แม้จะก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่ยังรักษาวัฒนธรรมเอาไว้อย่างเหนียวแน่น

ซอกซอนตะลอนไป    (13 มิถุนายน  2557)

แม้จะก้าวหน้าทางเทคโนโลยี  แต่ยังรักษาวัฒนธรรมเอาไว้อย่างเหนียวแน่น

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               เมื่อเดินทางไปต่างประเทศ   ผมก็อดไม่ได้ที่จะคิดเปรียบเทียบกลับมาที่บ้านเรา 

               ปัจจุบัน  มีเพียงไม่กี่ชาติในโลกที่ยังรักษาวัฒนธรรมการแต่งกายชุดประจำชาติของตัวเองเอาไว้ได้  จะเห็นก็เพียง  อินเดีย  ,  สก๊อตแลนด์ ,  ภูฎาน  ,   ออสเตรีย  และ  เยอรมัน ซึ่งทั้งสองชาตินี้มีรากเหง้าวัฒนธรรมเดียวกัน

               อีกชาติหนึ่งก็คือ   ญี่ปุ่น 


(เด็กสาววัยรุ่นในชุดยูกาตะ  เด็กวัยนี้ก็คือผู้ที่จะทำหน้าที่สืบทอดวัฒนธรรมรุ่นต่อๆไปเขาของ)   

               คนที่ไม่เคยไปญี่ปุ่นอาจจะคิดว่า   ด้วยความที่ญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีความก้าวหน้าทางวัฒนธรรม  ผู้ชายชาวญี่ปุ่นทุกคนคงจะใส่สูทผูกเน็คไทกัน    

และ ด้วยเหตุที่ญี่ปุ่นเป็นผู้นำทางแฟชั่นอีกชาติหนึ่ง   ก็เลยอาจจะคิดว่า  ผู้หญิงญี่ปุ่นคงจะแต่งกายล้ำยุค  ชะเวิบชะวาบ  ยั่วน้ำลายของบรรดาเสื้อสิงกระทิงแรดกันไปทั้งหมด 

               แต่เมื่อไปถึงญี่ปุ่นแล้ว  จะเห็นว่า  เขายังคงรักษาวัฒนธรรมดั่งเดิมของตัวเองเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น  น่ายกย่อง   


(ชุดแต่งงานตามประเพณีญี่ปุ่นโบราณ   ยังคงเป็นจิตวิญญาณของชาวญี่ปุ่นอยู่จนทุกวันนี้)

               บ่อยครั้งที่เราจะเห็นผู้หญิงแต่งชุดกิโมโน  หรือ  ชุดยูกาตะ  เดินตามท้องถนน    แต่แทบจะไม่เคยเห็นผู้หญิงญี่ปุ่นแต่งกายชะเวิบชะวาบ  ยั่วกิเลสแบบผู้หญิงไทยในกรุงเทพเลย

               ประเภทหญิงสาวในชุดนักศึกษาใส่กระโปรงสั้นจู๋แทบจะนั่งไม่ได้  สวมเสื้อรัดติ้วจนกระดุมปริออกมองทะลุลึกเข้าไปจนเห็นหน้าอกหน้าใจ  จนไม่รู้ว่า  เธอจะมาเรียน  หรือมาทำอะไรนั้น   เกือบไม่มีให้เห็นในญี่ปุ่น    

               เลยตัดสินไม่ได้ว่า   แฟชั่นของไทย กับของญี่ปุ่น   ใครล้ำหน้ากว่ากัน

               ในขณะที่พัฒนาการทางด้านวัตถุของญี่ปุ่นก้าวไปมาก    แต่เขาก็ไม่เคยทิ้งรากเหง้าแห่งวัฒนธรรมของตัวเอง   และดูเหมือนจะไม่อายที่จะแสดงตัวตนความเป็นญี่ปุ่นด้วยซ้ำ


(ส้วมที่ชาวญี่ปุ่นกล้าประกาศว่า  เป็นส้วมในสไตล์ญี่ปุ่น) 

               เห็นได้จากห้องน้ำสาธารณะสำหรับนักท่องเที่ยวตามที่ต่างๆ ซึ่งสะอาดสะอ้านตามแบบของญี่ปุ่นอยู่แล้ว   เขาจะมีห้องน้ำสองชนิดให้เลือกใช้   แต่ละชนิดจะติดป้ายไว้ที่หน้าห้องชัดเจน


(ส้วมในสไตล์ตะวันตก แถมเก้าอี้นั่งของเด็กอ่อนในระหว่างรอพ่อแม่ทำธุระ)

               ห้องหนึ่งบอกว่า   WESTERN STYLE   ก็คือห้องน้ำแบบนั่งโถของตะวันตก  อีกห้องติดกัน  มีป้ายเขียนไว้ว่า  JAPANESE STYLE   คือ  ส้วมแบบนั่งยอง

               ที่ผมชื่นชมก็คือ   เขากล้าใช้คำว่า  JAPANESE STYLE  เพื่อยืนยันว่า  ห้องส้วมดั้งเดิมของชาติพันธุญี่ปุ่นก็คือ  ส้วมนั่งยอง 

               บังเอิญเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา   ผมได้มีโอกาสไปเที่ยว วัดอาซากุสะ ในกรุงโตเกียว  ซึ่งเป็นช่วงที่เขามีเทศกาลเฉลิมฉลองต้อนรับฤดูร้อนกันพอดี


(การมีส่วนร่วมถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นเป็นชาติที่พัฒนาได้เร็ว   ทั้งชายและหญิงแต่งกายคล้ายกัน  ร่วมกันแบกศาลเจ้าแห่ไปรอบวัดอาซากุสะ) 

               โดยรอบบริเวณของวัดอาซากุสะ เนืองแน่นไปด้วยชาวญี่ปุ่นที่มาทำพิธีเฉลิมฉลอง  และ นักท่องเที่ยวที่มาชมพิธีกัน

               แม้ว่าญี่ปุ่นจะเป็นชาติที่ก้าวหน้าทางเทคโนโลยี   แต่เขาก็ไม่เคยทิ้งวัฒนธรรมพื้นบ้านดั่งเดิม  ซึ่งผูกพันอย่างลึกซึ้งกับวัฒนธรรมแบบเกษตรกรรม  ที่ต้องพึ่งพาฤดูกาล และ ธรรมชาติเป็นหลัก   


(งานประเพณีเฉลิมฉลองต้อนรับฤดูร้อนที่วัดอาซากุสะ  ก็เป็นงานของเด็กเช่นกัน)

ดังนั้น  ญี่ปุ่นจึงยังคงรักษา  ประเพณีเทศกาลดอกซากุระบาน , ประเพณีเทศกาลต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ  ,  วันมหาสุมทร   และ  ล่าสุดได้กำหนดให้วันที่ 11 สิงหาคม เป็นวันภูเขาขึ้นมาอีกวันหนึ่ง 

               ที่วัดอาซากุสะในวันนั้น  เต็มไปด้วยชาย และ หญิง ,  ผู้ใหญ่ และ เด็ก มาร่วมงานเฉลิมฉลองต้อนรับฤดูร้อนกันอย่างคับคั่ง และ สนุกสนาน 


(งานเฉลิมฉลองของวัดอาซากุสะ  นอกจากจะมีผู้ใหญ่มาร่วมในพิธีแล้ว   เขายังปลูกฝังให้เด็กๆได้รู้จัก  ได้ซาบซึ้ง และ เข้าใจวัฒนธรรมของเขาตั้งแต่เล็กๆด้วย)

ทุกคนอยู่ในชุดแต่งกายตามประเพณีโบราณของเขา 

               ผู้ชายจะสวมเสื้อคลุม  ในขณะที่ท่อนล่างจะนุ่งผ้าชิ้นเล็ก  คล้ายผ้าเตี่ยวแบบที่นักปล้ำซูโมสวมใส่กัน   ผู้หญิงก็ใส่เสื้อคลุมแบบเดียวกัน  แต่สวมกางเกงขายาวสีขาว 

ทุกคนสวมใส่ชุดที่ว่าอย่างไม่มีอาการเคอะเขิน


(ประเพณีลากรถ ยังเป็นธุรกิจที่สืบทอดวัฒนธรรม  คนลากมีทั้งหญิงและชาย  มิใช่ลากเพียงอย่างเดียว   แต่ยังทำหน้าที่มัคคุเทศก์แนะนำสถานที่ต่างๆในเมืองอีกด้วย)

               ผมประทับใจตรงที่   ขนาดเมืองใหญ่ๆอย่างโตเกียว ซึ่งมีวิถีชีวิตแบบตัวใครตัวมันมากกว่าชนบท    เขายังสามารถรวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  เพื่อสืบทอดประเพณีกันอย่างพร้อมเพรียง  


(ชุดประจำชาติของญี่ปุ่นจะพบเห็นได้มาก  เมื่อมีงานเทศกาลสำคัญของเขา)

               และที่สำคัญก็คือ   ยังส่งเสริม และปลูกฝังให้เด็กๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการสืบสานวัฒนธรรม  เพื่อจะได้เป็นผู้สืบสานวัฒนธรรมในรุ่นต่อๆไปของเขา 

               น่าชื่นใจจริงๆ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *