออนไลน์ ที่ผมเขียนใน แนวหน้าดอทคอม นี้ ในนามปากกา “ธรรมาธิปติ”)