“ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี”จากเด็กไร้บ้าน มาเป็นสะใภ้หลวง(ตอน 18)

ซอกซอนตะลอนไป                           (11 มีนาคม 2559 )

“ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี”จากเด็กไร้บ้าน มาเป็นสะใภ้หลวง(ตอน 18)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ชีวิตของหม่อมมณี พร้อมด้วยครอบครัว  เริ่มต้นใหม่อีกครั้งในเมืองไทย ในปีพ.ศ. 2490  เป็นชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก  ทั้งนี้ก็เนื่องแต่สถานะทางสังคมที่ได้รับการยกย่องอย่างสูง   ผิดไปจากสถานะทางสังคมตอนที่อยู่ในอังกฤษ 


(สนใจซื้อหนังสือ “ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี สิริวรสาร” ที่คุณเพชรชมพู โทร  099 425 9112 รายได้มอบให้แก่ มูลนิธิ มณี สิริวรสาร เพื่อเป็นกองทุนการศึกษานักเรียน นักศึกษาที่ยากไร้)

               “เรื่อง “การเป็นเจ้า” นี้ ทำให้ข้าพเจ้าต้องเดือดร้อนอยู่บ้าง   เพราะเกี่ยวกับลูกๆของข้าพเจ้าโดยตรง   เมื่อเราไปถึง  ก็มีคนทั้งสาวและไม่สาวมารับใช้และปวารณาตนเองเป็นพี่เลี้ยงของลูกๆ………เมื่อข้าพเจ้าทดลองให้มาเป็นคนเลี้ยงของเด็กๆแล้วก็รู้สึกหนักใจมาก   เพราะพี่เลี้ยงแต่ละคนดูแลลูกข้าพเจ้าแบบเป็นลูกเจ้านาย  คือ  ตามใจลูกๆทุกอย่าง ….ต้องการอะไร หรือจะทำอะไรก็ทำได้ทุกอย่าง  ทำให้ลูกๆของข้าพเจ้าซึ่งเคยมีระเบียบวินัยอย่างดีชักเหลิง และ ดื้อด้าน แสดงกริยาต่างๆซึ่งไม่เคยมีมาแต่ก่อน”

               คุณหญิงมณี เขียนเอาไว้เช่นนี้  และยังได้แสดงทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องชีวิตในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช  และ  ระบอบประชาธิปไตยที่เพิ่งจะเริ่มต้นเมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว  ในเรื่องความแตกต่างทางฐานะของคนที่มีฐานะ “เป็นเจ้า” ที่ได้รับการยกย่องอย่างสูง  กับ คนธรรมดาทั่วไป 

               เป็นมุมมองที่น่าสนใจที่สะท้อนความคิดของผู้คนในยุคสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี 

               “ในขั้นแรก พระองค์อาภัส ก็ทรงประหลาดพระทัยในการแสดงออกถึงความจงรักภักดี และความเป็นมิตรไมตรีของบรรดาญาติ และคนเก่าๆเหล่านั้น   แต่เมื่ออยู่นานๆไป  การที่มีคนมาห้อมล้อม  และแสดงความนิยมชมชอบ พูดจายกย่องอยู่ไม่เว้นแต่ละวัน  ทำให้พระองค์อาภัสลืมพระองค์  หลงในคำพูดเหล่านั้นมากเกินไป”   

               นี่คือจุดอ่อนของมนุษย์ทุกคน 

               คุณหญิงมณี ได้บันทึกถึงความเปลี่ยนแปลงของสามีเอาไว้ว่า

               “พระองค์อาภัส เริ่มเปลี่ยนแปลง และเริ่มวางองค์ มีปฎิกริยาเป็นเจ้านายเต็มตัว  จนบางคนก็ออกปากว่า  พระองค์อาภัสหยิ่งจองหอง…..เวลาพระองค์อาภัสเสด็จไปไหน  ทำอะไร หรือติดต่อใคร  ถ้าต้องคอย หรือมีเหตุขัดข้องบางประการ  พระองค์อาภัสจะกริ้วมาก และ รับสั่งเอะอะ  ความใจเย็นอดทนอย่างที่เคยทรงมีมาก่อนก็เหือดหายไปหมด    

               ……พระองค์อาภัสซึ่งเคยเป็นคนถ่อมตัว  ชอบอยู่เงียบๆ  ก็กลับกลายเป็นคนชอบมีบริวารห้อมล้อม  โปรดปรานที่จะให้คนใกล้ชิดเรียกพระองค์ว่า “เสด็จพระองค์ชาย” หรือ  “องค์ชาย” ทั้งโปรดปรานที่จะฟังคำยกย่องสรรเสริญต่างๆมากขึ้นทุกๆวัน”  

               ในขณะที่หม่อมมณี กลับเห็นตรงกันข้าม   

               “ข้าพเจ้ารู้สึกผิดหวัง  ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเมืองไทยยังล้าสมัย  ยังอ่อนต่อประชาธิปไตยมาก  ข้าพเจ้าเกลียดการยกย่องที่เป็นแบบประจบประแจง  ข้าพเจ้าไม่ชอบการแบ่งชั้นวรรณะ  และข้าพเจ้าถือว่า  คนเราควรต้องแสดงความสามารถเสียก่อน  จึงค่อยภูมิใจในการที่คนอื่นๆยกย่องแสดงความนับถือ  การที่มีคนมาเฝ้าแหน  ป้อยอ  ประจบประแจง  เพราะเหตุว่าเกิดมาเป็นเจ้าอย่างเดียวเท่านั้น  ข้าพเจ้าไม่รู้สึกนิยมชมชอบเลย” 

               ดูเหมือนเส้นทางชีวิตของคนทั้งสองที่เคยเดินไปคู่กัน จะเริ่มแยกออกจากกันแล้ว 

               คุณหญิงมณี ได้เล่าเรื่องของกรุงเทพในเวลานั้นว่า  ทุกวันสุดสัปดาห์จะครึกครื้นมาก  เพราะมีงานลีลาศตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะที่สวนอัมพร  ทุกคนจะแต่งตัวกันเต็มที่  ชายจะใส่ทักซิโด  ส่วนผู้หญิงจะแต่งกระโปรงยาว ประดับด้วยเครื่องเพชรนิลจินดา

               “ข้าพเจ้าไปอยู่เมืองนอกมานาน  ยังไม่เคยเห็นคนธรรมดาๆ แต่งเครื่องประดับอาภรณ์มากมายเช่นที่เขาใส่กันที่เมืองไทย” 

               แสดงว่า  เมืองไทยเวลานั้น  ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมกันอย่างมาก   คุณหญิงยังได้เขียนอีกว่า

               “สังคมในเมืองไทย มีการกระทำที่ผิดแผกแตกต่างกับสังคมที่ข้าพเจ้าเคยชินมาจากต่างประเทศมาก  ………และในการเลี้ยงที่บ้านคราวใด  เจ้าของบ้านต้องเชิญแขกไปไม่ต่ำกว่า 30 คนเสมอ และถึง 50 คนก็บ่อยครั้ง   ถ้าบ้านไหนมีแม่ครัวดี  รสอาหารอร่อย  ก็มีผู้คนชมเชยและถือว่าการเลี้ยงได้รับผลเป็นที่พึงพอใจ”

               แล้วก็มาถึง เรื่องการแบ่งมรดกของตระกูลภาณุพันธ์ 


(หม่อมเล็ก และพระโอรส-พระธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ ภาพจากวิกิพีเดีย)

               เมื่อพระองค์อาภัส ซึ่งเป็นโอรสองค์โตที่เกิดจากหม่อมเล็ก ได้กลับมาเมืองไทย  พระองค์หญิงรำไพฯ ก็เห็นควรว่าน่าจะแบ่งมรดกในหมู่ทายาทของสมเด็จวังบูรพา  ซึ่งมีด้วยกัน 7 พระองค์  

               เป็นทายาทที่เกิดจากหม่อมแม้น 2 พระองค์ คือ พระองค์เจ้าหญิงเฉลิมเขตร์  และ กรมหมื่นภาณุพันธ์ ซึ่งสิ้นพระชนม์ไปแล้วตั้งแต่ปีพ.ศ. 2477   


(พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล ภาพจากวิกิพีเดีย)

(กรมหมื่นภาณุพงศ์พิริยเดช ภาพจากวิกิพีเดีย) 

               และทายาท 5 พระองค์ ที่เกิดจากหม่อมเล็ก 5 คือ  พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารำไพประภา หรือ พี่หญิง , พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภัสสรวงศ์  , พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช หรือ พระองค์พีระ , พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านรเศรษฐสุริยลักษณ์ ซึ่งทรงพิการตั้งแต่เล็กๆ ไม่สามารถรับสั่งอะไรได้เลย  และ  พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต ซึ่งสิ้นพระชนม์ไปแล้ว


(พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านรเศรษฐสุริยลักษณ์ ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ทำให้พระองค์อาภัส จะมีฐานะเป็นโอรสองค์โตสุดของตระกูล  และ ควรจะอยู่ในฐานะของผู้จัดการมรดก 

               มรดกจะถูกแบ่งเป็น 7 ส่วน ตามชื่อของทายาททุกคน   ในส่วนของพระองค์จิรศักดิ์นั้น จะตกเป็นของหม่อมมณีส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งจะเป็นของลูก 2 คน

               ในส่วนของทรัพย์ทั่วไปเช่น  เพชรนิลจินดา  เครื่องลายคราม  และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆในวังบูรพา นั้นง่ายต่อการแบ่งด้วยการแยกออกเป็น 7 กอง  มูลค่าเท่าๆกัน  แล้วใช้วิธีจับสลากแบ่ง 

               แต่เมื่อมาถึงที่ดินซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยากมาก  เพราะประกอบด้วยที่ดินหลายประเภท  เช่น ห้องแถว  เรือกสวนไร่นา  และที่สำคัญก็คือ  ที่ดินแปลงใหญ่ที่เป็นที่ตั้งของวังบูรพาภิรมย์ประมาณ 15 ไร่  และที่ดินรอบๆวังบูรพาอีกหลายแปลง ซึ่งอยู่ใจกลางเมือง

               และที่ดินที่ถนนสี่พระยาที่เป็นตึกแถว และเคยเป็นโรงน้ำแข็งนายเลิศอีกประมาณ 10 กว่าไร่  และเรือนสวนไร่นาแถวศาลายาอีก  แบบนี้จะแบ่งกันยังไง    

               ปัญหาในการแบ่งมรดกที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ เริ่มส่อเค้าว่าจะมีปัญหาแล้ว 

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้า  สวัสดีครับ   

               (เชิญติดตามอ่านบทความ  ดูดวงออนไลน์ ที่ผมเขียนใน แนวหน้าดอทคอม นี้ด้วย ในนามปากกา “ธรรมาธิปติ”)            

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *