เทศกาลกุมภ์ เมลา(KUMBH MELA)

ชีวิตเป็นของมีค่า  8 

เทศกาลกุมภ์ เมลา(KUMBH MELA) 

โดย       เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ 

               วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2558 นี้   เป็นวันเริ่มต้นของเทศกาลที่สำคัญมากที่สุดอีกเทศกาลหนึ่งของศาสนาฮินดู    เรียกว่า   เทศกาล กุมภ์ เมลา (KUMBH MELA)  ปีนี้จะจัดขึ้นที่เมือง นาสิก(NASHIK)   

               เทศกาลนี้จะยาวไปจนถึงวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2558 

               แต่ช่วงเวลาของเทศกาลดังกล่าว  อาจจะแตกต่างกันไปบ้างตามแต่ภูมิภาค   เพราะสำหรับชาวฮินดูทางภาคใต้ของอินเดีย จะถือเอาวันที่ 13 กรกฎาคมเป็นวันเริ่มเทศกาล  เรื่อยไปจนถึงวันที่ 18 กันยายน  เป็นวันสุดท้าย 

               เทศกาลกุมภ์ เมลา  คืออะไร 

               ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู  เทศกาลกุมภ์ เมลา มีกำเนิดมาจากเรื่องราวตอนหนึ่งในมหากาพย์ เรื่อง  รามเกียรติ (RAMAYANA) 

               เป็นตอนที่บรรดาเทวดา ชวนให้พวกอสูรทั้งหลาย มาร่วมมือร่วมใจกัน กวนเกษียรสมุทร(SAMUNDRA MANTHAN) เพื่อจะได้น้ำอมฤตมาดื่มกันอันจะทำให้ชีวิตเป็นอมตะ  


(ภาพจากตำนานการกวนเกษียรสมุทร  ที่จัดแสดงในสนามบินสุวรรณภูมิ)

               ผมจะไม่เล่ารายละเอียดที่มาของการกวนเกษียรสมุทรนะครับ    เพราะไม่งั้นจะยาวเกินไป 

               เมื่อกวนเกษียรสมุทรได้เวลาพอสมควร   น้ำอมฤต(AMRITA)ก็ได้ไหลลงมาสู่โถน้ำจนเต็ม  บรรดาเทวดา และ อสูรเห็นเช่นนั้น   ต่างก็อยากจะดื่มน้ำอมฤตกันทันที  จึงได้ต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงน้ำอมฤตเป็นเวลา 12 วัน 12 คืน  ซึ่งเทียบเท่ากับเวลา 12 ปีในโลกมนุษย์

               ในระหว่างที่ทั้งสองฝ่ายกำลังสู้รบกันนั้น  พระวิษณุได้อวตานลงมาแล้วคว้าเอาโถน้ำอมฤต แล้วเหาะหนีไป  ระหว่างทางได้ทำน้ำอมฤตหกลงไปในสถานที่ 4 แห่งในโลกมนุษย์  คือ เมืองอัลลาฮาบัด(ALLAHABAD) หรือ ปรายัก(PRAYAG) ,  เมืองฮาริดวาร์(HARIDWAR) ,  เมืองอุจเชน(UJJAIN)  และ  เมืองนาสิก(NASHIK)  

               และนี่คือที่มาของเทศกาล กุมภ์ เมลา ซึ่งเป็นเทศกาลแสวงบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเทศกาลหนึ่งตามความเชื่อในศาสนาฮินดู  เพราะชาวฮินดูเชื่อว่า   น้ำอมฤตที่หกลงมาที่เมืองทั้ง 4 นี้เอง   ทำให้น้ำในแม่น้ำที่ไหลผ่านเมืองทั้งสี่  กลายเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ไป  

ชาวฮินดูจำนวนมหาศาล จึงพากันเดินทางจากทุกสารทิศ  มาอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่แม่น้ำที่เมืองทั้ง 4 แห่งนี้ในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลอง  ทั้งนี้เพื่อความเป็นศิริมงคลแก่ชีวิตของตนเอง 


(ผู้คนที่มาอาบน้ำที่เมืองฮาริดวาร์  ภาพจาก dreamstime.com ) 

               ว่ากันว่า   หากใครได้มาอาบน้ำที่แม่น้ำนี้สักครั้งหนึ่ง  ก็ถือว่าเป็นบุญอย่างมาก  เหมือนได้ชำระล้างบาปออกไปทำนองนั้น

               คำว่า “กุมภ์” เป็นภาษาสันสกฤติ   แปลว่า  คนโทน้ำ    ส่วนคำว่า  เมลา ก็เป็นภาษาสันสกฤติเช่นกันแปลว่า   การมารวมตัวกัน  หรือ  เทศกาล

               รวมความแล้ว   กุมภ์ เมลา   แปลว่า   เทศกาลแห่งคนโทน้ำ 

               คำว่า “กุมภ์” ก็ยังเป็นคำที่ถูกนำไปใช้ในวิชาโหราศาสตร์  โดยเป็นชื่อเรียก  ราศีกุมภ์ ซึ่งเป็นราศีที่ 11 ในจักรราศี  มีสัญลักษณ์เป็น  รูปคนโทน้ำ  นั่นเอง 


(สัญลักษณ์ของราศีกุมภ์  ก็คือ คนโทน้ำ  หรือ คนถือคนโทน้ำ  ภาพจากเว็บไซต์)

               เทศกาล กุมภ์ เมลา จะถูกหมุนเวียนไปจัดตามเมืองทั้ง 4 ด้วยการหมุนเวียนกันไปใน 4 เมืองในทุกๆ 12 ปี   

               สาเหตุที่ต้องเป็นทุกๆ 12 ปี  ก็เพราะความเชื่อทางศาสนาฮินดูที่ว่า   เทวดาจะต้องลงมาเอาโถน้ำอมฤตไปเก็บรักษา หรือ ซ่อนไว้ให้พ้นจากการค้นหาของบรรดาพวกอสูร   

               เข้าใจว่า   ป่านนี้ทั้งเทวดา และ อสูร ก็ยังคงรบกันไม่เสร็จไม่สิ้นเสียที

               นอกจากนี้   ยังตรงกับระยะเวลาที่ดาวพฤหัส(๕)โคจรครบรอบจักรราศี 1 รอบ  เพราะดาวพฤหัส(๕) จะใช้เวลาในการโคจรแต่ละราศีประมาณ 1 ปี 

               แต่นัยว่า  หากจัดกัน 12 ปีครั้ง ก็จะนานเกินรอ และ ไม่เพียงพอต่อความต้องการของชาวฮินดู   จึงมีความคิดเพิ่มเติมขึ้นมา  เพื่อจะได้จัดเทศกาลนี้เพิ่มเติมขึ้นมาอีก  ตามหลักต่อไปนี้

               ทุกๆ 3 ปี  จะมีเทศกาลกุมภ์ เมลา  หมุนเวียนกันไปในเมืองทั้งสี่   ซึ่งจะหมุนเวียนกันจนครบทั้ง 4 เมืองในเวลา 12 ปีอีกเช่นกัน 

               นอกจากนี้  ยังมีกฎอีกว่า  จะมีการจัดเทศกาล กุมภ์ เมลา หมุนเวียนกันระหว่างเมือง ฮาริดวาร์ และ เมืองปาร์ยัก  ในทุกๆ 6 ปี  ซึ่งเมื่อหมุนเวียนกันเมือง 1 รอบก็จะเท่ากับ 12 ปีอีกเช่นกัน   เทศกาลนี้เรียกว่า อาร์ดฮา กุมภ์ เมลา(ARDHA KUMBH MELA)  

               และทุกๆ 12 ปี  จะมีการจัดเทศกาล กุมภ์ เมลา ขึ้นที่เมือง ปาร์ยัก   เรียกเทศกาลนี้ว่า ปูรนา กุมภ์ เมลา(PRUNA KUMBH MELA)  

               และทุกๆ 144 ปี ซึ่งก็คือ 12 รอบของการที่ดาวพฤหัส(๕)โคจรครบรอบจักรราศี   จะมีการจัดเทศกาลที่เมือง  ปาร์ยัก  เรียกว่า  เทศกาล มหา กุมภ์ เมลา (MAHA KUMBH MELA) 

               จึงทำให้  เทศกาลกุมภ์ เมลา แทบจะจัดขึ้นทุกปีทีเดียว  


(ผู้คนมาอาบน้ำที่แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ด้วยความศรัทธาเต็มเปี่ยม) 

               จะเห็นว่า  วิธีการกำหนดวันเวลา และ สถานที่จัดงานเทศกาลนี้  จะอิงกับระยะเวลาการโคจรของดาวพฤหัส(๕)เป็นหลัก   และ ให้ความสำคัญแก่เมือง ปาร์ยัก มากเป็นพิเศษกว่าเมืองอื่นๆ

               เมื่อมีวิธีการกำหนดสถานที่จัดงานแล้ว    ก็ต้องมีการกำหนดระยะเวลาของเทศกาลด้วย   

               ตามที่ได้ว่ามาข้างต้น   หลักการในการกำหนดวันเวลาของเทศกาลดังกล่าว   จะยึดถือเอาการโคจรของดาวพฤหัส(๕)  ซึ่งเป็นดาวหลักของดาวฝ่ายเทพ  ผสมผสานกับตำแหน่งของดวงอาทิตย์(๑) ด้วย

               ยกตัวอย่างเช่น    เมื่อดาวพฤหัส(๕)โคจรอยู่ในราศีกุมภ์ และ พระอาทิตย์(๑) โคจรอยู่ในราศีเมษ จะมีการเฉลิมฉลองกันที่เมือง ฮาริดวาร์ 

               เมื่อตรวจดูจากโปรแกรมผูกดวงของอาจารย์วิเลิศ  จิว  ก็พบว่า   เมื่อวางให้พฤหัส(๕)จะอยู่ในราศีกุมภ์ และให้อาทิตย์(๑) อยู่ในราศีเมษ  ในปีหลังจากปีพ.ศ. 2558   ครั้งต่อไปก็จะเป็นวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2564  โดยประมาณ  


(ลูกศรด้านซ้ายสุด  จะชี้ที่อาทิตย์(๑)ที่ราศีเมษ  ลูกศรตรงกลางจะชี้ พฤหัส(๕)ในราศีกุมภ์  และลูกศรชี้ด้านขวาสุดจะชี้ที่วันที่  22 เมษายน พ.ศ. 2564)

               เมื่อย้อนกลับไปดูช่วงเวลาก่อนหน้า  ที่ดาวทั้งสองอยู่ในราศีเดิม  ก็จะตรงกับวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2553     


(ลูกศรซ้ายมือสุดชี้ที่อาทิตย์(๑)  ลูกศรตรงกลางจะชี้ที่ พฤหัส(๕)  และ ลูกศรขวามือสุดจะชี้ที่วันที่  22 เมษายน พ.ศ. 2553) 

               หมายความว่า   วันเวลาทั้งสองตัวอย่างข้างต้น   มีโอกาสที่จะจัดเทศกาลกุมภ์ เมลา ที่เมือง ฮาริดวาร์ได้    แต่จะได้หรือไม่   ต้องดูว่า  ปีนั้นเป็นปีที่เมืองฮาริดวาร์ ถึงวาระที่จะจัดงานหรือยัง   

               อีกโอกาสหนึ่ง   เมื่อพฤหัส(๕) โคจรเข้ามาอยู่ในราศี เมษ หรือ  ราศีพฤษภ  และอาทิตย์(๑) และ พระจันทร์(๒)อยู่ในราศีมังกร   เทศกาลกุมภ์ เมลา จะจัดขึ้นที่เมือง ปาร์ยัก  

               เมื่อวางให้พฤหัส(๕)อยู่ในราศีเมษ และ พระอาทิตย์(๑)กับพระจันทร์(๒)อยู่ในราศีมังกร  ในช่วงวันเวลาที่ใกล้ที่สุด    ก็จะเป็นเวลาประมาณวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2555 


(ลูกศรซ้ายมือสุดชี้ที่พฤหัส(๕)  ในวงกลมแสดง อาทิตย์(๑) และ จันทร์(๒) อยู่ในตำแหน่งที่เพิ่งจะเกิดพระจันทร์ดับมาใหม่ๆ   ลูกศรขวามือสุดชี้วันที่ 23 มกราคม  พ.ศ. 2555)

               ส่วนในครั้งถัด  ที่ดาวทั้งสามดวงอยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกับที่กล่าวมาข้างต้น  จะเป็นวันที่  9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 


(ลูกศรซ้ายมือสุดชี้ที่พฤหัส(๕)  ในวงกลมคือ อาทิตย์(๑) และ จันทร์(๒)  ส่วนลูกศรขวามือชี้ที่วันที่  9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567)  

               จะเห็นว่า   เมื่อต้องเอาพระจันทร์(๒) เข้ามาวางให้สัมพันธ์กับดาวอีก 2 ดวง   วันเวลาที่ดาวทั้งสามจะมาอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้เคียงกันกับเมื่อ 12 ปีที่แล้ว  จะไม่ใช่เดือนเดิมอีกแล้ว

               ดังนั้น  เพื่อรักษาวันเวลาที่ใกล้เคียงที่สุดเพื่อให้ดาวทั้งสามอยู่ในตำแหน่งเดิม  เดือนจึงต้องเปลี่ยนไป  ตามรูปจักราศีที่แสดงต่อไปนี้    ทั้งนี้เป็นผลมาจาก พระจันทร์(๒) ซึ่งเป็นดาวเล็กโคจรเร็ว 

ดวงจันทร์ จะใช้เวลา  29.50 วันโดยประมาณในการโคจรรอบจักรราศี 1 รอบ

               ในวันเวลาทั้งสองช่วงข้างต้น  อยู่ในเกณฑ์ที่จะสามารถจัดเทศกาลกุมภ์ เมลา ที่เมือง ปาร์ยักได้   แต่ก็ต้องดูองค์ประกอบอื่นด้วย 

               ช่วงเวลาต่อไปที่จะจัดเทศกาล กุมภ์ เมลา ก็คือ

               เมื่อ ดาวพฤหัส(๕)อยู่ในราศีสิงห์  และ อาทิตย์(๑)โคจรอยู่ในราศีเมษ  ช่วงเวลานี้ สามารถจัดงานเทศกาลกุมภ์ เมลา ที่เมือง อุจเจน   โอกาสที่ใกล้ที่สุดก็คือวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559     


(ลูกศรซ้ายสุดชี้ที่พฤหัส(๕)  ลูกศรด้านบนตรงกลางชี้ที่อาทิตย์(๑)  ลูกศรขวามือชี้ที่วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559)  

               โอกาสต่อไปที่ดาวพฤหัส(๕) และ อาทิตย์(๑)จะอยู่ในราศีนี้อีกก็คือประมาณวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2571 


(ลูกศรซ้ายมือชี้ที่พฤหัส(๕)  ลูกศรตรงกลางด้านบนชี้ที่อาทิตย์(๑)  ลูกศรขวามือชี้ที่วันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2571)

               สำหรับเทศกาลกุมภ์ เมลา ในปีนี้ที่จัดที่เมืองนาสิกนั้น  กำหนดเงื่อนไขว่า 

“เมื่อพฤหัส(๕) และอาทิตย์(๑)อยู่ในราศีสิงห์ หรือ  พฤหัส(๕) อาทิตย์(๑) จันทร์(๒)อยู่ในราศีกรกฎ  ในวันที่พระจันทร์(๒)ดับ”   

               เมื่อผมลองวางให้ดาวทั้งสามอยู่ในราศีกรกฎ ในปีพ.ศ. 2558 ดูก็พบว่า   ไม่สามารถจะทำได้  จึงเลื่อนมาเป็นที่ราศีสิงห์  พบว่า   วันที่พระอาทิตย์(๑) กับพระจันทร์(๒) ทับกันแบบสนิทองศา  ซึ่งหมายถึง  พระจันทร์ดับ หรือ อมาวสี นั้น  จะตรงกับวันที่ 13 กันยายน  พ.ศ. 2558 


(ลูกศรด้ายซ้ายชี้ที่พฤหัส(๕)  ภายในวงกลมก็คือ  อาทิตย์(๑) และ จันทร์(๒)ที่ทับกันสนิทองศา  ลูกศรขวามือชี้ที่วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2558   และ ลูกศรขวามือสุด  ชี้ที่เวลา 13.40 น.)

               เทศกาล กุมภ์ เมลา ของปีพ.ศ. 2558 นี้จะจัดกันที่วิหารของพระศิวะที่หมู่บ้าน ทริมเบคชวาร์ (TRIMBAKESSHWAR) ซึ่งห่างจากตัวเมืองนาสิกไปประมาณ 28 กิโลเมตร


(วิหารของพระศิวะ ที่หมู่บ้าน ทริมเบคชวา ตั้งอยู่ในหุบเขาที่ร่มรื่น  ภาพจากเว็บไซต์)

               วิหารของพระศิวะที่หมู่บ้าน ทริมเบคชวา ถือเป็น 1 ใน จำนวน 12 วิหารของพระศิวะที่ศักดิ์สิทธิที่สุดในประเทศอินเดีย   เป็นเมืองที่มีผู้นิยมไปทำพิธีแก้ “กาลสาปโยค”  ตามแนวคิดของวิชาโหราศาสตร์ภารตะ


(แผนที่อินเดีย   แสดงให้เห็นเมืองทั้ง 12 เมือง ซึ่งเป็นที่ตั้งของวิหารพระศิวะ ที่ได้รับการเคารพว่า  ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด)  

               ผมโชคดีมากที่เคยไปหมู่บ้านนี้มาแล้ว  และรู้สึกชอบหมู่บ้านทริมเบคชวาร์นี้เหลือเกิน   


(แม่น้ำโกดาวารี เมืองนาสิก ในวันธรรดาที่มิใช่เทศกาล  ผู้คนก็ยังมากมาย   ผมถ่ายภาพนี้ตอนที่ไปทำพิธีแก้กาลสาปโยคที่หมู่บ้านทริมเบคชวาร์) 

               หลังจากทำพิธีที่วิหารพระศิวะแล้ว  ผู้แสวงบุญก็จะมาอาบน้ำกันที่แม่น้ำโกดาวารี(GODAVARI) แม่น้ำศักดิสิทธิ์ และเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดเป็นอันดับสองในประเทศอินเดีย   รองลงมาจากแม่น้ำคงคา  

               ตำนานยังบอกว่า   พระราม พระลักษณ์ และ นางสีดา  เมื่อถูกเนรเทศออกมาจากเมือง อโยธยานั้น   ได้มาพำนักอยู่ที่เมืองนาสิก    จึงถือว่าเมืองนาสิกเป็นเมืองศักดิสิทธิ์

ในเมืองนี้จะมีวิหารของพระราม  พระลักษณ์ และ หนุมาน  อยู่มากมายหลายแห่งทีเดียว

               ส่วนสถานที่อาบน้ำที่เมือง ปาร์ยัก  นั้นยิ่งถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์กว่าที่เมืองนาสิกเสียอีก  เพราะเป็นจุดบรรจบกันของแม่น้ำ 3 สาย คือ  แม่น้ำคงคา(GANGA RIVER)  แม่น้ำ ยมุนา(YAMUNA RIVER)  และ แม่น้ำ สวัตวาตี(SARASVATI RIVER) 

ศาสนาฮินดูถือว่า  จุดบรรจบของแม่น้ำ  หรือ ทะเล  เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธ์ ที่เรียกว่า  ทริเวนี สังกัม(TRIVENI SANGAM) 

               ในขณะที่  เมืองฮาริดวาร์ ผู้แสวงบุญจะอาบน้ำกันที่ริมแม่น้ำคงคา   และที่เมืองอุชเชน  ผู้แสวงบุญจะอาบน้ำกันที่แม่น้ำ ชิปรา (SHIPRA)

               เริ่มต้นของเทศกาลกุมภ์ เมลา ในปีนี้ (พ.ศ. 2558) ก็คือวันที่ 2 สิงหาคม เป็นวันเริ่มต้นบูชาพระศิวะ   ซึ่งทำให้บรรดานักบวชในทางศาสนาฮินดู  ที่เรียกนว่า  “สวามี” (SWAMI) ที่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าชุดสีเหลืองอมชมพู  จะต้องจำศีลอยู่กับที่  ห้ามเดินทางไปไหนเป็นเวลา 1 เดือนเต็ม  เนื่องจากในประเทศอินเดียตรงกับฤดูฝน  


(สวามีประเภทหนึ่ง ในศานาฮินดู)

(บรรดาสวามี  ลงอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์)

(สวามี อีกประเภทหนึ่ง)

(สวามี  ที่เรามักจะเรียกว่า  โยคี)

               มีลักษณะเหมือนกับการเข้าพรรษาของพระในทางศาสนาพุทธ  เพียงแต่พระในทางศาสนาพุทธจะจำพรรษานาน 3 เดือน 

               การฉลองเทศกาลกุมภ์ เมลา จะยาวนานประมาณ 1 เดือนครึ่ง   นั่นหมายความว่า  จะไปจบเอาประมาณวันที่ 15 กันยายน

               แต่เนื่องจากวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2558 เวลา 13.40 น.  เป็นเวลาที่พระจันทร์(๒)จะทับกับพระอาทิตย์(๑)แบบสนิทองศา   เรียกว่า  พระจันทร์ดับ  หรือ อมาวสี(AMAVASYA) 

               โหราศาสตร์ฮินดู  เรียกช่วงเวลาหลังจากเกิดจันทร์ดับไปแล้ว หรือ ช่วงเวลาที่ผ่านแรม 15 ค่ำเต็มไปแล้วว่า    พระจันทร์เกิดใหม่  หรือ  พระจันทร์ใหม่ (NEW MOON)

               ถือว่าเป็นวันดี   เป็นวันมงคล  

               จึงถือเอาวันที่ 13 กันยายน  พ.ศ. 2558   เป็นวันสุดท้ายของเทศกาลกุมภ์ เมลา 

               กระนั้นก็ตาม  ในบางสถานที่อาจจะมีกำหนดเวลาที่แตกต่างไปบ้าง   เช่น ที่เมืองนาสิก กำหนดให้วันที่ 16 กันยายน  พ.ศ. 2558  เป็นวันสุดท้ายของเทศกาลกุมภ์ เมลา  

ในขณะที่  อินเดียภาคใต้บางแห่ง  อาจกำหนดให้วันที่ 18 กันยายน  เป็นวันสุดท้ายของเทศกาลกุมภ์ เมลา ก็ได้    ทั้งนี้ตามแต่ปฎิทินทางศาสนาที่อาจจะมีความแตกต่างกันบ้าง 


(ผู้คนล้นหลามที่มาอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์  เพื่อเป็นสิริมงคลต่อตัวเอง)

               เนื่องจากจะมีคนเดินทางมาอาบน้ำในเทศกาลนี้นับล้านๆคน    ดังนั้น  จึงเป็นการยากที่จะควบคุมฝูงชนให้อยู่ในระเบียบ   จึงมักจะเกิดเรื่องเศร้าที่ผู้คนเหยียบกันตายแทบจะทุกปี    หวังว่าปีนี้จะไม่มีเรื่องร้ายเกิดขึ้นอีก

               บางท่านอาจจะคิดว่า   เทศกาลดังกล่าวเป็นเรื่องเหลวไหลหรือไม่   ก็ขอเรียนว่า    เทศกาลดังกล่าวมีการจัดกันมานานนับพันปีแล้ว  

               พระถังซัมจั๋ง (XUANZANG) ซึ่งเป็นพระในสมัยราชวงศ์ถัง  ที่เดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎกจากประเทศอินเดียในช่วงปี ค.ศ. 629 ถึง 645 หรือ ปีพ.ศ. 1172  ถึง ปีพ.ศ. 1188  ก็ยังได้เดินทางมาชมเทศกาล กุมภ์ เมลา ที่เมืองนาสิก  และยังได้บันทึกเรื่องราวต่างๆเอาไว้ด้วย  

               สำหรับท่านที่ต้องการจะไปชมเทศกาล กุมภ์ เมลา  ก็จะต้องบินไปลงที่เมือง มุมไบ  แล้วต่อรถยนต์ไปที่เมืองนาสิกอีกประมาณ 3 ชั่วโมง    แต่ถึงวินาทีนี้   การหาโรงแรมที่พักคงจะยากพอๆกับการงมเข็มในมหาสมุทรแล้ว

               ที่ผมนำเอาเรื่องเรื่องของเทศกาลสำคัญของศาสนาฮินดูมาเล่าให้ฟัง  ก็เพราะเป็นประเพณีเก่าแก่ที่น่าสนใจ  และเป็นเรื่องที่น่ารู้

               ให้สมกับชื่อคอลัมน์ “ชีวิตเป็นของมีค่า” ครับ

(สุดท้าย  ขอขอบคุณ คุณอาเจ ปาวาร์ กัลยาณมิตร ชาวไทยเชื้อสายอินเดีย  และ MR.SSRIDAR LAKSHMANAN  กัลยาณมิตรชาวอินเดีย ผู้มีวรรณะพราหมณ์  ได้กรุณาให้ข้อมูลความรู้แก่ผู้เขียนเป็นอย่างดี) 

Posted in ชีวิตเป็นของมีค่า โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ.

4 Comments

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *