ซอกซอนตะลอนไป (22 สิงหาคม 2557)
ศักดิ์ศรีของประเทศ และ กระทรวงต่างประเทศ(ตอน 1)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
แรกทีเดียว วางแผนว่าจะเขียนเรื่อง อียิปต์ และ การฆ่าตัวตายของพระนางคลีโอพัตรา ที่ 7 แต่มีเหตุต้องเอาเรื่องนี้มาเขียนเสียก่อน เพราะอดรนทนไม่ไหวจริงๆ
ท่านผู้อ่านที่ไม่ได้ไปประเทศอินเดียนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา คงจะไม่ทราบว่า สถานทูตอินเดียประจำประเทศไทย ได้เปลี่ยนระเบียบการขอวีซ่าเข้าประเทศอินเดียเสียใหม่ ทำให้ผู้ขอวีซ่าเข้าประเทศอินเดีย จะต้องไปที่สถานทูตอินเดียเพื่อสแกนลายนิ้วมือทุกคน และ ทุกครั้งที่ขอวีซ่า
เรียกว่า อินเดียเอามาตรฐานการขอวีซ่า ของประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และ สหภาพยุโรปมาใช้กับคนไทยเลยทีเดียว
จะว่าไป การออกระเบียบ หรือเปลี่ยนระเบียบในการขอวีซ่า เป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาดของทุกประเทศ หรือแม้แต่จะห้ามคนใดคนหนึ่งเข้าประเทศของเขาก็ได้
แต่ที่ผมจะพูดถึงก็คือ ศักดิ์ศรีของประเทศไทย และ กระทรวงการต่างประเทศ
ในช่วงหลายปีหลังนี้ ประเทศอินเดียเข้มงวดกับการขอวีซ่าของคนไทยมากขึ้นทุกวัน จากแรกเริ่มเดิมทีที่การขอวีซ่าของคนไทยค่อนข้างจะง่ายมาก ต่อมา ก็ออกกฎให้คนไทยที่อยู่ในสามจังหวัดภาคใต้ต้องไปแสดงตัวที่สถานทูต
และในขณะนี้ ระเบียบใหม่ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้ยื่นขอวีซ่าเข้าอินเดียทุกคนต้องไปสแกนลายนิ้วมือที่สถานทูต
เมื่อมาดูในส่วนของชาวอินเดียที่จะยื่นขอวีซ่าเพื่อเดินทางเข้าประเทศไทยก็พบว่า ขณะนี้ สิ่งที่ชาวอินเดียต้องใช้ในการยื่นขอวีซ่าก็คือ พาสปอร์ตที่มีอายุมากกว่า 6 เดือนจนถึงวันเดินทางกลับ , ตั๋วเครื่องบินไป-กลับ , ค่าธรรมเนียน , รูปถ่าย
และ ใบเสร็จที่ออกโดยธนาคาร แสดงการแลกเงินจากเงินรูปีอินเดีย มาเป็นเงินยูเอส ดอลลาร์ เป็นจำนวน 500 ดอลล่าร์
ที่ต้องมีใบเสร็จที่แสดงการแลกเงินตราต่างประเทศจากธนาคารก็เพราะ เพื่อเป็นการยืนยันว่า บุคคลที่มีชื่อตามพาสปอร์ต ได้ทำการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เพื่อนำไปใช้จ่ายในต่างประเทศเรียบร้อยแล้ว
ส่วนเงินที่แลกไปจำนวน 500 เหรียญดอลล่าร์ จะถูกนำไปใช้จริงในต่างประเทศหรือไม่ ไม่มีใครยืนยันได้
แต่การขอวีซ่าอีกวิธีหนึ่งที่ง่ายกว่า สะดวกกว่า ใช้เวลาน้อยกว่า ก็คือ การทำวีซ่าที่จุดหมายปลายทาง ที่เรียกว่า VISA ON ARRIVAL
ชาวอินเดียได้รับสิทธิจากกระทรวงการต่างประเทศ ในการยื่นขอวีซ่าแบบ VISA ON ARRIVAL โดยจ่ายเงินค่าธรรมเนียมวีซ่าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองในสนามบินเพียง 1,000 บาท และไม่ต้องแสดงเอกสารอะไรเลย
ทุกวันจะมีคนอินเดียยืนเข้าคิวที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองเพื่อขอทำวีซ่ากันแน่นสนามบิน ประมาณว่า ในเครื่องบินแต่ละลำจะมีผู้โดยสารชาวอินเดียไม่ต่ำกว่า 30 – 40 เปอร์เซ็นต์ยื่นขอวีซ่าแบบ VISA ON ARRIVAL
เพราะสะดวกกว่าในการยื่นขอซ่าที่อินเดีย แม้จะต้องรอคิวที่สนามบินค่อนข้างนานก็ตาม
ก็ไม่รู้ว่า เราจะเปิดสถานกงสุลในอินเดียให้สิ้นเปลืองทำไม
จากคำบอกเล่าของคนอินเดีย เมื่อมาถึงสนามบินแล้ว หากต้องการความรวดเร็ว ก็เดินไปที่ช่องตรวจที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ ถือพาสปอร์ตไว้สักครู่จะมีเจ้าหน้าที่มาหา เอาพาสปอร์ตสอดเงิน 200 บาทยื่นเข้าไป ไม่เกิน 10 นาทีก็เรียบร้อย
เรื่องนี้ ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองคงต้องไปว่ากันเองนะครับ
สิ่งที่น่าตั้งคำถามก็คือ ตอนที่ประเทศอินเดียจะออกกฎการสแกนลายนิ้วมือนั้น กระทรวงการต่างประเทศไม่ทราบเรื่องเลยหรือ หรือทราบเรื่องแล้วได้ทำโต้แย้งอะไรไปบ้าง
โดยปกติ การให้วีซ่าแก่ประชาชนของแต่ละประเทศ มักจะขึ้นอยู่บนหลักการ “ต่างตอบแทน” หมายความว่า หากคนของเขาเดินทางมาประเทศไทยโดยไม่ต้องขอวีซ่า คนของเราก็จะได้สิทธิ์ในการเดินทางไปประเทศของเขาก็ไม่ต้องของวีซ่าเช่นกัน
ยกเว้นว่า เขาจะเป็นประเทศที่ใหญ่กว่าเรามากๆ ถืออำนาจการต่อรองเหนือกว่าเรา หรือ พูดง่ายๆก็คือ เขาไม่ให้น้ำหนัก หรือ ไม่แยแสต่อประเทศเราเลย
ยกตัวอย่างในอดีต เยอรมันเคยยกเว้นการทำวีซ่าของคนไทยที่จะเข้าประเทศ และเราก็ยกเว้นวีซ่าให้แก่คนเยอรมันด้วย ในขณะที่ประเทศยุโรปอื่นๆล้วนต้องกำหนดให้คนไทยทำวีซ่าทั้งสิ้น
แต่สุดท้าย เมื่อคนไทย เข้าประเทศเขาแล้วแอบหนีไปทำงาน ทั้งที่เป็นงานผิดกฎหมาย เช่น การค่าประเวณี จนถึง การทำงานรับจ้างธรรมดามากขึ้นเรื่อยๆ
เขาก็ยกเลิกระเบียบดังกล่าวเสีย โดยที่คนเยอรมันที่จะเดินทางมาประเทศไทย ก็ยังคงไม่ต้องขอวีซ่าเหมือนเดิม เพราะเขาถือว่า เขาเหนือกว่าเรา
แต่ถามว่า ระหว่างไทยกับอินเดียนั้น เราต้องงอนง้อขอให้นักท่องเที่ยวอินเดียมาเที่ยวประเทศอย่างมากหรืออย่างไร จนต้องให้สิทธิพิเศษมากมายจนถึงกับสามารถมาทำวีซ่าที่ปลายทางได้
ผมไม่มีตัวเลขนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกที่เดินทางมาเที่ยวในประเทศไทย แต่ก็คิดว่า อินเดียไม่น่าจะเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยมากมาย หรือ นักท่องเที่ยวอินเดียใช้จ่ายเงินต่อหัวในประเทศเรามากมายจนเราต้องให้น้ำหนักมากขนาดนั้น
ตอนหน้าครับ ผมจะเปรียบเทียบระเบียบการในการทำวีซ่าของทั้งสองประเทศ และ ศักดิ์ศรีของประเทศเรา และ กระทรวงการต่างประเทศ สวัสดีครับ