ชีวิตเป็นของมีค่า 7
“บลู มูน”(BLUE MOON) และ ความผิดพลาดของวันอาสาฬหบูชา
คืนนี้ หากมีเวลา ก็อย่าลืมชมพระจันทร์วันเพ็ญ นะครับ
บางท่านอาจจะถามว่า มีอะไรพิเศษจึงต้องดูพระจันทร์วันเพ็ญในคืนนี้ ก็เลยขอนำข้อมูลทางดาราศาสตร์มาเล่าให้ฟังครับว่า พระจันทร์วันเพ็ญในคืนนี้ ฝรั่งเขาเรียกว่า บลู มูน(BLUE MOON) ครับ
ก่อนอื่นก็ต้องเรียนว่า คำว่า “บลู มูน” ซึ่งความหมายตามตัวหนังสือ ก็คือ พระจันทร์สีน้ำเงิน มิได้มีความหมายตามตัวหนังสือแต่อย่างใด
แต่ความหมายที่แท้จริงของคำนี้ก็คือ วันพระจันทร์เพ็ญ ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ภายใน 1 เดือน ซึ่งออกจะไม่ปกติ
เพราะโดยปกติ พระจันทร์วันเพ็ญ หรือที่ในภาษาโหราศาสตร์ เรียกว่า “บูรณมี” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ขึ้น 15 ค่ำ” จะเกิดขึ้นเดือนละ 1 ครั้ง และ พระจันทร์ดับ หรือที่ในภาษาโหราศาสตร์ เรียกว่า “อมาวสี” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “แรม 15 ค่ำ” จะเกิดขึ้นเดือนละ 1 ครั้ง เช่นกัน
ในทางดาราศาสตร์ วันพระจันทร์เพ็ญก็คือวันที่ พระจันทร์ โคจรอยู่ด้านตรงกันข้ามกับพระอาทิตย์ โดยมีโลกอยู่ตรงกลาง ด้วยเหตุนี้ พระจันทร์ซึ่งเป็นดาวบริวารของโลก จึงได้รับแสงของพระอาทิตย์เต็มๆ จึงกลายเป็นพระจันทร์มีแสงมาก และ ชาวโลกจะเห็นแสงของพระจันทร์ สว่างกลมทั้งดวง
ส่วนวันที่พระจันทร์ดับ ก็คือวันที่พระจันทร์โคจรอยู่ด้านเดียวกันกับพระอาทิตย์ โดยที่พระจันทร์จะอยู่ตรงกลางระหว่าง พระอาทิตย์กับ โลก ทำให้พระจันทร์ด้านที่หันมาหาโลกไม่ได้รับแสงของพระอาทิตย์ ก็เลยกลายเป็นพระจันทร์ อับแสง หรือ พระจันทร์ดับ
นี่คือการเกิดของพระจันทร์เพ็ญ และ พระจันทร์ดับในทางดาราศาสตร์
แล้ว บลู มูน มันมาอย่างไร
ตามหลักวิชาดาราศาสตร์ถือว่า พระจันทร์จะใช้เวลา 29.530589 วัน ในการโคจรจากจุดวันเพ็ญแรกไปสู่จุดวันเพ็ญถัดไป ไม่ใช่ 30 วันตามที่คนทั่วไปเข้าใจ
และไม่ตรงกับปฎิทินชาวบ้านของไทยที่ใช้กันอยู่
ด้วยเหตุนี้ หนึ่งเดือนตามปฎิทินสากล ซึ่งเป็นปฎิทินแบบสุริยคติ ที่กำหนดจากพระอาทิตย์ จึงไม่ลงตัวกันสนิทกับหนึ่งเดือนทางจันทรคติ ที่กำหนดจากพระจันทร์ ด้วยเหตุนี้ เดือนทางสุริยคติ จึงมักจะคร่อมกันกับเดือนทางจันทรคติ นานเข้าจึงต้องมีการเพิ่มวันเข้าไปในเดือนกุมภาพันธ์ ให้เป็น 29 วัน
ที่เรียกว่า ปีอธิกสุรทิน
และด้วยการเหลื่อมของวันในแต่ละเดือน จึงทำให้ในบางปี แทนที่จะมีวันจันทร์เพ็ญ 1 ครั้งใน 1 เดือน กลายเป็นว่าจะมีเดือนพิเศษที่มีวันจันทร์เพ็ญ 2 ครั้ง
และในปีพ.ศ. 2558 นี้ วันจันทร์เพ็ญ 2 ครั้งจะเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม คือวันที่ 31 กรกฎาคม เวลา 17.43 น.ตามเวลาประเทศไทย เมื่อพระอาทิตย์ โคจรอยู่ที่ราศีกรกฎ ที่ 13 องศา 51 ลิปดา และ พระจันทร์ โคจรอยู่ที่ราศีมังกร ที่ 13 องศา 51 ลิปดา
ในขณะที่วันจันทร์เพ็ญครั้งแรกของเดือนกรกฎาคมนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม เมื่อเวลา 09.18 น. เมื่อพระอาทิตย์โคจรอยู่ที่ราศีเมถุนที่ 15องศา 50 ลิปดา และ พระจันทร์โคจรอยู่ที่ราศีธนู ที่ 15 องศา 50 ลิปดาเช่นกัน
ดังนั้น ฝรั่งจึงเรียก พระจันทร์เพ็ญครั้งที่ 2 ใน 1 เดือน ว่า บลู มูน ซึ่งไม่ได้หมายความว่า พระจันทร์จะเป็นสีน้ำเงิน หรือ พระจันทร์จะใหญ่กว่าปกติแต่อย่างใด แต่หากมีความหมายว่า เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยาก คือ ประมาณปีละ 1 ครั้ง
ในปี 2558 ได้เกิดพระจันทร์เพ็ญมาแล้ว 7 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 วันที่ 5 มกราคม , ครั้งที่ 2 วันที่ 3 กุมภาพันธ์ , ครั้งที่ 3 วันที่ 5 มีนาคม , ครั้งที่ 4 วันที่ 4 เมษายน , ครั้งที่ 5 วันที่ 4 พฤษภาคม , ครั้งที่ 6 วันที่ 2 มิถุนายน , ครั้งที่ 7 วันที่ 2 กรกฎาคม
ส่วนคืนนี้คือวันที่ 31 กรกฎาคมจะเป็นครั้งที่ 8 , ครั้งที่ 9 คือวันที่ 29 สิงหาคม ครั้งที่ 10 วันที่ 28 กันยายน ครั้งที่ 11 วันที่ 27 ตุลาคม ครั้งที่ 12 วันที่ 25 พฤศจิกายน และ ครั้งสุดท้ายของปีนี้ หรือครั้งที่ 13 จะตรงกับวันที่ 25 ธันวาคม 2558
ด้วยเหตุนี้ จึงมีสุภาษิตของฝรั่งที่ว่า ONCE IN A BLUE MOON ที่มีความหมายทำนองว่า ไม่มีวันเสียหรอก หรือ รอให้น้ำท่วมหลังเป็ดเสียก่อนเถอะ
ในทางโหราศาสตร์ การเกิดพระจันทร์เพ็ญนั้น พระอาทิตย์(๑) ซึ่งในโปรแกรมคำนวนทางโหราศาสตร์ของอาจารย์วิเลิศ จิว จะแทนด้วยเลข 1 กับ พระจันทร์(๒) ซึ่งจะแทนด้วยเลข 2 จะอยู่ในราศีตรงกันข้ามกัน และเล็งกันกันแบบสนิทองศา ตามตัวอย่างที่ผมแสดงให้ชม
แต่ถ้าลองเปิดปฎิทินที่ได้รับแจกๆกันมา ก็จะไม่เห็นว่า พระจันทร์เพ็ญครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม แต่จะเห็นพระจันทร์เพ็ญในวันที่ 30 มิถุนายน แทน
นี่คือความผิดพลาดของปฎิทินชาวบ้าน ซึ่งความผิดพลาดดังกล่าว ทำให้เรากำหนดวัน “อาสาฬหบูชา” ซึ่งเป็นคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ ผิดพลาดไม่ตรงกับความหมายที่แท้จริงของวันดังกล่าว
เพราะในทางพุทธศาสนา วันอาสาฬหบูชา จะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 ซึ่งพระจันทร์จะต้องเพ็ญในอาสาฬหมาส หรือ ฤกษ์ที่ 20 – 21 ตามปฎิทินโหร แต่วันที่ประเทศไทยถือว่าเป็นวันอาสาฬหบูชา ที่เพิ่งผ่านไปคือวันที่ 30 กรกฎาคม 2558 นั้น แท้จริงแล้วไม่ถูกต้อง
เพราะวันขึ้น 15 ค่ำที่แท้จริงก็คือวันที่ 31 กรกรฎาคม 2558 เวลา 17.43 น. ดังนั้น ที่ถูกต้องแล้ว วันอาสาฬหบูชาของปีพ.ศ. 2558 จึงควรจะเป็นวันที่ 31 กรกฎาคม
แต่อันที่จริง พระพุทธเจ้าไม่เคยยึดถือเรื่องฤกษ์ ยาม หรือ เวลาแต่อย่างใด พระองค์ถือว่า หากกระทำความดีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นขึ้น 14 ค่ำ หรือ ขึ้น 15 ค่ำ ก็ไม่แตกต่างกัน
ต่อให้เป็นแรม 15 ค่ำ อันเป็นวันที่พระจันทร์ดับ หากทำความดีแล้ว ผลที่ได้รับก็ย่อมเป็นความดี
แต่ที่นำมาเล่าในที่นี่ก็เพราะเห็นว่า เป็นโอกาสพิเศษ “บลู มูน” ตามคติของฝรั่ง และ วันอาสาฬหบูชา ที่ผิดพลาดไม่ตรงตามคติที่แท้จริง แต่นั่นก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า เราได้ทำความดีหรือไม่ หากทำความดีแล้ว วันไหนก็เป็นวันดี
หรือหากใครจะไปเวียนเทียนในวันนี้ 31 กรกฎาคม 2558 ก็ไม่ถือว่า ผิดประเพณีแต่อย่างใดครับ