ยุทธนาวีครั้งสุดท้ายของมาร์ก แอนโทนี และ คลีโอพัตรา(ตอนจบ)

ซอกซอนตะลอนไป    (10 ตุลาคม 2557)

ยุทธนาวีครั้งสุดท้ายของมาร์ก แอนโทนี และ คลีโอพัตรา(ตอนจบ)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ถึงวินาทีนี้   แอนโทนี ไม่เหลืออำนาจใดๆ ที่เรียกว่า  อิมเพอริอุม(IMPERIUM) ที่โรมเคยมอบให้อีกแล้ว   ฐานะของเขาจึงเป็นเพียงนักโทษหนีอาญาแผ่นดิน   เพราะ ออคเทเวียน ผู้กุมอำนาจในโรมเป็นผู้ชนะยุทธนาวีแห่งเมืองแอคเทียม 

               มาร์ก แอนโทนี และ คลีโอพัตรา  เริ่มเดินเข้าสู่มุมอับ หรือ ตาจนบนกระดานสนามรบ  ทั้งสองไม่มีทางเลือกอื่นใดอีกแล้ว  เพราะข้อเท็จจริงที่รู้มาก็คือ  ทหารจำนวนประมาณ 12 กองพล และทหารม้าจำนวน 19,000 นาย ได้แอบหลบหนีจากกองทัพไปแล้ว   

               พระนางคลีโอพัตรา จึงส่งเครื่องบรรณาการ พร้อมทั้งมงกุฎทองคำ และ บัลลังก์ไปให้แก่ ออคเทเวียน ด้วยข้อเสนอว่า พระนางจะประกาศยอมแพ้ และจะสละราชบัลลังก์ให้แก่โอรสของพระนาง  เพื่อแลกกับการที่ต้องตกเป็นผู้พ่ายแพ้ และถูกจับตัวไปเป็นเชลยศึก   

พระนางเพื่อหวังว่า  ออคเทเวียนจะยอมรับข้อเสนอดังกล่าว  


(มาร์ก แอนโทนี แสดงโดย ริชาร์ด เบอร์ตัน ออกศึกครั้งสุดท้ายอย่างเดียวดาย)

               ในขณะที่ แอนโทนี เองก็ยื่นข้อเสนอยอมส่ง มาร์คัส แอนโทนิอุส แอนทิลลุส(MARCUS ANTONIUS ANTYLLUS)  ลูกชายคนโตของเขาที่เกิดจากฟุลเสีย ฟลัคคา แบมบูลา(FULVIA FLACCA BAMBULA) ภรรยาคนที่ 3 ก่อนหน้าที่แอนโทนีจะได้ ออคเทเวีย(OCTAVIA) พี่สาวของออคเทเวียนมาเป็นภรรยา  พร้อมด้วยเงินทองอีกจำนวนหนึ่งไปให้แก่ออคเทเวียน เพื่อแลกกับการให้เขาไปลี้ภัยในเอเธนส์ในฐานะประชาชนธรรมดาคนหนึ่ง


(รูปสลักของ  มาร์คัส แอนโทนิอุส แอนทิลลุส)

               ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า   ออคเทเวียน ซึ่งรู้ว่าตัวเองเป็นต่อย่อมจะไม่ยอมรับข้อเสนอใดๆทั้งสิ้น    

               กองทัพของออคเทเวียน นำโดย พินาริอุส(PINARIUS) ขึ้นฝั่งที่เมืองพาเรโทเนียม(PARAETONIUM) ทางด้านทิศตะวันตกของเมืองอเล็กซานเดีย  และอีกกองทัพหนึ่งของออคเทเวียนที่นำโดย ไกอุส คอร์เนลลิอส กัลลุส(GAIUS CORNELIUS GALLUS)  ก็ขึ้นฝั่งที่เมืองเพลูเซียม(PELUSIUM)  ที่อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเมืองอเล็กซานเดรีย

               จากนั้น  ทั้งสองกองทัพก็เดินทางบีบเข้ามาสู่เมืองอเล็กซานเดรีย   ฐานที่มั่นสุดท้ายของ มาร์ก แอนโทนี และ พระนางคลีโอพัตรา  


(ลูกศรชี้ตรงกลางก็คือ อเล็กซานเดรีย  ลูกโป่งแดงด้านซายก็คือเมืองพาเรโทเนียม ลูกศรชี้ทางขวามือก็คือเมืองเพลูเซียม)  

               ชัยชนะครั้งแรกจากการปะทะกันของกองทัพทั้งสองฝ่ายที่เมืองอเล็กซานเดรียเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ปี 30 ก่อนคริสตกาล  เป็นของมาร์ก แอนโทนี    แต่ผลจากการตัดสินใจผิดพลาดของมาร์ก แอนโทนี ที่ละทิ้งเพื่อนทหารของเขาที่เมืองแอคเทียมกำลังส่งผล

               ทหารจำนวนมากของแอนโทนี เริ่มหนีทัพ อาจเป็นเพราะเสียกำลังใจ  หรือ มองเห็นว่าไม่อาจเอาชนะต่อกองทัพของออคเทเวียนที่มีกำลังพลที่เหนือกว่าได้ 

               กองทัพของแอนโทนี จึงประสบกับความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับในการปะทะกันครั้งต่อมา 

               มีข่าวบอกว่า พระนางคลีโอพัตรา ถูกจับกุมตัวแล้ว      แอนโทนี จึงพยายามที่จะลงเรือหนีออกจากอียิปต์อีกครั้ง    แต่ดูเหมือนเทพีแห่งโชคจะละทิ้งแอนโทนี อย่างเด็ดขาดเสียแล้ว

               แอนโทนี ไม่สามารถไปลงเรือตามที่นัดหมายเอาไว้ได้   จึงต้องกลับเข้ามาในเมืองอเล็กซานเดรียอีกครั้ง   

               เมื่อหมดหนทางที่จะไป   มาร์ก แอนโทนี เลือกที่จะปลิดชีวิตตัวเองด้วยการใช้มีดแทง   เพราะรู้ดีว่า   หากออคเทเวียน จับตัวเขาได้  ชะตากรรมของเขาจะเลวร้ายยิ่งกว่าสัตว์ก็ไม่ปาน

               แอนโทนี รู้ว่า   เขาคงไม่พ้นที่จะถูกจับใส่กรง  แล้วแห่แหนไปตามถนนในกรุงโรม  ก่อนที่จะถูกจับไปประหารด้วยการโยนลงมาจากหน้าผาที่หินทาเพียน

               ทางเลือกในการฆ่าตัวตายจึงเป็นทางเลือกแห่งการตายเพื่อรักษาเกียรติยศของชายชาติทหารเช่น มาร์ก แอนโทนี  

               ขณะนั้น  แอนโทนี ยังไม่เสียชีวิต  เขาถูกคนรับใช้พาไปยัง มอสโซเลียม ซึ่งก็คือ สุสานเก็บศพของกษัตริย์ เพื่อไปพบกับพระนางคลีโอพัตรา ที่ถูกคุมขังอยู่ที่นั่น  

               ในที่สุด  แอนโทนี ก็เสียชีวิตในอ้อมแขนของ คลีโอพัตรา

               ไม่มีใครรู้ว่า   มาร์ก แอนโทนี ได้พูดจาอะไรกับพระนางคลีโอพัตราบ้าง   แต่ในเวอร์ชั่นที่เป็นภาพยนต์ได้บรรยายภาพของการอยู่ร่วมกันครั้งสุดท้ายของทั้งสองเอาไว้อย่างสุดประทับใจบรรดาหนุ่มสาวที่ได้ชมภาพยนต์เรื่องนี้      

               หลังจากนั้น  พระนางคลีโอพัตรา ก็ถูกนำตัวเข้าไปในพระราชวัง  พระนางพยายามขอความเห็นใจจากออคเทเวียน   แต่ไร้ผล  

ในที่สุด  วันที่ 12 สิงหาคม ปี 30 ก่อนคริสตกาล   พระนางคลีโอพัตรา ก็ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองด้วยการให้งูพิษกัด   


(ภาพวาดในจินตนาการของศิลปิน  ตอนที่พระนางคลีโอพัตรา ให้งูพิษกัดเธอจนตาย ผลงานของ เรจินัลด์ อาร์เธอร์ (REGINALD ARTHUR)

หลังจากนั้นอีกไม่กี่เดือน  ซีซาเรียน ลูกชายคนเดียวของจูเลียส ซีซาร์ ที่เกิดจาก คลีโอพัตรา ที่หนีออกไปนอกเมืองก่อนหน้านั้นแล้ว  ก็ถูกทหารของออคเทเวียนตามไปสังหารได้ในที่สุด


(ภาพสลักของพระนางคลีโอพัตราที่ 7  กับ  ซีซาเรียน โอรสที่เกิดจากจูเลียส ซีซาร์ บนผนังของกำแพงวิหารที่เมืองเดนเดอร่า ในอียิปต์)  

(รูปสลักทำด้วยงาช้างตอนที่พระนางคลีโอพัตราให้งูพิษกัดตัวเองจนตาย ผลงานของ อะดัม เลนค์ฮาร์ดต์ (ADAM LENCKHARDT)  ปัจจุบันอยู่ที่ พิพิทภัณฑ์ศิลปะ วอลเตอร์)   

เมื่อสิ้นทายาทสายตรงของ จูเลียส ซีซาร์ ซึ่งเป็นเสี้ยนหนามในใจไปแล้ว   ออคเทเวียน ก็ก้าวขึ้นมาเป็นผู้กุมอำนาจสูงสุดในสาธารณรัฐโรมันอย่างเด็ดขาด   ไม่มีใครหาญกล้าที่จะมาต่อกรกับเขาอีกเลย

หลังจากออคเทเวียน ขึ้นเป็นผู้นำของสาธารณรัฐโรมัน   ระบอบการปกครองของโรมก็ค่อยๆแปรเปลี่ยนไป  กลายมาเป็นระบอบ “อาณาจักรโรมัน” ที่มีผู้นำในตำแหน่ง “จักรพรรดิ” ขึ้นปกครองอาณาจักรโรมัน มีพระนามว่า “จักรพรรดิ ออกุสตุส ซีซาร์”  

ไม่ว่าจักรพรรดิ ออกุสตุส จะมีความยิ่งใหญ่ประการใด   แต่ตำนานแห่งความรักระหว่าง มาร์ก แอนโทนี  และ  พระนางคลีโอพัตรา ที่ 7 แห่งอียิปต์   ก็ยังคงยิ่งใหญ่ และเป็นที่จดจำมาตราบจนทุกวันนี้


(ภาพจากภาพยนตร์ เมื่อ มาร์ก แอนโทนี สิ้นใจในอ้อมกอดของ พระนางคลีโอพัตรา)  

โลกจะยังคงจัดจำชื่อ  พระนางคลีโอพัตรา ที่ 7 และ มาร์ก แอนโทนี ไปอีกนานเท่านาน

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *