บรูจส์ วิทยาลัยแห่งยุโรปที่สร้างชนชั้น “ผู้ลากมากดี” เข้าไปนั่งในสหภาพยุโรป

ซอกซอนตะลอนไป                           (15 กรกฎาคม 2559 )

บรูจส์ วิทยาลัยแห่งยุโรปที่สร้างชนชั้น “ผู้ลากมากดี” เข้าไปนั่งในสหภาพยุโรป

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               เมื่อสองเดือนที่แล้ว  ผมพานักท่องเที่ยวของ บริษัท ไวท์ เอเลแฟนท์  ทราเวล เอเยนซี่ เดินทางไปเที่ยวเทศกาลดอกไม้ เคอร์เคนฮอฟ ของประเทศเนเธอร์แลนด์   และยังได้แวะเที่ยว เบลเยี่ยมอีกประเทศหนึ่งด้วย

               สำหรับท่านที่สนใจจะเดินทางท่องเที่ยวกับ ไวท์ เอเลแฟนท์ฯ ในหลายๆโปรแกรม  ไม่ว่าจะเป็น  เจาะลึกอิตาลี 11 วัน 8 คืน ,  ฮอกไกโด ฤดูใบไม้ร่วง 8วัน 5 คืน , สาธารณรัฐเช็ก 8 วัน 5 คืน เดือนตุลาคม หรือ ท่องคาบสมุทรบัลติน เอสโทเนีย-ลิโทเนีย-แล็ตเวีย เดือนกันยายน   เชิญติดต่อได้ที่ 02 651 6900  

               เมืองที่สวยงาม และพลาดไม่ได้ในการเที่ยวเบลเยี่ยมก็คือ  เมืองบรูจส์(BRUGES)


(คลองในเมืองบรูจส์  ที่ได้สมญานามว่า  เวนิสแห่งยุโรปเหนือ)

               บรูจส์ เป็นเมืองเก่าตั้งแต่ศตวรรษที่ 9  เริ่มสร้างขึ้นมาในรูปแบบเมืองป้อมปราการ และ มีกำแพงล้อมรอบเพื่อป้องกันการรุกรานจาก “พวกไวกิ้ง” (VIKINGS)  หรือ ที่ชาวยุโรปมักจะเรียกว่า “พวกคนจากทางเหนือ”  หรือ  NORTH MAN  ที่อพยพลงมาจาก นอร์เวย์ สวีเดน และเดนมาร์ก  

               ในช่วงศตวรรษที่ 9   เป็นช่วงเวลาที่ไวกิ้ง อพยพรุกรานลงมาในยุโรป  เข้ามาสู่อังกฤษ  ฝรั่งเศส  รวมทั้ง  อิตาลีด้วย 

               นอกจากนี้  ยังอพยพเข้าไปในพื้นที่ที่เป็นประเทศรัสเซียในปัจจุบัน   และต่อมาได้สถาปนาตนเองเป็นผู้ปกครองแผ่นดินรัสเซีย ในนามของราชวงศ์ รูริค (RURIK DYNASTY)  ซึ่งเป็นราชวงศ์แรกของประเทศรัสเซีย

               ช่วงเวลานั้น  เมืองบรูจส์ เป็นเมืองศูนย์กลางทางการค้า ที่มีความเจริญรุ่งเรือง  หรูหราฟู่ฟ่ามาก

บรูจส์ เป็นเมืองท่าชายทะเล ซึ่งต้องอาศัยการจราจรทางน้ำในการติดต่อกับเมืองอื่นที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน   เช่น เมืองเกนต์ และ บรัสเซล เป็นต้น 


(บนถนนในเมืองบรูจส์)

               เมื่อเราเดินเข้ามาใกล้ศูนย์กลางของเมือง ก็จะผ่านอาคารที่เคร่งขรึมอาคารหนึ่ง  ตั้งอยู่ริมคลองโบราณ  ดูจากภายนอกไม่มีอะไรโดดเด่น  เพราะตกแต่งอย่างเรียบง่าย  แต่ภายในอาคารแห่งนี้เองที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อ  สหภาพยุโรป  หรือ อียู

               เพราะเป็นที่ตั้งของ วิทยาลัยแห่งยุโรป (COLLEGE OF EUROPE) วิทยาเขตเมืองบรูจส์  (เพราะยังมีอีกหนึ่งวิทยาเขตที่ นาโทลิน(NATOLIN) กรุงวอร์ซอร์ ประเทศโปแลนด์ ที่เพิ่งจะก่อตั้งในปีค.ศ. 1993)

               วิทยาลัยแห่งยุโรป ก่อตั้งมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1949  หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงไปได้ 4 ปี  และเป็นช่วงที่ยุโรปเพิ่งจะเข้าสู่แผนฟื้นฟูทางเศรษฐกิจในปีค.ศ. 1947 ที่เรียกว่า แผนมาร์แชลล์ ของสหรัฐอเมริกา ตามชื่อของนายพล จอร์จ แคตเลตต์ มาร์แชลล์ (GEORGE CATLETT MARSHALL)


(นายพล จอร์จ มาร์แชลล์)

               นัยว่า  การก่อตั้งวิทยาลัยแห่งนี้  ก็เพื่อที่จะต่อสู้กับแนวคิดนิยมอเมริกาของคนยุโรป ที่ชาวยุโรปในช่วงเวลานั้นมองว่า   อเมริกัน เป็นพระเอกขี่ม้าขาวเข้ามาช่วยยุโรป

               ผู้ร่วมก่อตั้งวิทยาลัยแห่ง ยุโรปก็คือ บุคคลที่มีชื่อเสียงโดดเด่นของยุโรป  เช่น  ซัลวาดอร์ เดอ มาดาเรียก้า(SALVADOR DE MADARIAGA)  , วินสตัน เชอร์ชิลล์(WINSTON CHURCHILL)  , พอล-อองรี สปาค(APUL-HENRU SPAAK)  และ อัลไซด เดอ กาสเพอรี่(ALCIDE DE GASPERI)  

               จุดประสงค์ของวิทยาลัยแห่งนี้ก็คือ เพื่อสนับสนุนให้เกิดจิตวิญญาณาแห่งการรวมตัว และ ส่งเสริมความเข้าใจซึ่งกันและกันในหมู่ของชาติต่างๆในยุโรปตะวันตก 


(อาคารของวิทยาลัยแห่งยุโรป)

และ จัดการให้มีการฝึกฝนปัจเจกชนที่จะสืบทอดจิตวิญญาณในการเป็น “ชนชั้นสูง” (ELITE)  และ เพื่อให้ไปฝึกฝน “ชนชั้นสูง” ที่เป็นผู้บริหารของยุโรปต่อไป 

คำว่า “ชนชั้นสูง” นั้น  หากแปลตรงตัวตามพจนานุกรม ก็แปลว่า  ประชาชนที่ถูกจัดว่าเป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจ และ มีตำแหน่งสูงในวงสังคม  หรือ ในองค์กรใดๆ  อันเนื่องมาแต่ความเชี่ยวชาญ  ความสามารถ  ความเฉลียวฉลาด  มีอำนาจ  และ  ความร่ำรวยของชนกลุ่มนั้น 

หรือหากจะแปลแบบง่ายๆ ให้เห็นภาพพจน์ก็ แปลว่า  พวกผู้ลากมากดี    


(ประตูทางเข้าของ วิทยาลัยแห่งยุโรป)

สรุปก็คือ  วิทยาลัยแห่งยุโรปมีเป้าหมายในการสร้าง “ผู้ลากมากดี” ออกมาเพื่อไปทำงานเป็นผู้บริหารของสหภาพยุโรปต่อไปในอนาคต

สถาบันนี้ จะสอนในระดับ POSTGRADUATE หรือ สำหรับผู้ที่จบชั้นปริญญาตรีแล้วเท่านั้น   ผู้ที่สนใจจะเรียนที่วิทยาลัยแห่งนี้  จะต้องประสานงานผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศของประเทศตนเองเท่านั้น  ไม่เปิดรับแบบเป็นการทั่วไป  

หลักสูตรมีระยะเวลาเพียง 1 ปี  สนนค่าเล่าเรียนก็พอตัว  คือแยกออกเป็นค่าเล่าเรียนปีละ 16,000 ยูโร  ค่าหอพัก และ อาหารอีกปีละ 8,000 ยูโรต่อปี รวมเบ็ดเสร็จ 24,000 ยูโร  ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายส่วนตัวอื่นๆ

มัคคุเทศก์ชาวเบลเยี่ยม เล่าให้ฟังว่า   คนที่เรียนจบจากวิทยาลัยแห่งยุโรปนี้แล้ว จะได้เป็น  “ผู้ลากมากดี” ไปทำงานในตำแหน่งงานที่เงินเดือนสูงๆภายในองค์กร สหภาพยุโรป หรือ อียู  

บังเอิญได้ยินอาจารย์ สมชาย ภัคภาสน์วิวัฒน์ พูดในรายการวิทยุรายการหนึ่งว่า   สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวสหราชอาณาจักรลงมติ BREXIT .ให้ออกจากสมาชิกของสหภาพยุโรปก็เพราะ 


(อาคารรัฐสภาแห่ง อียู)

สหภาพยุโรป เป็นองค์กรมีความเป็น “ผู้ลากมากดี” สูงมาก  หรือ อาจจะเป็นองค์กรของพวก “ผู้ลากมากดี” ด้วยซ้ำ  

ดังนั้น   การตัดสินใจอะไรต่างๆของสภาสหภาพยุโรป  จึงไม่ค่อยเป็นไปเพื่อชนชั้นกลางเท่าไหร่นัก  จะเห็นได้ว่า  คนที่ลงประชามติให้ออกจาก อียู จะเป็นคนสูงอายุ เป็นชนชั้นกลางที่ผ่านโลกมามาก  เห็นโลกมาอย่างโชกโชนว่า  

นโยบายของ อียู  ส่งผลอะไรต่อประชาชนของแต่ละประเทศ  

แต่คนที่ลงประชามติไม่ให้ออกจากอียู   ก็คือคนรุ่นหนุ่มสาว  เป็นชนชั้นล่าง หรือ ชนชั้นกลาง ที่มีความทะเยอทะยาน  มีความใฝ่ฝันในชีวิตสูงอยู่ 

ใฝ่ฝันว่า  วันหนึ่ง   ตัวเองจะเป็น “ผู้ลากมากดี”  กับเขาด้วย 

สวัสดี

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *