ซอกซอนตะลอนไป (8 สิงหาคม 2557)
ทัวร์กราบไหว้สุสานบรรพบุรุษ ที่เหมยเสี่ยน(ตอน 4)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
เหมยเสี่ยน มีแม่น้ำสายหนึ่งไหลผ่าน เรียกว่า แม่น้ำ “เหมยเจียง” (: 梅江😉 แปลว่า แม่น้ำลูกท้อ
อันที่จริง คำว่า “เจียง”นั้นแปลว่า แม่น้ำ อยู่แล้ว เช่นคำว่า แม่น้ำแยงซีเกียง ก็มาจากคำว่า ฉางเจียง
สำหรับคนอื่นๆ แม่น้ำเหมยเจียง อาจไม่มีความหมายอะไร แต่สำหรับผม และ พี่น้องทุกคน แม่น้ำเหมยเจียง มีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวโยงกับครอบครัวผมโดยตรง เช่นเดียวกับชาวจีนแคะอีกจำนวนมากที่มีถิ่นกำเนิดในเหมยเสี่ยน
เพราะอาปา และ อาแม หรือ คุณพ่อ และ คุณแม่ ของผมลงเรือจากท่าเรือบนแม่น้ำสายนี้เมื่อประมาณ 70 กว่าปีที่แล้วเพื่อล่องไปอีก 7 วัน 7 คืน จนถึงเมืองซันเถา Shàntóu ( 汕头)ในภาษาจีนกลาง หรือ ซัวเถา ในภาษาแต้จิ๋ว
ซัวเถา เป็นเมืองท่าเรือสำเภาที่นำผู้โดยสารจากเมืองจีนไปยัง เมืองไทย ที่ชาวจีนแคะเรียกว่า เสี่ยมหล่อ
อาปาเล่าให้ฟังว่า ตอนไปรอขึ้นเรือที่ซัวเถา เงินในกระเป๋าก็ไม่ค่อยมี ก็อาศัยอาหารการกินราคาถูกๆประทังชีวิต หนึ่งในนั้นก็คือ เต้าหู้ก้อนต้ม
“เป็นเต้าหู้ก้อนต้มที่อร่อยมากที่สุดเท่าที่เคยทานทีเดียว” อาปาเล่า คงเป็นเพราะท่านคงหิวมาก
พูดถึงเต้าหู้แล้ว ก็ขอเล่าเรื่องเต้าหู้สักเล็กน้อย
เต้าหู้เป็นสิ่งประดิษฐ์คิดค้นของชาวฮั่น หรือ ชาวจีนมาเป็นเวลาช้านาน ไม่ต่ำกว่า 2,500 ปีขึ้นไป ผมไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่า ระหว่างเต้าหู้ กับ เส้นก๋วยเตี๋ยว อะไรจะเกิดก่อนกัน
เต้าหู้จะใช้ถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบในการทำ ถือเป็นอาหารที่มีคุณค่ามหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับคนยากคนจนทั่วไป
เพราะผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยืนยันแล้วว่า เต้าหู้ มีคุณค่าทางอาหารสูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญที่มีราคาถูกกว่าเนื้อสัตว์นับเป็น 10 เท่า
แต่ที่น่าสนใจก็คือ ว่ากันว่า นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ของจีนคือ ขงจื่อ((孔夫子 , หรือ CONFUCIUS) ผู้ซึ่งมีชีวิตร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า ประมาณปี 551 ถึง ปี 479 ก่อนคริสตกาล ตรงกับยุคสมัย “ชุนชิว” หรือ “ยุคใบไม้ผลิ และ ใบไม้ร่วง” ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของจีน
ท่านขงจื่อ ปฎิเสธที่จะกินเต้าหู้ตลอดชีวิต ด้วยเหตุผลก็คือ
ท่านไม่อาจหาเหตุผลได้ว่า ทำไม น้ำถั่วเหลืองจึงกลายมาเป็นก้อนเต้าหู้แข็งๆได้
ท่านขงจื่อ ได้เขียนตำราเอาไว้หลายเล่ม ส่วนใหญ่จะเน้นในเรื่อง จริยธรรมของบุคคล และ จริยธรรมของผู้ปกครองบ้านเมือง , ความสัมพันธ์ต่อสังคมและต่อผู้อื่น , ความยุติธรรม และ ความซื่อสัตย์
แนวความคิดของท่านขงจื่อนี่เอง ที่เป็นรากฐานของแนวความคิดทางสังคมของชาวจีนก่อนยุคปฎิวัติคอมมิวนิสต์ ซึ่งชาวจีนโพ้นทะเล และ ชาวจีนในประเทศไทยยังคงยึดมั่นอยู่ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยอย่างไรก็ตาม
บ้านเกิดของอาปา ที่ตำบลชาปี ซึ่งเป็นตำบลเล็กๆอยู่ในหุบเขาที่เงียบสงบ ปัจจุบันเหลือลูกชายของอาสุก หรือ ลูกชายของคุณอาดูแลอยู่ เขามีอาชีพเป็นครู ยามว่างจากการสอนหนังสือก็จะทำไร่ทำนาด้วย
แต่ช่วงหลัง ราคาข้าวตกต่ำมาก ก็เลยยกที่นาให้คนอื่นไปทำแบบฟรีๆ ไม่คิดค่าเช่า
ในสมัยก่อน ถนนเข้าหมู่บ้านค่อนข้างเล็กและแคบ บางช่วงต้องผ่านลำธารสายเล็กที่จะมีน้ำมากเฉพาะช่วงน้ำหลาก สูงกว่าระดับน้ำในปัจจุบันอีกไม่ต่ำกว่า 3 – 4 เมตร
คุณอาเล่าให้ฟังว่า อาปาของผมก็เคยมากระโดดน้ำเล่นที่ลำธารสายนี้ตอนเด็กๆ
แต่ก่อนไม่มีสะพานข้ามลำธารที่สร้างอย่างแข็งแรงได้มาตรฐาน ชาวบ้านต้องเดินบนสะพานไม้ไผ่ที่เอามาผูกกันให้ใช้งานได้เท่านั้น
เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว บรรดาญาติพี่น้องแซ่เดียวกันรวบรวมเงินได้ก้อนหนึ่งมาสร้างสะพานคอนกรีตข้ามลำธารสายนี้เพื่อเป็นสาธารณะประโยชน์ ตามความเชื่อโบราณที่ว่า
“การสร้างสะพานให้คนได้เดินข้าม จะได้บุญกุศลมาก”
แนวความคิดดังกล่าว น่าจะเป็นแนวความคิดดั่งเดิมของขงจื่อ ในเรื่องของ จริยธรรมต่อครอบครัวและบรรพบุรุษ และความสัมพันธ์ต่อสังคม และ ผู้อื่น ที่ได้รับการถ่ายทอดต่อๆกันมา จากรุ่นสู่รุ่น
เป็นจิตวิญญาณ ที่ดำรงอยู่ในตัวของชาวจีนทุกคน และเป็นแรงผลักดันให้ผมและพี่น้องของผม เดินทางมากราบไหว้สุสานของบรรพบุรุษของเรา ด้วยสำนึกแห่งความกตัญญูต่อคนรุ่นก่อนๆ
พบกันใหม่ตอนหน้า สวัสดีครับ
เหมือนได้ร่วมเดินทางไปด้วยเลยครับ ชอบๆๆๆ คุณยายของผมก็เดินทางมาจากเมืองจีน ท่านเป็นจีนแต้จิ๋วครับนั่งเรือสำเภามาเมืองไทยเลยได้ชื่อไทยว่า” สำเภา”
ขอบคุณมากครับ
ขอบคุณมากครับ