ซอกซอนตะลอนไป (18 กรกฎาคม 2557)
ทัวร์กราบไหว้สุสานบรรพบุรุษ ที่เหมยเสี่ยน(ตอน 1)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
ในมณฑลกวางตุ้ง(GUANGDONG) ที่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีน ประกอบด้วยชนพื้นเมืองที่พูดภาษาถิ่น 3 กลุ่มใหญ่ด้วยกัน คือ กลุ่มคนที่พูดภาษากวางตุ้ง กลุ่มคนที่พูดภาษาแต้จิ๋ว และ กลุ่มคนที่พูดภาษาฮักก้า หรือ ที่คนไทยรู้จักกันในนาม ภาษาแคะ
บรรพบุรุษของผม เป็นชาวนาที่มาจากหมู่บ้านเล็กๆในอ้อมกอดของภูเขานอกเมืองเหมยเสี่ยน(MEIXIAN) หรือ ที่ชาวแคะมักจะเรียกว่า เหมยโจว(MEIZHOU) หรือ หม่อย แย๊น (MOIYAN) เมืองใหญ่เมืองหนึ่งในมณฑลกวางตุ้ง ได้เข้ามาอาศัยร่มบรมโพธิสมภารตั้งแต่รุ่นปู่ย่าเมื่อกว่าร้อยปีที่แล้ว
เนื่องจากคนส่วนใหญ่ที่เมืองเหมยเสี้ยน พูดภาษาฮักก้า ครอบครัวของผมจึงเรียกตัวเองว่า ฮัก หยิ่น ที่แปลว่า ชาวแคะ
พ่อของผม หรือ ที่ลูกๆเรียกเป็นภาษาแคะว่า อาปา เกิดที่สุราษฎร์ธานี แต่ไปเรียนหนังสือที่เหมยเสี่ยน จนกระทั่งอายุ 16 ปีจึงกลับมาอยู่ในเมืองไทยจนท่านเสียชีวิต
ด้วยเหตุนี้ อาปา จึงยังมีความผูกพันกับบ้านเกิด และ บรรดาญาติพี่น้องที่ยังอาศัยอยู่ที่เหมยเสี่ยน และท่านก็อยากให้เราผูกพันกับญาติพี่น้องต่อไป แม้ว่าท่านจะไม่อยู่แล้วก็ตาม
ศพของ คุณปู่ และ คุณย่า ที่เราเรียกว่า อากุง อาผ่อ ก็ถูกฝังในสุสานส่วนตัวริมเนินเขาหลังหมู่บ้าน เป็นทำเลที่ถือว่าดีมากตามหลักวิชา “ฮวงจุ้ย” ในการเลือกสถานที่ฝังศพ
ชาวจีนแต่โบราณกาลเชื่อกันว่า หากฝังศพของบรรพบุรุษอย่างถูกต้อง ในทำเลที่ดี และได้รับการดูแลที่ดีจากลูกหลาน จะทำให้ลูกหลานอยู่เย็นเป็นสุข มีความเจริญรุ่งเรือง พ้นจากภัยพิบัติต่างๆนานา
จึงถือว่าเป็นโชคดีของครอบครัวของผม ที่ยังมีญาติคือลูกหลานของคุณอา ที่ยังอาศัยอยู่ที่นี่ทำหน้าที่ดูแลสุสานของบรรพบุรุษของพวกเราเอาไว้อย่างดียิ่ง
บ้านของชาวแคะตั้งแต่ยุคโบราณ จะปลูกเป็นรูปทรงกลม หรือ อย่างน้อยก็เกือบจะกลม ด้วยจุดประสงค์เพื่อป้องกันโจรผู้ร้ายที่จะบุกเข้ามาปล้น
ว่ากันว่า เมื่อครั้งที่สหรัฐอเมริกา ใช้ดาวเทียมถ่ายภาพลงมายังประเทศจีนในยุคจีนคอมมิวนิสต์ อเมริกาก็ต้องตกใจเป็นอย่างยิ่ง คิดว่าประเทศจีนมีโรงไฟฟ้าปรมาณูมากมายกระจายตัวอยู่เต็มไปหมดในภาคใต้ของจีน
ทั้งๆที่ นั่นก็คือบ้านของชาวจีนแคะ บรรพบุรุษของพวกผมเอง
ปัจจุบัน บ้านเก่าแก่แบบนี้หลายต่อหลายแห่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกไปแล้ว
ตัวบ้านจะก่อด้วยดินดิบ ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า MUD BRICK ก็คือ อิฐที่เอาดินเหนียวมาปั้นเป็นก้อนแล้วตากแดดให้แห้ง โดยไม่ต้องนำไปเผาด้วยความร้อนสูงๆแบบอิฐมอญบ้านเรา จากนั้นก็เอามาก่อเป็นกำแพงบ้าน แล้วฉาบด้วยปูนเพื่อความสวยงาม
อิฐแบบนี้เป็นสิ่งที่มนุษย์ใช้กันมายาวนานตั้งแต่สมัยโบราณ ในยุคอียิปต์โบราณ หรือ แม้แต่ชาวนูเบียนที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของอียิปต์ ที่อากาศร้อนมากก็ใช้อิฐแบบนี้สร้างที่อยู่อาศัยกัน
ในมณฑลซินเจียง บนเส้นทางสายไหมของประเทศจีน ที่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย และ อากาศตอนฤดูร้อนจะร้อนเกือบ 50 องศาเซลเซียส ชาวบ้านก็ใช้ดินดิบในการสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยกัน
ทั้งนี้เพราะ บ้านที่สร้างด้วยดินดิน จะทำให้อากาศภายในบ้านในช่วงฤดูร้อนเย็นลง ในขณะที่ตอนฤดูหนาว อากาศภายในบ้านจะอุ่นกว่าข้างนอกบ้าน เหมือนกับมีเครื่องปรับอากาศอยู่ในตัว
เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านของคนในยุคโบราณของจีน และ อียิปต์ ที่มาตรงกันโดยบังเอิญ ทั้งๆที่อยู่ห่างไกลกันกว่า 6 -7 พันกิโลเมตร
ปกติ แต่ละวงกลมของบ้าน มิใช่อยู่อาศัยเพียงครอบครัวเดียว แต่จะมีหลายครอบครัวด้วยกัน ครอบครัวเหล่านี้ จะมีความเชื่อมโยงกันทางสายเลือด หรือ เป็นญาติกัน
เพราะคนที่อาศัยอยู่ภายในวงกลมของบ้าน มักจะมีที่มาตั้งแต่ ปู่ของปู่ หรือ ทวดของทวด ที่เป็นพี่น้องกันมาก่อน เมื่อสมาชิกในครอบครัวแต่งงานมีครอบครัวใหม่ ก็ยังอาศัยอยู่ในวงกลมของบ้านเดิม เพียงแต่อาจจะแยกไปอยู่ในห้องใหม่ที่บิดามารดายกให้
ห้องใหม่ที่ได้รับจะใหญ่หรือเล็ก ขึ้นอยู่กับว่าบิดามารดาของเขามีความสำคัญแค่ไหน และ ตัวเขาเองเป็นลูกคนที่เท่าไหร่ด้วย
กระนั้น การกินอยู่ของคนในบ้านก็ยังใช้ครัวหุงต้มเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่า ต้องเป็นห้องครัวขนาดใหญ่ เป็นระบบกงสีที่ทุกคนจะมาทานข้าวร่วมกันโดยมีผู้อาวุโสสูงสุดเป็นประธาน
ห้องครัวใหญ่นี้ จึงมีความสำคัญต่อสมาชิกทุกคนมาตั้งแต่เริ่มสร้างบ้านวงกลม และเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ของครอบครัว
การเดินทางมากราบไหว้สุสานของบรรพบุรุษ จึงต้องกราบไหว้ห้องครัว หรือ เตาไฟใหญ่ของครอบครัวด้วย ส่วนหนึ่งก็ด้วยเหตุผลข้างต้น แต่อีกเหตุผลหนึ่งตามความเชื่อของชาวจีนโบราณก็คือ
เตาไฟในบ้าน จะมีเทวดาอารักข์ หรือ เจ้าที่เจ้าทาง เป็นผู้ดูแลรักษา การแสดงความเคารพต่อเทพเจ้าแห่งเตาไฟ ก็เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทิตา ต่อเทวดาทั้งหลายที่คอยดูแล
และ แสดงความขอบคุณห้องครัว ที่ทำให้เรามีชีวิตรอดมาได้จนถึงวันนี้
ติดตามอ่านต่อตอนหน้าครับ