อ็อกซิเยน เจ้าตัวร้าย

อ็อกซิเยน เจ้าตัวร้าย 

               วันนี้(16 พ.ค.2561)  ผมนำคณะนักศึกษาวิชา วิสาหกิจขนาดเล็กของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาถึงเมืองปาร์มา เมืองแห่งแฮมปาร์มา หรือที่เรียกว่า เปอร์ชุตโต ของอิตาลี 

               แต่สาเหตุที่มาที่นี่ เรามิได้มาดูแฮมปาร์มากัน   แต่เรามาเยี่ยมชมโรงงานบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์กาแฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบรรจุกาแฟแคปซุลเอสเปรสโซ

               โรงงานนี้ชื่อ OPEM


(โรงงานบรรจุกาแฟ โอเพม)

               ทุกวันนี้ ความสะดวกสบายในการดื่มกาแฟมีมากขึ้นเรื่อยๆ และมีราคาถูกลง  เพราะเครื่องชงกาแฟเอสเปรสโซที่ใช้แคปซุลแบบนี้ 

               การดูงานครั้งนี้   ทำให้ผมหายสงสัยว่า เครื่องชงกาแฟแบบแคปซุลทำงานอย่างไร   แต่วันนี้จะขอพูดถึงเรื่องการบรรจุแคปซุลกาแฟก่อนครับ


(คณะดูงาน กับ เจ้าของโรงงาน)

               เนื่องจากโรงงานโอเปม ไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปในส่วนของเครื่องจักรได้   ผมจึงต้องขอเล่าแล้วให้ท่านผู้อ่านจินตนาการตามเอานะครับ

               ก่อนอื่นก็จะต้องมีภ้วยแคปซุล ซึ่งทำด้วยพลาสติคใส่เข้าไปในเครื่องก่อน   ถ้วยแคปซุลเหล่านี้จะถูกส่งเข้าไปในเครื่องจักรด้วยลักษณะหงายถ้วย   จากนั้นก็จะเลื่อนเข้าไปรอการบรรจุผงกาแฟ

               ขั้นตอนนี้แหละครับที่น่าสนใจ


(กับสองสาวทายาทของเจ้าของโรงงาน และ ผู้จัดการ)

               เขาเล่าให้ฟังว่า หลังจากบรรจุผงกาแฟในขนาดน้ำหนักตามท่แหนดเข้าไปเรียบร้อยแล้ว   แคปซุลก็จะถูกลำเลียงไปยังส่วนของการปิดผนึกแคปซุล  ในขั้นตอนนี้  จะต้องแน่ใจว่าในแคปซุลจะมีอ๊อกซิเยนเหลือน้อยที่สุด  หรือไม่มีเลย 

               เพราะอะไร

               เพราะอ็อกซิเยนเป็นตัวทำสันดาปกับกาแฟ  และจะทำให้รสชาติของกาแฟเปลี่ยนไป

               วิธีการไล่อ็อกซิเยนออกไปก็คือ วิธี Nitrogen shower  ซึ่งก็คือการพ่นแก็สไนโตรเจนลงไปที่แคปซุล ก่อนที่จะปิดผนึก   ไนโตรเจนจะลงไปไล่อ็อกซิเจนออกไปจากแคปซุลจนหมด

               จากนั้นก็จะถึงขั้นตอนของการซีลปิดฝาของแคปซุล ซึ่งจะยังคงเหลือไนโตรเจนอยู่ในแคปซุล

               ไนโตรเจน ช่วยรักษารสชาติของกาแฟให้คงเดิมไปจนกระทั่งวันดื่ม


(แคปซุลที่บรรจุเสร็จเรียบร้อย)

               เพิ่งรู้วันนี้เองว่า ขั้นตอนการแพ็คแตปซุลกาแฟต้องใช้ไนโตรเจนเป็นส่วนสำคัญ     และได้รับการบอกเล่าจากเจ้าหน้าที่โรงงานโอเปมอีกว่า    คราวหน้าหากจะซื้อกาแฟเป็นขวด  ให้เลือกซื้อขวดที่เล็กที่สุด  เพราะเมื่อเปิดขวดแล้ว  กาแฟในขวดจะถูกอ๊อกซิเยนเข้าไปทำการสันดาป  และนับตั้งแต่วินาทีนั้นเป็นต้นมา  รสชาติของกาแฟก็จะเปลี่ยนไป  

               ยิ่งเก็บไว้นานเท่าใด  รสชาติของกาแฟก็จะยิ่งเปลี่ยนไปมากยิ่งขึ้นเท่านั้น 

               หลังจากนั้น  คณะของเราก็เดินทางไปชมไวน์เนอร์รี่ชื่อดังของอิตาลีที่ มอนเตพลุเชียโน ในแคว้นทัสคานีของอิตาลี

               แคว้นทัสคานีนี่เองที่มีเมืองหลวงชื่อ  ฟลอเรนซ์  ที่ได้รับสมญาว่า  เมืองหลวงของโลกศิลปะ

               เพราะแคว้นทัสคานี  เป็นบ้านเกิดของศิลปินดังๆของโลกมากมายหลายคน  อาทิ  ไมเคิลแองเจโล   ,  ราฟาเอล  ,  บ๊อตติเชลลี  และ  ที่สำคัญก็คือ  ลีโอนาร์โด  ดาวินชี่ อัจฉริยะแห่งยุคเรอเนสซองส์ ของอิตาลี 

ที่แคว้นทัสคานีนี่เอง  ที่ทำให้ผมได้ความรู้ใหม่เกี่ยวกับ ลีโอนาร์โด ดาวินชี


(โรงผลิตไวน์แคนตินา ดาตาเวคชี่)

               ลีโอนาร์โด  ประดิษฐ์คิดค้นอะไรต่ออะไรมากมายจนนับไม่ถ้วน    บางสิ่งไม่น่าเชื่อว่าคนเมื่อเกือบ500 ปีที่แล้วจะสามารถคิดได้

               ไม่ว่าจะเป็น รถถัง  เรือดำน้ำ  ชุดมนุษย์กบ  สะพานแบบ KNOCK DOWN หรือ แบบถอดประกอบได้  ร่มชูชีพ   เฮลิคอปเตอร์   ปืนกล  และอีกมากมาย

               แต่วันนี้ ผมโชคดีที่ได้มาเห็นสิ่งประดิษฐ์ที่เขาคิดค้นเอาไว้ให้แก่ชาวทัสคานี  บ้านเกิดของเขา เอาไว้ใช้จนปัจจุบันนี้ก็คือ  หลอดแก้วสกัดกั้นไม่ให้อ๊อกซิเยนเข้าไปในถังไม้โอ๊คที่บ่มไวน์แดงได้   


(ภายในห้องบ่มไวน์)

               ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของการผลิตไวน์ก็คือ  การบ่มไวน์ในถังไม้โอ๊ค  น้ำองุ่นจะค่อยๆบ่มตัวเองให้กลายเป็นไวน์อย่างช้าตามขั้นตอนและเคล็ดลับของผู้ผลิตไวน์แต่ละเจ้าจะทำกัน  

               แต่ที่สำคัญเหมือนกันทุกเจ้าผู้ผลิตไวน์ก็คือ  ในขั้นตอนนี้จะต้องสกัดไม่ให้อากาศ ซึ่งก็คือ  อ๊อกซิเยนเข้าไปในถังไม้โอ๊คได้โดยเด็ดขาด

               เพราะหาก อ๊อกซิเยนสามารถเล็ดลอดเข้าไปในถังบ่มไวน์ได้  มันจะเข้าไปทำการสันดาป หรือ อ๊อกซิเดชั่น (OXIDATION) กับ ไวน์แดง จนทำให้รสชาติไวน์เปลี่ยนไป  ค่อยๆเปรี้ยวมากขึ้นเรื่อยๆจนถึงขั้นกลายเป็น น้ำส้มสายชูเลยทีเดียว 

               อุปกรณ์ที่ลีโอนาร์โด คิดค้นขึ้นนี้  ถือว่ามีอัจฉริยะมากในยุคเมื่อ 500 ปีที่แล้ว 

เรื่องของเรื่องก็คือ   เมื่อบ่มไวน์ในถังไปได้สักระยะหนึ่ง  ไวน์แดงในถังมักจะลดลง   เพราะถูกซึมซับเข้าไปในเนื้อของไม้โอ๊ค หรือ เกิดการหดตัวของไวน์ 

จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเติมไวน์เข้าไป  เพื่อให้ระดับของไวน์ในถังอยู่ในระดับที่ต้องการตลอดเวลา   สิ่งที่ลีโอนาร์โด คิดค้นก็คือ  จะเติมไวน์แดงใหม่เพิ่มเข้าไปในถังได้อย่างไร  โดยที่อ๊อกซิเยนไม่สามารถเล็ดลอดเข้าไปได้แม้แต่น้อย  

เขาสร้างหลอดแก้วขึ้นมาสำหรับที่จะสอดลงไปในถังไม้โอ๊ค  หลอดแก้วอันนี้  จะเป็นช่องทางในการเติมไวน์แดงเข้าไป  และ  เป็นตัวสกัดไม่ให้อากาศเล็ดลอดเข้าไปได้   

               เนื่องจากผมไม่สันทัดภาษาอิตาเลียน   ก็เลยไม่สามารถจับใจความที่เจ้าของโรงงานไวน์พยายามอธิบายวิธีการทำงานของหลอดแก้วที่ว่านี้อย่างละเอียดได้   รู้แต่เพียงว่า   เขาใช้น้ำมันมะกอกเป็นตัวสะกัดกั้นไม่ให้อากาศจากภายนอกเข้าไปในถังได้


(เครื่องสกัดกั้นออกซิเจนไม่ให้เข้าไปในถังบ่มไวน์  ทำด้วยแก้ว)

               ผลงานอีกชิ้นหนึ่งของ  ลีโอนาร์โด ดาวินชี อัจฉริยะเมื่อ 500 ปีที่แล้ว ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า  เขาเป็นอัจฉริยะเหนืออัจฉริยะจริงๆ

               เจ้าของโรงงานผลิตไวน์หัวใส  เอาหลอดแก้วที่ว่านี้  มาดัดแปลงทำเป็นหลอดไฟ ซึ่งก็ดูสวยดี


(เครื่องมือที่ทำด้วยแก้ว ที่ออกแบบโดยลีโอนาร์โด ดา วินชี่ เพื่อป้องกันไม่ให้ออกซิเจนเข้าไปในถังบ่มไวน์)

               แต่ไม่รู้ว่า ลีโอนาร์โด จะถูกใจรึเปล่า

Posted in สัพเพเหระ.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *