ยุทธนาวีครั้งสุดท้ายของมาร์ก แอนโทนี และ คลีโอพัตรา(ตอน 3)

ซอกซอนตะลอนไป    (19 กันยายน 2557)

ยุทธนาวีครั้งสุดท้ายของมาร์ก แอนโทนี และ คลีโอพัตรา(ตอน 3)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               แรกเริ่มเดิมที  ชาวโรมันเป็นพวกที่เก่งกาจในการรบทางภาคพื้นดิน   เสมือนฟ้าให้ชาวโรมันเกิดมาเพื่อเป็นทหารบก  

               แต่เมื่อพวกโรมันเริ่มทำสงครามกับอาณาจักรคาร์เธจ(CARTHAGE) ที่เรียกว่า  “สงครามพิวนิคครั้งที่ 1” ในช่วงปี 264 ถึงปี 241 ก่อนคริสตกาลนั้น    โรมันต้องมาพบกับชาวคาร์เธจที่เป็นนักรบที่มีความเชี่ยวชาญในการรบทางท้องทะเลเป็นพิเศษ

               ก่อนอื่น ขอชี้ให้ท่านผู้อ่านได้เห็นเสียก่อนว่า  อาณาจักรคาร์เธจนั้นตั้งอยู่ทางภาคเหนือของทวีปอัฟริกา   ปัจจุบันเป็นประเทศตูนีเซีย ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับประเทศอิตาลีพอดี


(คาร์เธจ อยู่ในประเทศตูนีเซีย  ตรงจุดลูกศรชี้)

               คาร์เธจ รุ่งเรืองขึ้นมาในช่วงใกล้เคียงกับโรมัน ซึ่งตอนนั้นเรียกว่า สาธารณรัฐโรมัน   แต่พวกคาร์เธจเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาได้ก็เพราะการค้าทางทะเล

               ดังนั้น   กองทัพของคาร์เธจจึงมีความเชี่ยวชาญการรบทางทะเลมากกว่าพวกโรมันในยุคสงครามพิวนิคครั้งที่ 1   เสมือนฟ้าให้ชาวคาร์เธจเกิดมาเป็นทหารเรือ เพื่อให้มาทำสงครามกับพวกโรมันที่เป็นทหารบก  

               ดังนั้น  ในช่วงต้นของสงครามพิวนิคครั้งที่ 1    กองทัพเรือของโรมันจึงพ่ายแพ้ต่อกองทัพเรือคาร์เธจอย่างไม่มีทางเทียบได้ 


(เรือรบในสมัยนั้น   ใช้ฝีพายในการขับเคลื่อน  มีทั้งประเภท 3 คนพาย หรือ 5 คนพาย)

               แต่เพียงไม่กี่หนของการปะทะกัน   กองทัพเรือโรมันก็แก้ปัญหาจุดอ่อนของตัวเองได้   ด้วยการประดิษฐ์ทางเดินที่เป็นตะขอเกี่ยวเพื่อยึดเรือของฝ่ายตรงกันข้ามให้ผูกติดกับเรือของพวกโรมัน   จากนั้น   การรบก็ไม่ต่างไปจากการรบภาคพื้นดินที่ทหารโรมันเชี่ยวชาญนัก


(คอร์วุส ซึ่งเป็นตะขอเกี่ยวยึดเรือของศัตรูเอาไว้เพื่อให้ทหารก้าวข้ามไปบนเรือของศัตรูได้อย่างง่ายดาย)   

               นับแต่นั้นมา   ยุทธนาวีระหว่าง โรมัน และ คาร์เธจ  ก็เสร็จพวกโรมันหมด จนคาร์เธจพ่ายแพ้อย่างยับเยินจนถูกทำลายล้างอย่างราบคาบ 

               สำหรับท่านที่สนใจจะไปชมอาณาจักรคาร์เธจ ในประเทศตูนีเซีย ซึ่งผมจะเป็นคนนำทัวร์เอง  กำหนดเดินทาง 19 ถึง 26 พฤศจิกายน นี้ ติดต่อได้ที่เบอร์โทร 02 651 6900 

               ที่เล่ามานี้ก็เพื่อจะบอกว่า   กองทัพเรือของโรมันนั้นเก่งกาจฉกาจฉกรรจ์ขนาดไหน  ในขณะที่ชาวอียิปต์โบราณมีความเชี่ยวชาญในการรบทางทะเลน้อยกว่ากันมาก 

               และทั้งสองชาติไม่เคยทำสงครามทางทะเลมาก่อนเลย  จึงไม่อาจประเมินกำลัง และความสามารถของฝ่ายตรงข้ามได้

               แต่มาร์ก แอนโทนี ได้เปรียบ ออคเทเวียน ตรงที่เขาเป็นทหารช่ำชองในการศึกมานาน   เคยเป็นทหารคนสนิทของจูเลียส ซีซาร์ มาก่อน  และเคยคุมกองกำลังทหารที่มีประสบการณ์ในการรบมาช้านาน  ทำให้มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับทหารเหล่านี้  ที่พร้อมมอบความจงรักภักดีให้แก่เขาเสมอ

               ในขณะที่ออคเทเวียน ไม่เคยเป็นทหารมาก่อน   เข้ามามีบทบาททางการเมืองและการทหารหลังจากที่ จูเลียส ซีซาร์ ถูกลอบสังหาร  และ ทำพินัยกรรมมอบอำนาจทางการเมืองให้แก่เขาเท่านั้น 


(รูปสลักของออคเทเวียน ในชุดจักรพรรดิแห่งโรม)

               แต่ออคเทเวียน ก็มีเพื่อนดีที่ชื่อ มาร์คัส วิปซานิอุส อะกริปปา (MARCUS VIPSANIUS AGRIPPA)   ทั้งสองเป็นทั้งเพื่อนที่เติบโตและเรียนหนังสือมาด้วยกัน  มาเป็นขุนพลคู่กายของเขา  และช่วยเขาโดยตลอดในช่วงเวลาที่เขาอยู่ในอำนาจ   จนกระทั่งขึ้นเป็นจักรพรรดิโรมัน มีพระนามว่า จักรพรรดิออกุสตุส ซีซาร์ 


(รูปสลักของ มาร์คัส วิปซานิอุส  อะกริปปา)

               อะกริปปา ช่วยเหลือออคเทเวียนมาตั้งแต่ช่วยจัดตั้งกองกำลังทหารขึ้น  ซึ่งในสมัยนั้น   กองกำลังทหารเป็นสิ่งที่ต้องจ้าง และ ให้ผลตอบแทน  

แต่สิ่งสำคัญก็คือ  ต้องรู้ที่จะผูกมัดจิตใจทหารแบบ “ใจซื้อใจ” จนสามารถทำให้ทหารเหล่านี้ตายแทนได้   ซึ่งเรื่องนี้  จูเลียส ซีซาร์ ทำได้ดี

ก่อนที่สัญญาร่วมกันเป็น “พันธมิตรครั้งที่สอง” ที่มีอายุ 5 ปีจะสิ้นสุดลงในปี 33 ก่อนคริสตกาล    มาร์ก แอนโทนี ก็ทำจดหมายถึงวุฒิสภา  เพื่อขอถอนตัวจากการเป็น “พันมิตรครั้งที่สอง” ในสมัยต่อไป 

ออคเทเวียน กล่าวหา  มาร์ก แอนโทนีว่า มีความทะเยอทะยานต้องการจะได้อำนาจเบ็ดเสร็จในการปกครองโรมเหมือนเผด็จการ   เพราะครั้งหนึ่ง  มาร์ก แอนโทนี เคยเสนอมงกุฎให้แก่ จูเลียส ซีซาร์  ซึ่งมงกุฎเป็นสัญลักษณ์ของตำแหน่งกษัตริย์ ขัดแย้งกับระบบการปกครองแบบสาธารณรัฐโรมันในยุคนั้นอย่างสิ้นเชิง    

ถือว่า   มาร์ก แอนโทนี เป็นศัตรูแห่งโรม มีโทษประหารสถานเดียว   

ส่วนแอนโทนีก็กล่าวหา ออคเทเวียนว่า   ก้าวขึ้นมาสู่อำนาจด้วยการกำจัด เลปิดุส   


(เหรียญกษาปณ์ที่มีใบหน้าของ มาร์คัส เอมิลิอุส เลปิดุส บนเหรียญเขียนว่า หนึ่งในสามของผู้บริหารสาธารณรัฐ)  

ออคเทเวียน ก็กล่าวหาแอนโทนีว่า   เขาไม่มีสิทธิและอำนาจจากโรมในการตั้งฐานที่มั่นอยู่ในอียิปต์   และกล่าวหาว่า  การที่แอนโทนี สังหาร เซกตุส ปอมเปอุส ซึ่งเป็นลูกชายของ ปอมเปย์ ผู้เป็นศัตรูของจูเลียส ซีซาร์   เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายโรมัน


(มาร์ก แอนโทนี  และ คลีโอพัตรา ในฉบับของภาพยนตร์อมตะ)

เพราะการสังหารประชาชนโรมันโดยไม่มีการไต่สวนก่อน   มีโทษประหารชีวิต 

และยังกล่าวหาอีกว่า  แอนโทนี ยักยอกทรัพย์สินที่ได้จากการทำสงครามเอาไว้มากกว่าครึ่งหนึ่ง   แทนที่จะแบ่งให้โรมครึ่งหนึ่งตามข้อตกลง

ในปี 32 ก่อนคริสตกาล   วุฒิสภาก็แตกแยกเป็นสองฝ่าย  สมาชิกหนึ่งในสามหันมาเข้าข้างแอนโทนี  และ ผู้ดำรงตำแหน่งกงสุลทั้งสองคน คือ เนอุส อะเฮนโนบาร์บุส(GNAEUS AHENOBARBUS)  กับ  ไกอุส ซอสซิอุส(GAIUS SOSIUS) ก็หันมาฝักใฝ่กับแอนโทนีด้วย

ตำแหน่งกงสุลของโรมัน มีความสำคัญมากคล้ายๆกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน

ออคเทเวียน ยังกล่าวหาว่า   ความสัมพันธ์ระหว่างมาร์ก แอนโทนี กับ คลีโอพัตรา และการที่แอนโทนี ยอมรับ ซีซาเรียน โอรสของ คลีโอพัตรา ที่เกิดจาก จูเลียส ซีซาร์ ว่าเป็นลูกชายที่ถูกต้องตามกฎหมายของจูเลียส ซีซาร์   ถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติแก่ตำแหน่งหน้าที่ของออคเทเวียนในโรม  

และเป็นการคุกคามต่อตำแหน่งผู้ปกครองแห่งโรมอย่างร้ายแรง

ดูท่าว่า   สงครามกลางเมืองระหว่างผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสองของโรม  และ สงครามระหว่าง อาณาจักรแห่งอารยธรรมที่เก่าแก่  กับ นักรบที่กระหายสงครามเช่นโรม จะไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไป 

ติดตามอ่านตอนหน้าครับ

สวัสดี  

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *