“ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี”จากเด็กไร้บ้าน มาเป็นสะใภ้หลวง(ตอน 21)

ซอกซอนตะลอนไป                           (1 เมษายน 2559 )

“ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี”จากเด็กไร้บ้าน มาเป็นสะใภ้หลวง(ตอน 21)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               หลังจากย้ายกลับมาประเทศไทย  หม่อมมณีก็เริ่มรู้สึกว่า  วิถีชีวิตของท่านในประเทศไทย แตกต่างไปจากที่เคยเป็นอยู่ในอังกฤษโดยสิ้นเชิง

               ด้วยอุดมคติที่ไม่ต้องการจะเป็น “เศรษฐีขี้เกียจ”   หม่อมมณีจึงอยากให้พระองค์อาภัส ได้ทำงานอะไรสักอย่างเป็นหลัก  ซึ่งงานอาชีพที่ตรงแนวกับที่ท่านได้ร่ำเรียนมาก็คือ สถาปนิก

               แต่พระองค์อาภัส กลับรู้สึกว่า  พระองค์ยังไม่มีประสบการณ์เพียงพอในเรื่องการออกแบบบ้าน    แต่ต้องการจะไปทำนาตามอย่างที่ได้ทำที่บ้านไฮเออร์มีดในอังกฤษ คือ ใช้รถแทร็คเตอร์ที่นำเข้ามาจากอังกฤษในการทำนา 

               ซึ่งขณะนั้น  รถแทร็คเตอร์ เป็นของนำเข้าที่ใหม่ที่สุดของประเทศไทย  แทบจะไม่เคยมีใครเห็นมาก่อน  

               ขุนเจน ข้าราชการกรมทางหลวง ได้ติดต่อที่ดินจำนวน 100 ไร่ที่อยู่อำเภอสำโรงห่างจากถนนใหญ่เข้าไปในซอย 500 เมตรให้แก่หม่อมมณี ในราคาตารางวาละ 2 บาท หรือไร่ละ 800 บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 8 หมื่นบาท

               เงินจำนวน 8 หมื่นบาทนี้  หม่อมมณี ได้ขอเบิกจากกองมรดกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ ซึ่งหม่อมมณีมีสิทธิในกองมรดกนี้อยู่แล้ว  เพื่อขอเอามาใช้ก่อน   

               หลังจากซื้อที่ดินเรียบร้อยก็ปรากฏว่า  สะพานไม้ที่อยู่ปากซอยเข้าถนนไปสู่ที่ดินดังกล่าว  ถูกเจ้าของที่ดินที่อยู่ปากซอยรื้อถอนออกไปแล้ว และประกาศไม่ให้ใครทำสะพานใหม่ผ่านที่ดินของเขาเข้าไปข้างใน  จะยอมให้ก็เพียงไม้กระดานแผ่นเดียวปูทอดให้คนเดินข้ามไปเท่านั้น

               สาเหตุเพราะเจ้าของที่ดินปากซอยซึ่งเป็นตำรวจโกรธแค้นที่หม่อมมณีไปซื้อที่ดิน 100 ไร่ข้างในอย่างกะทันหัน   เพราะนายตำรวจท่านนั้นก็เล็งๆเอาไว้เหมือนกันว่า  จะซื้อที่ดิน 100 ไร่นี้   เพียงแต่กำลังกดดันเรื่องราคาที่ดินกับเจ้าของที่ 

               และไม่คิดว่าจะมีใครสามารถหาเงิน 8 หมื่นบาท ซึ่งมากโขในยุคนั้นมาซื้อที่ดินดังกล่าวได้    

               ด้วยเหตุนี้  พระองค์อาภัส จึงไม่สามารถขนเครื่องมือหนักเข้าไปในที่ดินเพื่อทำนาได้    สุดท้าย  ก็ต้องล้มเลิกความตั้งใจที่จะทำนา  แล้วหันมาออกแบบสร้างสำนักงานเล็กๆเป็นอาคารชั้นเดียวบนที่ดินที่ถนนเพลินจิต เพื่อเป็นสำนักงานดูแลผลประโยชน์ของหม่อมมณี

               ที่ดินแปลงนี้  หม่อมมณีเขียนบรรยายว่า  เป็นที่ดินที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงใช้แลกกับที่ดินแปลงหนึ่งของหม่อมมณี ที่อยู่หลังวังสุโขทัย  (ตามความเข้าใจของผม  ที่ดินที่ถนนเพลินจิต  น่าจะเป็นที่ดินตรงที่เป็นอาคารมณียา กับโรงแรมเรอเนสซองส์ในปัจจุบัน) 

               คุณหญิงมณี ได้เขียนเอาไว้ในหนังสือเล่มนี้อีกว่า 

               “ข้าพเจ้าก็ไม่เคยคาดคิดเลยว่า ที่ดินแปลงนี้ (ที่ดิน 100 ไร่) จะมีราคาสูงเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าในเวลาอันรวดเร็ว  ระหว่างระยะเวลา 25 ปี  ได้มีคนหลายคนมามาขอซื้อที่ดินแปลงนี้จากข้าพเจ้าอยู่เสมอ โดยที่ข้าพเจ้าจะได้กำไรหลายสิบเท่า” 

               ปัจจุบันนี้  ประเมินว่าราคาที่ดินตรงนี้น่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าตารางวาละ 3 – 5 หมื่นบาทขึ้นไป   แทนที่จะมีกำไรหลายสิบเท่าตามที่คุณหญิงมณีได้เขียนไว้   กำไรจะเพิ่มเป็นกี่หมื่นก็คิดไม่ถูกจริงๆ

               นี่คืออำนาจของ “เงิน” ในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม    

               ในฐานะที่เป็นหม่อมของพระองค์อาภัส  ทำให้หม่อมมณีต้องไปร่วมงานราชพิธีต่างๆมากมาย  ทำให้ได้รู้จักกับเจ้านายชั้นสูงหลายพระองค์ 

               ครั้งหนึ่ง พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร ที่หม่อมมณีเคยรู้จักตั้งแต่ครั้งที่เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด  ได้ออกปากชวนให้หม่อมมณี มาเป็นอาจารย์สอนวิชาภาษาอังกฤษที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 


(พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร)

               อาจารย์ที่สอนที่คณะอักษรศาสตร์รุ่นเดียวกับหม่อมมณีก็คือ อาจารย์จิตต์เกษม สีบุญเรือง กับ อาจารย์จินตนา ยศสุนทร ซึ่งสอนภาษาฝรั่งเศส  กับอาจารย์วิไลย สนิทวงศ์ กับอาจารย์มาลี ที่สอนภาษาอังกฤษ  


(จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันนี้  ซึ่งคงแตกต่างจากเมื่อปีพ.ศ. 2493 มากทีเดียว)

               ภารกิจแรกของหม่อมมณี ก็คือ ต้องหัดขับรถยนต์ เพื่อว่าจะได้ขับไปทำงานที่มหาวิทยาลัยเอง  

               หม่อมมณีน่าจะเป็นผู้หญิงไม่กี่คนในประเทศไทยที่ขับรถเองในยุคนั้น  ซึ่งคงจะทำให้ท่านเป็นผู้หญิงที่โฉบเฉี่ยวทันสมัยมากทีเดียว 

               หนังสือ “ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี” บทที่ 40 เขียนถึงเรื่องราวของเพื่อนๆในแวดวงที่มาสังสรรกันที่บ้านของท่าน   ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวการแต่งงานของเพื่อนๆ ซึ่งมักจะมีปัญหาจนต้องแยกทางกันในที่สุด   แม้ว่าบางคู่จะมีลูกด้วยกันแล้ว 

               น่าสนใจมากที่   การหย่าร้างในสังคมไทยเกิดขึ้นมากมายในสังคมชั้นสูงของประเทศไทยมาตั้งแต่ยุคนั้นแล้ว   

               เหมือนเป็นการเกริ่นเพื่อที่จะพูดถึง  เรื่องราวความสัมพันธ์ของท่าน กับพระองค์อาภัส  ที่อาจจะเป็นไปตามความรู้สึกของท่านตั้งแต่วันแต่งงานแล้วว่า   เป็นลางร้าย


(สนใจซื้อหนังสือ “ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี สิริวรสาร” ที่คุณเพชรชมพู โทร  099 425 9112 รายได้มอบให้แก่ มูลนิธิ มณี สิริวรสาร เพื่อเป็นกองทุนการศึกษานักเรียน นักศึกษาที่ยากไร้)

               คุณหญิงมณี ได้พูดถึงตอนที่แต่งงานกับ พระองค์อาภัส ว่า

               “ข้าพเจ้าแต่งงานกับพระองค์อาภัส ได้ร่วมเจ็ดปีเศษ  และสามปีครึ่งที่ข้าพเจ้าอยู่ที่บ้านไฮเออร์มีด กับพระองค์อาภัสนั้น  ถึงแม้จะเป็นชีวิตที่ต้องลำบากทางกาย เพราะเป็นเวลาสงคราม  และเราต้องลงมือทำงานในบ้านทุกอย่างเองทั้งสิ้น  แต่ก็เป็นเวลาที่เราทั้งสองคนมีความสบายใจ”

               “เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเสร็จสิ้นลงใหม่ๆ  กรุงเทพมหานครเต็มไปด้วยความสนุกสนานหรรษาและมีงานเลี้ยงรื่นเริงกันไม่เว้นแต่ละสัปดาห์………..”

               “……….พระองค์อาภัสได้ตกเป็นเหยื่อของการป้อยอ และยกย่องสรรเสริญ  และการตามพระทัยของคนหลายคนที่พยายามทำทุกอย่างถวายด้วยความจงรักภักดี และด้วยความพึงพอใจ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พระองค์อาภัส ลืมหน้าที่ และ ขาดความรับผิดชอบ ไม่สามารถควบคุมอารมณ์อีกต่อไป  ทำให้ชีวิตครอบครัวของเราต้องผันแปร และ หมดความหมาย   จนในที่สุด   ทุกสิ่งทุกอย่างที่พระองค์อาภัสได้เริ่มไว้กับข้าพเจ้าก็พังทลายไปอย่างไม่มีวันจะกลับคืนมาได้อีกเลย” 


(ดวงชะตาของคุณหญิงมณี  ผูกดวงตามการคำนวณแบบลาฮิริ)

               นั่นคือเมื่อประมาณปีพ.ศ. 2493 หรือ 2494 

               ชีวิตเหมือนฝันของ หม่อมมณี  จะต้องเปลี่ยนแปลงผกผันอีกครั้งหนึ่ง  ตามคำพยากรณ์ของหมอดูหลายคนอีกแล้ว

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ  

               (เชิญติดตามอ่านบทความ  ดูดวงออนไลน์ ที่ผมเขียนใน แนวหน้าดอทคอม นี้ด้วย ในนามปากกา “ธรรมาธิปติ”)            

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *