เมื่ออียิปต์ ใช้กาวอีพีอคซี่ ติดหนวดของตุตันคาเมน(ตอน 1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (18 ธันวาคม 2558 )

เมื่ออียิปต์ ใช้กาวอีพีอคซี่ ติดหนวดของตุตันคาเมน(ตอน 1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ผมเพิ่งกลับจากนำกรุ๊ปของ บริษัท ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่ ไปล่องเรือสำราญโต้ลมหนาวในอียิปต์มา  และเป็นจังหวะดีที่ทางการอียิปต์เปิดให้ถ่ายภาพในพิพิทภัณฑ์ไคโรได้ฟรี   เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2558 จนถึงวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2559   

               ดีใจได้ไม่นานก็ต้องผิดหวังเพราะ  หน้ากากทองคำของตุตันคาเมน(TUTANKHAMUN) ที่ตั้งใจจะถ่ายรูปให้หนำใจ ได้หายไปจากห้องที่เคยจัดแสดงประจำเสียแล้ว


(หน้ากากของตุตันคาเมน ภาพโดย ผู้เขียน)

               สอบถามได้ความที่ทำให้ตกใจเป็นอย่างยิ่ง  จึงต้องขอขัดจังหวะการเขียนเรื่อง “ชีวิตเหมือนฝันคุณหญิงมณี สิริวรสาร” เอาไว้ก่อน เพื่อนำเรื่องหน้ากากทองคำของตุตันคาเมนมาเล่าสู่กันฟัง 

               เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2557  ขณะที่ “ลูกจ้าง” ของพิพิทภัณฑ์ กำลังทำความสะอาดหน้ากากทองคำแท้ๆที่มีน้ำหนักรวม 10.23 กิโลกรัม  จะด้วยเหตุใดก็ตาม ลูกจ้างคนดังกล่าวได้ทำให้เครายาวใต้คางของตุตันคาเมน หลุดออกมาจากหน้ากาก 


(ภาพที่ระบุว่า  เป็นลูกจ้างของพิพิทภัณฑ์ กำลังติดหนวดเข้ากับหน้ากากด้วยกาวอีพ๊อคซี่ (ภาพจาก เดอะ เทเลกร๊าฟ) ไม่รู้ว่าป่านนี้จะถูกไล่ออกไปแล้วรึยัง)

               เฉพาะตัวเครายาวของตุตันคาเมนนั้น  มีน้ำหนัก 2.5 กิโลกรัม

               คงจะด้วยความตกใจสุดขีด  เจ้าหน้าที่คนนั้นจึงตัดสินใจแบบที่เรียกว่า “โง่สุดขีด” ลงไปด้วยการใช้กาวอีพ๊อคซี่ (EPOXY) มาติดเชื่อมส่วนหนวดที่หลุดให้ติดกับคางอีกครั้ง  โดยไม่ได้ศึกษาว่า  วิธีการเดิมเขาติดหนวดกับหน้ากากอย่างไร  

               เหตุการณ์ผ่านมาหลายเดือนโดยที่ไม่มีใครสังเกตเห็น  จนกระทั่งเดือนมกราคม ปีนี้เองที่มีรายงานข่าวเรื่องอื้อฉาวนี้ออกมา   


(รอยขาวๆ ตรงหนวดก็คือ กาวอีพ๊อคซี่ ที่ใช้ทาเชื่อมหนวด และ ตัวหน้ากากให้ติดกัน)

               ร้อนถึงทีมผู้ชี่ยวชาญชาวเยอรมัน นำโดย คริสเตียน เอ็คมานน์ (CHRISTIAN ECKMANN) ที่เสนอตัวเข้ามาช่วยบูรณะหน้ากากดังกล่าว   แถมยังต้องบริจาคเงินอีก 50,000 ยูโรเพื่อช่วยค่าใช้จ่ายของโครงการนี้ด้วย 

               หลังจากนั้น  เดือนตุลาคม พ.ศ. 2558   ทีมงานชาวเยอรมันก็เดินทางถึงอียิปต์และเริ่มบูรณะหน้ากากและหนวดให้กลับคืนดังเดิม


(คริสเตียน เอ็คมานน์ นักโบราณคดีชาวเยอรมัน  ขณะบูรณะหน้ากากของตุตันคาเมน ภาพจากเดอะ เทเลกร๊าฟ)

               ก่อนจะพูดถึงเรื่องการบูรณะหน้ากากทองคำ   ผมขอเท้าความเสียก่อนว่า  ตุตันคาเมน เป็นใคร

               ตุตันคาเมน เป็นฟาโรห์ของอียิปต์โบราณในยุคอาณาจักรใหม่(NEW KINGDOM) อยู่ในราชวงศ์ที่ 18 (18TH DYNASTY)   สันนิษฐานว่า  พระองค์เกิดในปี 1341 ก่อนคริสตกาล และสิ้นพระชนม์ในราวปี 1323 ก่อนคริสตกาล

               หมายความว่า   ตุตันคาเมนสิ้นพระชนม์เมื่ออายุเพียง 17 ปีเท่านั้น

               พระองค์ครองราชย์ระหว่างปี 1333 ก่อนคริสตกาล ถึงปี 1322 ก่อนคริสตกาล  หมายความว่า  พระองค์ขึ้นครองราชย์ตั้งแต่อายุเพียง 8 ปี บ้างก็ว่า 10 ปี  

               (ข้อมูลเรื่องปีเกิด และ ปีขึ้นครองราชย์ ยังมีความสับสน บ้างก็บอกว่าสิ้นพระชนม์เมื่ออายุประมาณ 19 ปี )  

               เชื่อกันว่า  พระบิดาของพระองค์ก็คือฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 (AMENHOTEP III) ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนพระนามใหม่เป็น  ฟาโรห์ อัคเคนนาเต็น(AKHENATEN) ด้วยเหตุผลในเรื่องความเชื่อทางศาสนา

               ผลงานของตุตันคาเมนเท่าที่บันทึกในประวัติศาสตร์ไม่มีอะไรเด่นชัด  แต่สันนิษฐานว่า  รัชสมัยของพระองค์น่าจะเป็นช่วงที่อียิปต์โบราณกำลังมีปัญหาอย่างมากทีเดียว  เพราะมีบันทึกของโฮเรมเฮบ(HOREMHEB) นายพลของกองทัพอียิปต์ในยุคของพระองค์  บอกว่า 

               “กษัตริย์(หมายถึงตุตันคาเมน) แต่งตั้งให้เขาเป็น  ผู้ยิ่งใหญ่แห่งแผ่นดิน(LORD OF THE LAND)”  และยังคุยอีกว่า  เขาเป็นคนเดียวที่สามารถสยบฟาโรห์ตุตันคาเมน ในยามที่อารมณ์ของพระองค์กำลังบ้าคลั่งให้สงบลงได้  

               ที่น่าสนใจคือ  โฮเรมเฮบ ก็คือ ฟาโรห์องค์ต่อจาก ฟาโรห์อาย(AY) ซึ่งครองราชย์ต่อจาก  ฟาโรห์ตุตันคาเมนอีกทีหนึ่ง   และ โฮเรมเฮบ เป็นฟาโรห์พระองค์สุดท้ายของราชวงศ์ที่ 18

               แล้วตุตันคาเมน  ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาเป็นที่รู้จัก และ โด่งดังในปัจจุบันได้อย่างไร

               เรื่องมาจากการที่ โฮเวิร์ด คาร์เตอร์(HOWARD CARTER) นักโบราณคดีชาวอังกฤษ ได้ขุดค้นหาหลุมฝังศพของตุตันคาเมนในหุบผากษัตริย์  ภายใต้การสนับสนุนทางการเงินจาก จอร์จ เฮอร์เบิร์ต ที่ 5 ท่านเอิร์ล แห่ง คาร์นาร์วอน(GEORGE HERBERT, 5TH EARL OF CARNARVON) 

จนวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2465  โฮเวิร์ด คาร์เตอร์ ก็ได้พบหลุมฝังศพของตุตันคาเมน  ในสภาพที่ยังไม่เคยมีใครบุกเข้าไปถึงสุสานแห่งนี้มาก่อนเลย 

เมื่อเปิดโลงศพของตุตันคาเมน ที่มีมากถึง 7 ชั้นซ้อนกันก็พบว่า  มัมมี่ หรือ พระศพถูกสวมศรีษะด้วยหน้ากากทองคำ ซึ่งเว็บไซต์ของ ดร.ซาฮี ฮาวาสส์ (www.drhawass.com)  อดีตผู้อำนวยการกรมโบราณคดีของอียิปต์ บอกว่า  ตอนค้นพบสุสานตุตันคาเมนเป็นครั้งแรกโดยโฮเวิร์ด คาร์เตอร์ นั้น  หนวดของตุตันคาเมน ได้หลุดออกมาจากหน้ากากเป็นสองชิ้นแล้ว 

แต่เมื่อผมลองค้นดูจากหนังสือ  THE COMPLETE TUTANKHAMUN ที่เขียนโดย NICHOLAS REEVES กลับไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้แต่อย่างใด   ซ้ำภาพถ่ายที่ถ่ายในตอนค้นพบก็ยังเห็นหนวดของตุตันคาเมนติดอยู่ด้วยซ้ำ 


(หน้ากากตะตันคาเมน ถ่ายตอนที่ค้นพบโดยโฮเวิร์ด คาร์เตอร์ (ภาพจากหนังสือ THE COMPLETE TUTANKHAMUN)

แค่เรื่องราวในช่วงเวลาไม่ถึง100 ปียังสับสนขนาดนี้    แล้วจะไปเอาอะไรกับประวัติศาสตร์เมื่อกว่า 3 พันปีที่แล้ว 

สัปดาห์หน้าจะมาพูดถึงเรื่องการบูรณะหน้ากากตุตันคาเมน  และ ข่าวใหญ่ที่อาจจะสันสะเทือนวงการโบราณคดีอีกครั้งก็ได้ 

สวัสดีครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *