ซอกซอนตะลอนไป (27 พฤษภาคม 2559 )
“ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี”จากเด็กไร้บ้าน มาเป็นสะใภ้หลวง(ตอน 25)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
ดวงชะตาของคุณหญิงมณี ชี้ว่า ชีวิตของเธอต้องผกผันเปลี่ยนแปลงเสมอ หากได้ลาภใดมา ก็มักจะต้องมีการสูญเสียบางอย่างไป และ ในทางตรงกันข้าม หากเธอสูญบางสิ่งบางอย่างไป ก็มักจะได้ลาภบางอย่างกลับคืนมาด้วย
ในปีพ.ศ. 2492 รัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ให้ทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า กลับสู่พระนคร
ก่อนหน้านั้นในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลจอมพล ป. ได้ฟ้องร้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ซึ่งคุณหญิงมณีได้เขียนในหนังสือเล่มนี้ว่า
“รัฐบาลซึ่งมีหลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ได้ยื่นฟ้องสมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นจำเลยต่อศาลว่า พระองค์ได้ทรงขนและโยกย้ายทรัพย์สมบัติ และทรัพย์สินเงินทองออกจากประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย และศาลได้อายัดทรัพย์สินเงินทองส่วนกระองค์ รวมทั้งวังสุโขทัยที่กรุงเทพฯไว้ทั้งหมดแล้ว”
แต่เนื่องจากติดภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ไม่สามารถเดินทางจากอังกฤษมาแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลในไทยได้ ศาลจึงได้พิพากษาตัดสินให้สมเด็จพระปกเกล้าฯเป็นผู้แพ้ และได้ลงโทษปรับเงินจำนวน 6 ล้านบาท
คุณหญิงมณี ได้เขียนต่อไปว่า
“เมื่อรัฐบาลทูลเชิญสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเสด็จกลับประเทศไทย จึงได้มีการเจรจาประนีประนอมโดยยอมคืนวังสุโขทัยให้เป็นที่ประทับของสมเด็จตลอดพระชนม์ชีพ และได้ตีราคาทรัพย์สินที่เป็นที่ดิน รวมทั้งตัววังสุโขทัย เป็นเงิน 6 ล้านบาท เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับทรัพย์สิ่งของที่อยู่ในวังสุโขทัยทั้งหมด และที่ดินที่เหลือจากการตีราคาใช้หนี้รัฐบาลไปนั้น ก็ถวายคืนสมเด็จ”
ดังนั้น ผู้จัดการผลประโยชน์ และผู้จัดการพระราชพินัยกรรมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ คือ ม.จ.อุปลีสาน ชุมพล จึงได้ทรงดำเนินการแบ่งพระราชมรดกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ตามพระราชพินัยกรรมที่ได้ทรงทำไว้ที่เมืองไทยก่อนที่จะเสด็จไปประทับในต่างประเทศ
ในพินัยกรรมระบุว่า พระราชทานวังสุโขทัยให้แก่พระองค์จิรศักดิ์สุประภาต โดยมีเงื่อนไขว่า ให้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีมีสิทธิ์ประทับที่วังสุโขทัยจนตลอดพระชนม์ชีพ เว้นแต่ทรัพย์สินและสิ่งมีค่าทุกอย่างที่ทรงได้รับมรดกโดยตรงจากสมเด็จพระพันปีหลวง ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีแต่พระองค์เดียวโดยสิ้นเชิง
แต่ด้วยปัญหาทางกฎหมาย (ซึ่งขอให้ท่านผู้อ่านติดตามอ่านในหนังสือโดยตรง) จึงต้องแก้ปัญหาด้วยการแบ่งพระราชมรดกไปตามกฎหมายไทย คือ แบ่งกันคนละครึ่ง ภาคลูก และ ภาคเมีย แยกออกเป็นสองกองให้มีราคาไล่เลี่ยกัน รวมทั้งข้าวของในวังสุโขทัยด้วย
ประกอบด้วยที่ดินทั้งหมด 22 แปลง แต่อีก 2 แปลงที่อยู่หลังวังสุโขทัย สมเด็จฯต้องการจะได้เอาไว้ จึงขอแลกกับที่ดินว่างเปล่า 10 ไร่ที่ถนนเพลินจิต
การแบ่งมรดกที่ดินก็เป็นไปแบบเรียบง่าย คือ ม.จ.อุปลีสาน ได้ทำสลากเอาไว้ 20 ใบ แล้วให้สมเด็จฯเป็นผู้จับก่อน 10 ใบ ที่เหลือก็จะเป็นของหม่อมมณี ซึ่งมาจับสลากในฐานะตัวแทนของพระองค์เจ้าจิรศักดิ์
จากนั้นก็จะเป็นการแบ่งอสังหาริมทรัพย์ เช่น เครื่องเรือน เครื่องถ้วยชาม เครื่องแก้ว พระพุทธรูป และ เครื่องสักการะต่างๆในห้องพระ โดยจัดวางสิ่งเหล่านี้เรียงรายกันไป สมเด็จฯประสงค์สิ่งใดก็หยิบออกไป หม่อมมณีชอบอะไรก็หยิบออกไป ประมาณว่าแบ่งกันคนละครึ่ง
ที่เหลือก็จะให้พ่อค้าชาวจีนหลายรายจากบ้านหม้อมาคอยตีราคาประมูลกัน ทำให้หม่อมมณีได้รับเงินสดจากการจำหน่ายสิ่งเหล่านี้ไปมากพอสมควร
ในระหว่างที่มีการแบ่งทรัพย์มรดกอยู่นี้ คาบเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่พระองค์อาภัส แอบมีสัมพันธ์ลับกับแม่แก้วจนหม่อมมณีจับได้ พระองค์อาภัส จึงย้ายออกไปจากบ้านไปอยู่ข้างนอก แต่ก็ยังไม่มีการหย่าร้างอย่างเป็นทางการ
ขุนเจนฯ ซึ่งคุณหญิงมณีระบุในหนังสือว่า เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ให้คุณหญิง พยายามอย่างมากที่จะให้หม่อมมณี กลับมาคืนดีกับพระองค์อาภัส ได้ขอร้องให้หม่อมมณี เดินทางไปอยู่ต่างประเทศสักพัก จนกว่าพระองค์อาภัส จะได้สติเลิกหลงใหลแม่แก้ว
ขุนเจนฯ มั่นใจว่า เมื่อพ้นไปสักระยะหนึ่งแล้ว พระองค์อาภัสจะกลับมาคืนดีกับหม่อมมณีแน่นอน
อย่างที่ผมได้เขียนไปในตอนก่อนว่า บุคลิกของคุณหญิงมณีก็คือ เป็นคนปากกับใจตรงกัน กล้าพูดแบบที่คิด ซึ่งสะท้อนออกมาในข้อเขียนในหนังสือเล่มนี้
คุณหญิงมณี ได้เขียนเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า
“ตลอดเวลา 3 วัน ที่ข้าพเจ้าไปวังสุโขทัย เพื่อไปรับส่วนแบ่งพระราชมรดก บรรยากาศในวังก็ไม่สู้แจ่มใสนัก ซึ่งก็ไม่น่าเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดอะไร เพราะผู้ที่อยู่ในวังสุโขทัยส่วนมากล้วนเป็นพระญาติ หรือเป็นข้าราชบริพารเก่าแก่……………
………….หลายคนมองดูข้าพเจ้าด้วยสายตาและสีหน้าที่แสดงความรู้สึกไม่พอใจ แต่ข้าพเจ้าเองก็มิได้เคยมีความรู้สึกโกรธตอบหรือแค้นเคืองพวกเขาเลยแต่ประการใด ข้าพเจ้าเห็นใจ และเข้าใจความรู้สึกของเขาดีว่า คนธรรมดาๆเช่นข้าพเจ้าไม่น่าจะมีสิทธิมารับแบ่งทรัพย์สมบัติ และมาจับสลากร่วมกับสมเด็จ”
คุณหญิงยังได้เขียนเล่าถึงบรรยากาศในช่วงปีพ.ศ. 2492 เอาไว้อีกว่า
“ในยามนั้น สังคมเมืองไทยลือกระฉ่อนถึงเรื่องราวของข้าพเจ้า ในการที่ได้รับแบ่งพระราชมรดกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เพื่อนฝูงต่างก็ตื่นเต้นเป็นกำลังในการที่ข้าพเจ้าเป็นตัวแทนของพระองค์เจ้าจิรศักดิ์ ในการรับพระราชมรดกของสมเด็จพระปกเกล้าฯ แต่ตัวข้าพเจ้าเองกลับรู้สึกเฉยๆ……. ตรงกันข้าม ข้าพเจ้ากลับรู้สึกเป็นกังวล และหนักใจที่จะต้องดูแลปกป้องรักษาสมบัติที่ได้รับมานี้ต่อไป”
ดูเหมือนทุกอย่างจะเป็นไปตามดวง เมื่อเธอได้บางอย่างมา เธอจะต้องสูญเสียบางอย่างไป
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ
(เชิญติดตามอ่านบทความ ดูดวงออนไลน์ ที่ผมเขียนใน แนวหน้าดอทคอม นี้ด้วย ในนามปากกา “ธรรมาธิปติ”)