สาธารณรัฐเชก ดินแดนแห่ง 5000 ปราสาท(ตอน 1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (22 กรกฎาคม 2559 )

สาธารณรัฐเชก ดินแดนแห่ง 5000 ปราสาท(ตอน 1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ประเทศสาธารณรัฐเชก  หรือ ที่เราเคยรู้จักกันในนามของประเทศเชกโกสโลวักเกียนั้น   ครั้งหนึ่งเคยเป็นดินแดนภายใต้การครอบครองของ สหภาพโซเวียต ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา 

               หลังจากหลุดออกมาจากปีกของสหภาพโซเวียตเมื่อประมาณร่วม 20 ปีที่แล้ว  สโลวักเกีย  ก็ขอแยกตัวออกเป็นประเทศอิสระ  กลายเป็น 2 ประเทศ คือ  ประเทศสโลวัค และ ประเทศสาธารณรัฐเชก

               สาธารณรัฐเชก  ซึ่งได้รับฉายาว่า  ดินแดนแห่ง 5000 ปราสาท


(แผนที่ยุโรป และ สาธารณรัฐเชก)

               อันที่จริง  คำว่า 5000 ปราสาท เป็นคำที่แสดงนัยยะเท่านั้น  มิได้หมายถึงจำนวน 5000 จริงๆ   หากแต่หมายความว่า  มากมาย  ซึ่ง สาธารณรัฐเชก ก็มีปราสาทเก่าแก่อายุหลายร้อยปีมากมายจริงๆ

               ช่วงวันที่ 7 – 14 ตุลาคมนี้   บริษัท ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่ ได้ร่วมกับ สถานีโทรทัศน์ฟ้าวันใหม่ จัดโปรแกรมท่องเที่ยว “สาธารณรัฐเชก โบฮีเมีย และ โมราวีย” 8 วัน  5 คืน ซึ่งผมจะเป็นผู้บรรยายชม  จึงขอเอาเรื่องราวของประเทศเชก มาเล่าสู่กันฟังนะครับ 


(เมือง คาโรเว วาเร เมืองอาบน้ำแร่ของพระเจ้าชาร์ลส์ ที่สวยงามอย่างยิ่ง จนกลายเป็นฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง เจมส์ บอนด์)

               พื้นที่ของประเทศเชก ประกอบด้วยแค้วนใหญ่ๆ 2 ชื่อด้วยกันคือ โบฮีเมีย(BOHEMIA)  , โมราเวีย(MORAVIA)  และแคว้นเล็กที่เรียกว่า ซิลีเซีย(SILESIA) อีกหนึ่งชื่อ 

               เมื่อประมาณ 1500 ปีเศษ มีผู้อพยพจากตะวันออกเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่แถบนี้   คนเหล่านี้คือ  ชนเผ่าสลาฟ (SLAVS) ที่มีผู้นำที่ชื่อ เชก (CECH)  ซึ่งสันนิษฐานว่า  น่าจะเป็นที่มาของชื่อประเทศเชก ในเวลาต่อมา 


(ภาพวาดตามจินตนาการของ เซอร์เก อิวานอฟ(SERGEY IVANOV) ชื่อ ชีวิตของชาวสลาฟตะวันออก ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ชนเผ่าสลาฟ อพยพเข้ามาอาศัยในยุโรปกลาง  ยุโรปตะวันออก  ยุโรปตะวันออกเฉียงใต้  บางส่วนอยู่ในเอเชียเหนือ และ เอเชียกลาง 

               พวกสลาฟ ที่อาศัยอยู่ในยุโรป กระจายตัวไปอยู่ในหลายพื้นที่  จึงแบ่งแยกกันเรียกชนเผ่าสลาฟเหล่านี้ตามถิ่นฐานที่อาศัย  คือ  พวกสลาฟตะวันตก หมายถึง พวกที่อยู่ในโปแลนด์  เชก  และ สโลวัก  

               พวกสลาฟใต้ คือ พวกเซิร์บในเซอร์เบีย , พวกโครแอทส์(ในโครเอเชีย)  พวกสโลวีเนียน(อาศัยอยู่ในประเทศสโลเวเนีย) ,  และ พวกมาซิโดเนีย (ปัจจุบันคือประเทศใหม่ มาซิโดเนีย ที่แยกตัวออกมาจากประเทศกรีซได้ไม่นาน) และ พวกบัลการ ที่อาศัยอยู่ในประเทศบัลแกเรีย 

               สุดท้ายคือ พวกสลาฟตะวันออก  ซึ่งได้แก่พวก รัสเซี่ยน  ,  ยูเครเนียน(อาศัยอยู่ในยูเครน)  และ เบลารุสเซี่ยน(อาศัยอยู่ในประเทศเบลารุส) 

               ในยุคนั้น  ชนเผ่าสลาฟถูกจัดเป็นพวกที่ไม่มีวัฒนธรรม หรือ วัฒนธรรมต่ำ  ไม่มีภาษาเขียนของตัวเอง   มีแต่เพียงภาษาพูดเท่านั้น  เป็นพวกเร่ร่อนคล้ายๆกับชนเผ่ามองโกล ที่อพยพเข้ามาในยุโรป  และค่อยๆพัฒนาจนกลายมาเป็นพวกเติร์ก  และเป็นชาวตุรกีในปัจจุบัน 

               สิ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ชนเผ่าสลาฟก็คือ  ศาสนาคริสต์ ซึ่งถูกนำมาเผยแพร่จากนครคอนสแตนติโนเปิล  หรือ เมืองหลวงของอาณาจักรโรมันภาคพื้นตะวันออก  เข้ามาสู่พื้นที่แถบนี้ในต้นศตวรรษที่ 9  โดยนักบุญสององค์ที่ชื่อ ซีริล(CYRIL) และ แมธโธดิอุส(MATHODIUS)


(นักบุญ ซีริล และ แมธโธดุอุส ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ตอนนั้น  คริสต์ศาสนจักรทั้งสองค่าย คือ  นิกายออร์โธดอกซ์ ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ คอนสแตนติโนเปิล  กับ นิกายโรมัน คาธอลิค ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่โรม  ต่างก็แข่งขันกันในการออกไปเผยแพร่ศาสนาให้ได้คนเข้ามานับถือมากที่สุด 

               ด้วยถือว่า  หากใครเผยแพร่ศาสนาได้พื้นที่มากกว่า  จะได้บุญมากกว่า 

               เมื่อซีริล กับ แมธโธดิอุส เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในดินแดนนี้  ก็ประสบปัญหาการสื่อสาร เพราะชาวสลาฟไม่สามารถเข้าใจคัมภีร์ไบเบิลที่เขียนด้วยภาษากรีกได้   ดังนั้น  พระทั้งสองจึงต้องคิดค้นตัวอักษรขึ้นมาใหม่เพื่อให้ชาวสลาฟได้ใช้ 

               อักษรที่พระทั้งสององค์สร้างขึ้นมานั้น   เรียกว่า  อักษรซีริลลิค  หรือบางทีก็เรียกว่า อักษรกลาโกลลิติค และ ซีริลลิค(THE GLAGOLITIC AND CYRILLIC ALPHABETS) ซึ่งปัจจุบันนี้  ถือว่าเป็นภาษาที่ตายแล้ว  เพราะไม่มีใครใช้งานอย่างเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว  


(ตัวอักษรซีริลลิค ภาพจากวิกิพีเดีย)

               จุดประสงค์ก็เพื่อใช้เป็นสะพานเชื่อมเข้าถึงคัมภีรไบเบิลของศาสนาคริสต์ เพราะพระทั้งสององค์จะแปลคัมภีรไบเบิล มาเป็นภาษาซีริลลิค ให้คนพื้นเมืองได้อ่าน ซึ่งจะทำให้ง่ายขึ้นที่จะเผยแพร่ศาสนาคริสต์


(จารึกด้วยภาษาซีริลลิค ในวิหารในเมืองซาเกรบ ของประเทศโครเอเชีย )

               จากนั้นเป็นต้นมา   ศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ ก็ได้ลงหลักปักฐานลงในแผ่นดินโบฮีเมีย ของเชก   แม้ว่าทุกวันนี้  ศาสนาคริสต์ที่ได้รับการนับถือในประเทศเชก  จะเป็นนิกายโรมันคาธอลิคก็ตาม  แต่ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงหลักจากที่ราชวงศ์ฮับส์เบิร์กได้เข้ามามีอิทธิพลในดินแดนของเชกในภายหลัง

               สำหรับท่านที่สนใจจะร่วมเดินทางไปเที่ยว ประเทศสาธารณรัฐเชก – โบฮีเมีย  และ โมราเวีย กับผม  สามารถสำรองที่นั่งได้ที่ 02 308 0555 หรือ 02 651 6900 ได้

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ   

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *