ชีวิตเป็นของมีค่า 6
ว่าด้วย สงกรานต์สี จนถึงวันปีใหม่ของฮินดู (ตอน 2)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
วันที่ 6 มีนาคม 2558 ที่เพิ่งผ่านมา เป็นวันจันทร์เพ็ญ หรือ วันบูรณมี หรือ ที่เรียกกันเป็นภาษาชาวบ้านก็คือ วันขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันสงกรานต์สีตามประเพณีของศาสนาฮินดู ที่ชาวฮินดูเรียกว่า วันโฮลี (HOLI)
วันโฮลี จะอยู่ในเดือน ฟัลกุน(FALGUN) หรือ ฟัลกุนนา(PHALGUNA) ตามปฎิทินของศาสนาฮินดู และถือเป็นเดือนที่ 12 หรือ เดือนสุดท้ายของปี ตามปฎิทินแบบจันทรคติของฮินดู
เดือนฟัลกุน ตามปฎิทินของฮินดู จะคร่อมเดือนระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ และ เดือนมีนาคม ตามปฎิทินแบบเกรกอเรียน(GREGORIAN CALENDAR) ซึ่งเป็นเดือน ที่ 2 และ 3 ตามแบบสากล
เมื่อนับจากวันโฮลี ซึ่งเป็นวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2558 ต่อไปอีก 14 วัน ก็จะตรงกับวันที่ 20 มีนาคม 2558 ซึ่งเป็นวันอมาวสี หรือวันพระจันทร์ดับ หรือที่ชาวบ้านเรียกขานกันว่า วันแรม 15 ค่ำ
ถ้าดูจากปฎิทินในโปรแกรมผูกดวงของ อาจารยฺวิเลิศ จิว ก็จะเห็นว่า วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2558 เวลา 16 นาฬิกา 36 นาที 13 วินาที เป็นช่วงเวลาที่พระจันทร์(๒)กับพระอาทิตย์(๑) โคจรทับกันสนิทองศา
หรือตามที่ภาษาโหรเรียกว่า แรม 15 ค่ำเต็มตาม “ดิถีเพียร” แต่ตาม “ดิถีตลาด” จะชี้ว่า เป็นขึ้น 1 ค่ำแล้ว
ถัดจากนั้นไปอีก 1 นาที ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของวันขึ้น 1 ค่ำเดือน ชัยตรา(CHAITRA) ของปฎิทินแบบฮินดู ซึ่งตามปฎิทินของของศาสนาฮินดูถือว่า เดือนชัยตรา เป็นเดือนที่ 1 ของปี
ดังนั้น วันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2558 จึงเป็นวัน “พระจันทร์ใหม่” หรือ NEW MOON ตามปฎิทินในแบบจันทรคติของศาสนาฮินดู เป็นวันที่ศาสนาพราหมณ์ถือว่า ศักดิ์สิทธิ์
และถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวฮินดูอีกด้วย
ในวัน พระจันทร์ใหม่ของเดือนที่แล้ว ซึ่งตรงกับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 นั้น เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองใหญ่อีกเทศกาลหนึ่งของชาวฮินดูในประเทศอินเดีย และประเทศใกล้เคียง
เรียกว่า เทศกาล พงกัล(PONGAL)
เทศกาลพงกัล เป็นเทศกาลที่แสดงถึงความสำนึกในบุญคุณของธรรมชาติ ของแผ่นดิน และ ของบรรดาสัตว์ต่างๆที่ช่วยในการเพาะปลูก เช่น วัว หรือ ควาย
ในวันนี้ ชาวบ้านจะให้วัวควายได้พักผ่อน และจะตกแต่งประดับประดาวัวควายด้วยสีสัน และ เครื่องประดับต่างๆ บางครั้งก็พาสัตว์เหล่านี้ไปลงเล่นน้ำในแม่น้ำลำคลองอีกด้วย
เนื่องจากวันเทศกาลพงกัล ถือเป็นวันหยุดราชการ ดังนั้น ชาวบ้านก็จะหยุดทำงานแล้วพากันแต่งกายด้วยชุดเสื้อผ้าที่สวยงามที่สุด แล้วพาสมาชิกในครอบครัวออกไปเที่ยวพักผ่อนตามสถานที่ต่างๆกันด้วยความสนุกสนาน
และที่พลาดไม่ได้ก็คือ การไปกราบไหว้เทวาลัยต่างๆที่ตัวเองเคารพนับถือ เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ตนเอง และยังรับเอาข้าวพงกัล ที่ทางเทวาลัยหุงขึ้นมาเพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้มาทำบุญที่เทวาลัยด้วย
เชื่อกันว่า ใครได้ทานข้าวพงกัลในวันนี้ จะเป็นกุศลอย่างยิ่ง
ย้อนกลับมาพูดถึงวันปีใหม่ตามปฎิทินจันทรคติของชาวฮินดู ซึ่งตรงกับวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
เพราะนอกจากจะเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวฮินดูแล้ว ชาวเปอร์เชี่ยน หรือ อิหร่านในปัจจุบันนี้ ก็ถือเอาวันที่ 21 มีนาคมของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ด้วย
วันที่ 21 มีนาคม สำคัญอย่างไร
วันที่ 20 หรือ 21 มีนาคมของทุกปี จะเป็นวันที่ทางวิชาดาราศาสตร์ เรียกว่า วสันตวิษุวัติ หรือ VERNAL EQUINOX หรือ วันที่กลางคืนและกลางวันยาวเท่ากัน
ในทางดาราศาสตร์หมายถึง วันที่พระอาทิตย์อยู่ในตำแหน่งที่ตรงและตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกพอดี ก่อนที่โลกจะค่อยๆหมุนเอาส่วนของซีกโลกเหนือหันเข้าหาพระอาทิตย์มากขึ้นเรื่อยๆ ปรากฎการณ์ดังกล่าว จะทำให้ภูมิอากาศของซีกโลกเหนืออุ่นขึ้นเรื่อยๆ
ทำให้ประเทศทางซีกโลกเหนือจะมีภูมิอากาศย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ และ ฤดูร้อนในที่สุด และจะทำให้ประเทศทางซีกโลกใต้มีภูมิอากาศย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง และ ฤดูหนาว
ในทางตรงกันข้าม ศารทวิษุวัต หรือ AUTUMNAL EQUINOX จะเกิดขึ้นประมาณวันที่ 22-23 กันยายนของทุกปี พระอาทิตย์จะอยู่ตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตร ก่อนที่จะค่อยๆหมุนหันซีกโบกใต้เข้าหาดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อยๆ ปรากฎการณ์ดังกล่าว จะทำให้ประเทศในซีกโลกใต้มีภูมิอากาศอุ่นขึ้นเรื่อยๆ
ทำให้ประเทศทางซีกโลกใต้ค่อยๆย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ และ ฤดูร้อนในที่สุด และทำให้ประเทศทางซีกโลกเหนือค่อยๆย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง และ ฤดูหนาว
นอกจากประเทศอินเดีย และ ประเทศรอบๆประเทศอินเดียแล้ว วันที่ 21 มีนาคม ยังได้รับการยอมรับว่า เป็นวันแรกของการเข้าสู่ฤดูใบผลิ จากประเทศจีน ที่กำหนดเป็นช่วงเวลาของเทศกาล เช็งเหม็ง และ ประเทศญี่ปุ่น ที่กำหนดเป็นวันแรกแห่งฤดูใบไม้ผลิ และวันแห่งการชื่นชมธรรมชาติ และ เมตตาต่อสิ่งมีชีวิต
ที่น่าสนใจก็คือ บรรดาชาติที่กำหนดให้วันที่ 21 มีนาคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ของตนเอง ล้วนเป็นชาติที่มีอารยะธรรมเก่าแก่ เป็นชาติที่มีความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ที่ลึกซึ้งยิ่ง
และที่สำคัญก็คือ เป็นชาติที่มีวิชาความรู้ทางด้านโหราศาสตร์ที่สั่งสม และ ถ่ายทอดกันมาเป็นรุ่นๆมาจนถึงวันนี้
เปอร์เชี่ยน หรือ อิหร่าน มีความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านดาราศาสตร์มากมาตั้งแต่ยุคโบราณ ว่ากันว่า นักปราชญ์ 4 คนที่เดินทางติดตามดวงดาวบนท้องฟ้า เพื่อไปพบพระเยซูที่ประสูติที่เมืองเบ็ธเลเฮมตามพระคัมภีร์ฉบับพันธะสัญญาใหม่นั้น ก็เป็นชาวเปอร์เซี่ยน
ชาวอินเดีย ก็มีความเชี่ยวชาญทั้งทางด้านดาราศาสตร์ และ วิชาวิชาโหราศาสตร์ ประสบความสำเร็จในการส่งจรวจไปยังดาวอังคารมาแล้ว และยังเป็นต้นกำเนิดของวิชาโหราศาสตร์ภารตะ และเป็นต้นธารของโหราศาสตร์แขนงต่างๆที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในแถบสุวรรณภูมิ เช่น พม่า และ ไทย
ชาวจีน ก็มีความเชี่ยวชาญทางด้านดาราศาสตร์มาตั้งแต่ยุคโบราณ ถึงขนาดว่า ขงจื่อ ปราชญ์โบราณชาวจีนที่มีชีวิตร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า ก็ได้สั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาเกี่ยวกับเรื่อง “คราส” ด้วย
ชาวญี่ปุ่น ก็มีความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ที่ลึกซึ้ง เคยท้าทายกับจีนในการทายวันเกิด “คราส” มาตั้งแต่หลายร้อยปีมาแล้ว
ทั้งจีน และ ญี่ปุ่น ก็ใช้วันที่ 21 ในความหมายที่คล้ายวันขึ้นปีใหม่มาก แต่อาจจะแตกต่างในรายละเอียด
กลับมาพูดถึงเดือนชัยตรา ตามปฎิทินของฮินดู อีกครั้ง
โศลกโบราณของอินเดียที่ชื่อ CHATURVARGA CHINTAMANI กล่าวไว้ว่า พระพรหม ได้สร้างจักรวาลขึ้นในวันที่หนึ่งของ ศุกลปักษ์(SHUKLA PAKSHA) ของเดือนชัยตรา พระองค์ยังได้สร้างดาวเคราะห์ต่างๆ ดวงดาว ฤดูกาล ปี และ เทพเจ้าประจำของทุกปีด้วย
ศุกลปักษ์ ก็คือ 15 วันแรกของเดือน หรือ ปักษ์แรกของเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่พระจันทร์เริ่มมีแสงขึ้น หลังจากที่ผ่านพ้นวันแรม 15 ค่ำมาแล้ว
และนี่คือเหตุผลที่ชาวฮินดูเคารพนับถือว่า เดือนชัยตรา เป็นเดือนที่ศักดิ์สิทธิ์มาก
พบกันใหม่ในตอนถัดไปครับ