“ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี”จากเด็กไร้บ้าน มาเป็นสะใภ้หลวง(ตอน 11)

ซอกซอนตะลอนไป                           (1 มกราคม 2559 )

“ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี”จากเด็กไร้บ้าน มาเป็นสะใภ้หลวง(ตอน 11)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               กำหนดวันแต่งงานของนางสาวมณีคือวันที่ 21 ธันวาคม ปีพ.ศ. 2481   

               วันหนึ่งก่อนวันงาน  เจรี่ได้เอาแหวนทองประดับเพชรประมาณ 1 กะรัต สวมนิ้วนางให้แก่นางสาวมณี  เป็นแหวนที่ สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษี พระชนกของเจรี่  ได้ทรงประทานให้แก่หม่อมเล็ก พระชนนีของเจรี่ ไว้เป็นสักขี 

               ถือเป็นแหวนหมั้นที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง 


(นางสาวมณี  และ เจรี่ พรินซ์ ชาร์มมิ่ง  เข้าใจว่าจะเป็นวันแต่งงาน)

               ทูลกระหม่อม มีพระประสงค์ที่จะพระราชทานน้ำสังข์แก่ทั้งสอง  และจะต้องกระทำบนผืนแผ่นดินไทยเท่านั้น  ซึ่งหมายถึง  ภายในที่ทำการของสถานทูตไทยในลอนดอน 

               ทูตไทยในขณะนั้นคือเจ้าคุณราชวังสัน ซึ่งแม้จะเกรงว่าการอนุญาตให้ทูลกระหม่อมทรงกระทำพิธีในสถานทูตจะสร้างความไม่พอใจแก่รัฐบาลไทย ซึ่งมีจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี  แต่ก็ไม่อาจปฎิเสธได้  จึงยอมให้มีการพระราชทานน้ำสังข์ และ  จดทะเบียนสมรสให้แก่ทั้งสองในสถานทูตไทย 


(คืนวันแต่งงานงานของนางสาวมณี กับ เจรี่)

               ขณะประกอบพิธีในสถานทูต   ท่านทูตได้กราบทูลบางอย่างให้ทูลกระหม่อม ด้วยสีหน้าไม่ดีนัก   หลังจากนั้น  เจรี่ ก็บอกแก่นางสาวมณีว่า  กรุงเทพมีโทรเลขด่วนมาให้สถานทูตไทยว่า   ห้ามไม่ให้ออกหนังสือเดินทางให้แก่นางสาวมณี  จนกว่านางสาวมณีจะยอมจ่ายค่าเล่าเรียนที่รัฐบาลได้จ่ายให้เป็นเวลา  3 ปีเต็ม   คิดเป็นเงินราว  1050 ปอนด์ ซึ่งเข้าใจว่า  น่าจะเป็นเงินมากโขอยู่    

               แม้ว่าทุนที่นางสาวมณีสอบชิงทุนได้มานั้น   ไม่มีข้อผูกมัดใดๆให้ผู้ได้รับทุนต้องจ่ายคืนรัฐบาลไทย  แม้กระทั่งว่า  ผู้ได้รับทุนหยุดเรียน หรือ ยกเลิกการเรียนด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม 

               คุณหญิงมณี ได้เขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า   ทูลกระหม่อมทรงรับสั่งแก่นางสาวมณี และ เจรี่ให้ใจเย็นๆ  ทรงอธิบายว่า   ทางกรุงเทพโทรเลขมาอย่างนี้  เพราะหัวหน้ารัฐบาลต้องการบีบบังคับท่านให้จ่ายเงินแทนนางสาวมณี 

               ทูลกระหม่อมไม่ทรงต้องการให้มีเรื่องหมองใจใดๆในวันมงคลของทั้งสองคน  จึงได้เซ็นเช็คจ่ายเงินให้กับสถานทูตทันที  เพื่อว่าทั้งสองจะสามารถเดินทางไปฮันนีมูนในประเทศฝรั่งเศสได้ตามที่วางแผนไว้

               ชีวิตของ “นางสาวมณี” ซึ่งกลายเป็น “หม่อมมณี” นับตั้งแต่วันแต่งงานเปลี่ยนแปลงไปราวพลิกฝ่ามือ  อาจกล่าวได้ว่า  “เหมือนฝัน”   เพราะแม้แต่นางสาวมณีเองก็คงไม่คาดฝันว่า   ชีวิตจะก้าวมาถึงวันนี้ 

               วันที่หนทางข้างหน้ามองเห็นว่า  ปูด้วยกลีบกุหลาบ  


(ช่วงเวลาแห่งความสุขสุดๆเหมือนฝันของ หม่อมมณี)

               หลังแต่งงาน  หม่อมมณี กับ เจรี่ ขับรถเดินทางลงใต้ไปยังเขตริเวียร่าของฝรั่งเศส  พักในโรงแรมระดับท้อป  ทานอาหารในภัตตาคารชั้นเลิศ  เล่นคาสิโน  เป็นการฮันนีมูนที่แสนจะประทับใจ 

               ทั้งสองเริ่มต้นชีวิตคู่ที่แฟลตของเจรี่ที่ อีตันสแควร์ ย่านเวสต์เอนด์  ซึ่งแน่นอนว่าเป็นย่านที่มีราคาแพง  ห้องพักออกแบบโดย กอร์ดอน  รัสเซลล์(GORDON RUSSELL) ผู้มีชื่อเสียงในทางตกแต่งภายใน   และมีคนรับใช้ชายคนหนึ่งชื่อ  อัลเบิร์ต (ALBERT)   

               จากชีวิตนักเรียนทุนที่ต้องใช้จ่ายเงินอย่างกระเหม็ดกระแหม่  มาสู่ชีวิตที่มีความเป็นอยู่หรูหรา   ยิ่งกว่าชีวิตเหมือนฝัน  


(ในงานเลี้ยง  เข้าใจว่าจะเป็นในประเทศฝรั่งเศส)

               วันหนึ่ง  ระหว่างที่ ทูลกระหม่อม พระนางเจ้ารำไพพรรณี เจรี่ และ หม่อมมณี เดินทางท่องเที่ยวในภาคใต้ของฝรั่งเศส   ทูลกระหม่อมได้รับสั่งกับ เจรี่ และ หม่อมมณีว่า  ต่อไปนี้  คงไม่ได้มาเที่ยวอย่างฟุ่มเฟือยเช่นนี้อีกต่อไปแล้ว 

               “เดี๋ยวนี้เขาหาว่าฉันกอบโกยนำเงินทองออกมาใช้นอกประเทศ  และเขาได้ดำเนินคดีฟ้องร้องฉันในศาลแล้ว..  และได้ริบวังสุโขทัย และทรัพย์สินส่วนตัวของฉันที่เมืองไทยไปแล้วทั้งสิ้น   แต่ฉันตั้งใจว่าต้องสู้ความอย่างเต็มที่ ……”   

               ดูเหมือนว่า  ภาพของถนนที่โรยด้วยกลีบกุหลาบของ หม่อมมณี  กำลังจะเลือนหายไป  

               เมื่อกลับมาถึงลอนดอน  ทั้งสองได้ยกเลิกการเช่าแฟลตที่อีตันสแควร์ที่มีราคาแพงเสีย   จากนั้นก็ย้ายมาอยู่ในบ้านเช่าสองชั้นที่ชื่อ ดอน ฮิลล์  (DAWN HILL) ในตำบล เวอร์จิเนีย วอเตอร์(VIRGINIA WATER) ชานเมืองลอนดอน

               เมื่อแต่งงาน   ทูลกระหม่อมได้ทรงตั้งทรัสต์ฟันด์ ให้แก่ เจรี่ เพื่อสะดวกในการใช้จ่าย  จะได้ไม่ต้องรอรับเงินเดือนจากทูลกระหม่อม  และให้ นายเครก (R.D.CRAIG) เป็นทนายความผู้ดูแลผลประโยชน์ของทรัสต์ ฟันด์ด้วย  โดยที่ทรัสต์ ฟันด์จะจ่ายเงินเดือนให้แก่เจรี่เดือนละ  100 ปอนด์ เป็นค่าใช้จ่าย

               เงิน 100 ปอนด์ ในขณะนั้นมีค่ามากทีเดียว  เพียงพอที่จะเป็นค่าเช่าบ้าน  ค่าเงินเดือนของคนใช้ในบ้าน 3 คน คือ พ่อครัว 1 คน ,  คนเสริฟ 1 คน และ สาวใช้ทำงานบ้านอีก 1 คน     

               นายเครก ได้รายงานกับหม่อมมณีว่า  นอกเหนือจากเงิน 100 ปอนด์ทุกเดือนที่มาจากดอกผลของทรัสต์ฟันด์แล้ว   ยังมีเงินสำรองเก็บไว้อีกจำนวนหนึ่ง  หากมีเหตุจำเป็นก็สามารถเอาเงินจำนวนนี้มาใช้ได้ 

               นายเครกยังได้รายงานว่า  ทรัสต์ฟันด์ ที่ บอสส์ ซึ่งเป็นชื่อที่นายเครกใช้เรียก ทูลกระหม่อม ได้ตั้งเอาไว้ให้แก่พระองค์จีรศักดิ์ นั้น   จะยังคงอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักทนายความ  จนกว่าพระองค์จีรศักดิ์ จะมีอายุครบ 25 ชันษา

               เมื่อพระองค์จีรศักดิ์ มีอายุครบ 25 ชันษาวันใด   เงินทั้งหมด   ทั้งเงินทุน และ ผลประโยชน์จากเงินที่ลงทุน  จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์จีรศักดิ์อย่างสมบูรณ์ 

               ขณะนั้น พระองค์จีรศักดิ์ มีอายุเพียง 22 ปี  จึงยังไม่สามารถแตะต้องเงินทุนของกองทุนนี้ได้ 

               สาเหตุที่ต้องกำหนดให้พระองค์จีรศักดิ์ มีอายุ 25 ปีบริบูรณ์ก่อน จึงจะแตะต้องเงินกองทุนได้   เพราะทูลกระหม่อมทรงเล็งเห็นว่า   เมื่อพระองค์จีรศักดิ์มีอายุครบ 25 ปีบริบูรณ์ ก็จะมีประสบการณ์ในการลงทุน และการดูแลเงินจำนวนมากขนาดนี้ได้ 

               แต่ดูเหมือนว่า   ทุกอย่างถูกฟ้าลิขิตเอาไว้เรียบร้อยแล้ว  เพื่อให้เป็นไปตามดวงชะตาของหม่อมมณี  และ ดวงชะตาของ พระองค์จีรศักดิ์   

ทำให้วันนั้น  ไม่มีโอกาสมาถึง    

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *