ซอกซอนตะลอนไป (23 ตุลาคม 2558)
อียิปต์ ดินแดนแห่งความท้าทายภูมิปัญญา(ตอน 3)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
ยังมีข้อถกเถียงที่หาข้อสรุปไม่ได้ในประวัติศาสตร์อียิปต์โบราณหลายเรื่อง เรื่องหนึ่งก็คือ ใครคือโมเสส(MOSES) ผู้ที่ได้รับการยอมรับจากทั้งทางศาสนายูดาย ศาสนาคริสต์ และ ศาสนาอิสลาม ว่า เป็น ศาสดาพยากรณ์(PROPHET) องค์หนึ่งของศาสนาของตนเอง
ศาสนาอิสลามจะเรียก โมเสส ว่า มูซา (MUSA)
โมเสส คือ ผู้ที่แสดงอภินิหารของพระผู้เป็นเจ้า ในการเปิดทะเล ซึ่งเชื่อกันว่า คือทะเลแดง (RED SEA) เพื่อให้ทาสชาวฮิบรู เดินทางข้ามทะเลแดงไปอีกฝั่งหนึ่ง เพื่อหนีการตามไล่ล่าของกองทัพของอียิปต์โบราณ ที่เชื่อกันว่า นำโดยฟาโรห์ รามเสส ที่ 2 (RAMSES II)
เมื่อโมเสส สามารถนำชาวฮิบรู(THE HEBREWS) หรือ ที่เรามักจะเรียกกันว่า ชาวยิว หนีพ้นการตามล่าของกองทัพอียิปต์แล้ว ก็ได้เดินหลงทางไปในทะเลทรายแถบแหลมไซนายอยู่นานหลายสิบปี จากนั้น โมเสส ก็ได้ขึ้นไปรับ “บัญญัติสิบประการ” (THE TEN COMMANDMENTS) บนภูเขาโฮเรบ(MOUNT HOREB) จากพระผู้เป็นเจ้าในที่สุด
ตามพระคัมภีร์ไบเบิล ระบุว่า โมเสส เป็นชาวฮิบรู ที่เกิดในช่วงที่ฟาโรห์องค์หนึ่ง สั่งให้สังหารเด็กๆชาวฮิบรู โมเสส ซึ่งขณะนั้นเป็นเด็กทารกรอดชีวิตจากการสังหารครั้งนี้ เพราะมารดาของเขาจับเขาใส่ตะกร้าลอยน้ำไป จนโมเสสตกไปอยู่มือของพระธิดาของฟาโรห์ ซึ่งเชื่อกันว่าคือ เจ้าหญิง บริเธีย (BITHIAH)
แต่ในศาสนาอิสลาม จะเรียกเจ้าหญิงบริเธีย ว่า อาซิยา (ASIYA) และระบุว่า อาซิยา เป็นมเหสีของฟาโรห์ ไม่ใช่พระธิดาของฟาโรห์
จะเห็นว่า ผมจะใช้คำว่า “เชื่อกันว่า” เพราะแม้แต่ในพระคัมภัร์ไบเบิลเอง ก็ไม่ได้ยืนยันพระนามของฟาโรห์ว่าเป็นใครอย่างชัดเจน เพียงแต่บอกว่า “ฟาโรห์” เท่านั้น
และคำว่า ฟาโรห์ เป็นภาษาอียิปต์โบราณแปลว่า บ้าน หรือ พระราชวัง เท่านั้น จึงไม่อาจจะยืนยันชัดเจนได้ว่า เหตุการณ์การอพยพที่นำโดยโมเสส เกิดขึ้นในรัชสมัยของฟาโรห์องค์ใด
ตอนนี้ผมจะเข้าประเด็นตามหัวข้อเรื่องที่ได้ตั้งเอาไว้ว่า อียิปต์ ดินแดนแห่งความท้าทายภูมิปัญญา เสียที
แม้ว่าศรัทธาปสาทะ ของ ซีซิล บี เดอมิลล์ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง “บัญญัติสิบประการ” จะให้น้ำหนักว่า ฟาโรห์ ในยุคของโมเสส ซึ่งเรียกว่า “ยุคเอ็กซ์โซดัส” (EXODUS) ก็คือ ฟาโรห์ รามเสส ที่ 2 ก็ตาม
แต่ก็มีนักวิชาการอียิปต์ศาสตร์หลายคนไม่เชื่ออย่างนั้น บางคนบอกว่า น่าจะเป็นฟาโรห์ ธุสโมเซส ที่ 3 (TUTHMOSIS III) ซึ่งมีชีวิตก่อนหน้า รามเสส ที่ 2 ประมาณ 187 ปี เพราะธุสโมซิส ที่ 3 มีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1490 ถึง 1437 ปีก่อนคริสตกาล ในขณะที่รามเสส ที่ 2 มีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1303 ถึง 1213 ปีก่อนคริสตกาล
แต่ฝ่ายที่เชื่อว่าเป็นรามเสส ที่ 2 ก็ให้เหตุผลว่า เนื่องจากมัมมี่ของรามเสส ที่ 2 ซึ่งแสดงอยู่ในพิพิทภัณฑ์แห่งชาติไคโร มีแขนทั้งสองข้างกระเดิดออกมา แทนที่จะแนบชิดกับหน้าอกอย่างที่มัมมี่ทั่วๆไป
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะ เมื่อฟาโรห์สิ้นพระชนม์ คนที่อยู่ข้างหลังจะต้องรีบนำศพไปทำมัมมี่โดยด่วน ก่อนที่ศพจะแข็ง
แต่ฟาโรห์ รามเสส ที่ 2 สิ้นพระชนม์ที่ทะเลแดงด้วยสาเหตุจมน้ำตาย และ ทะเลแดงก็อยู่ห่างไกลจากพระราชวังพอสมควร ก็จึงไม่สามารถนำศพมาทำมัมมี่ได้ทันเวลา แขนทั้งสองข้างจึงไม่สามารถกดให้แนบกับลำตัวได้
นั่นเป็นเหตุผลหนึ่ง
อีกเหตุผลหนึ่งที่ฝ่ายนี้เชื่อว่า น่าจะเป็นฟาโรห์ รามเสส ที่ 2 ก็เพราะ เกลือที่พบตกค้างในมัมมี่ของ รามเสส ที่ 2 นั้น เป็นเกลือประเภท โซเดียม คลอไรด์ อันเป็นเกลือที่พบได้ในน้ำทะเล
แต่เกลือที่ใช้ในการทำมัมมี่นั้น เป็นเกลืออีกชนิดหนึ่ง คือ เกลือสินเธาว์ ซึ่งเป็นเกลือประเภท แคลเซี่ยม คลอไรด์ เขาจึงเชื่อว่า ฟาโรห์ รามเสส ที่ 2 เป็นฟาโรห์ในยุค เอ็กซ์โซดัส
แต่กระนั้น ฝ่ายที่ไม่เชื่อว่าเป็นฟาโรห์ รามเสส ที่ 2 ก็แย้งว่า ตอนที่รามเสส ที่ 2 สิ้นพระชนม์นั้น พระองค์อายุประมาณ 90 -92 ปี
คนแก่ขนาดนี้หรือ ที่จะขับรถม้าไล่ตามจับ ชาวฮิบรูไปจนถึงทะเลแดง แล้วก็ไปจมน้ำตาย
ซึ่งก็เป็นข้อโต้แย้งน่าฟัง ดูมีน้ำหนักทั้งคู่
ข้อโต้แย้งในทุกเรื่องของประวัติสาสตร์อียิปต์โบราณนั้น ยังมีที่น่าสนใจอีกมาก อาทิเช่น จริงหรือว่าที่ โมเสส ใช้อำนาจของพระผู้เป็นเจ้า เปิดน้ำทะเลจนทำให้ชาวฮิบรู สามารถเดินข้ามไปได้ , ทะเลที่โมเสส เปิดน้ำนั้น เป็นทะเลแดงจริงหรือ หรือ ว่าเป็นทะเลอื่น
ล้วนแล้วแต่น่าสนใจทั้งสิ้น
สำหรับท่านที่สนใจต้องการเดินทางไปค้นหาความจริงในประวัติศาสตร์อียิปต์โบราณแบบสบายๆ สามารถเดินทางไปกับผมได้ ระหว่างวันที่ 3 – 13 ธันวาคม 2558 นี้
สำรองที่นั่งได้ที่ 02 651 6900 หรือ 088 578 6666 บริษัท ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่ จำกัด
สัปดาห์หน้า ผมจะเปลี่ยนบรรยากาศกลับมาพูดถึงหนังสือ “ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี สิริวรสาร” ต่อตามคำเรียกร้องครับ
แล้วพบกันครับ สวัสดี