พิพิทภัฑณ์ โคคาโคลา(2)

ซอกซอนตะลอนไป    (9 พฤษภาคม 2557)

พิพิทภัฑณ์ โคคาโคลา(2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               จุดเปลี่ยนสำคัญของ จอห์น เพมเบอร์ตัน ที่ทำให้ โคคาโคลา กลายเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันก็คือ  การขายหันมาขาย “เฟรนช์ ไวน์ โคคา” ที่ไม่มีแอลกอฮอลในร้านขายยา    แต่ไม่ขายในรูปแบบของยา   หากแต่ขายในรูปของเครื่องดื่มแทน


(ห้องแรกของการนำชม แสดงวิวัฒนาการของการโฆษณาโคคาโคลา มาเป็นลำดับ)

               วันที่ 8 พฤษภาคม ปีค.ศ. 1886  จอห์น เพมเบอร์ตัน ได้เอา เฟรนช์ ไวน์ โคคา ขายผ่านเครื่องขายน้ำโซดาภายในร้าน   ในสมัยนั้นเรียกน้ำโซดา ว่า   น้ำคาร์บอเนต(CARBONSTED WATER)   


(โฆษณาของปี 1924)

               น้ำคาร์บอเนต หรือ  น้ำโซดา ถูกคิดค้นในอังกฤษมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1767  โดยนายโจเซฟ พริสต์ลีย์(JOSEPH PRIESTLEY)  ซึ่งต้องการผลิตแก็สคาร์บอนไดอ๊อกไซด์เพื่อไปฆ่าตัวหมัดเหาต่างๆที่อยู่ตามถังเบียร์ 

               แต่บังเอิญว่า  แก็สคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ ที่ว่านี้  ทำให้น้ำดื่มมีรสชาติดีขึ้น   จึงมีการผลิตน้ำโซดาออกมาดื่มกันอย่างต่อเนื่อง


(คล้าก เกเบิ้ล  ดารานำฝ่ายชายจากภาพยนตร์เรื่อง “วิมานลอย” ก็มาร่วมโฆษณาด้วย)

               เนื่องจากมีรายงานทางการแพทย์ว่า   น้ำโซดามีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย   จอห์น เพมเบอร์ตัน จึงได้เอา เครื่องดื่มที่เขาคิดค้นขึ้นมา  ผสมกับน้ำโซดาแล้วขายในร้านในราคาแก้วละ 5 เซนต์

               เพมเบอร์ตัน โฆษณาว่า   น้ำโคคาโคลา ของเขาสามารถรักษาโรคได้หลายชนิด  อาทิเช่น  ลดการเสพติดมอร์ฟีน  โรคอาหารไม่ย่อย  โรคประสาทอ่อนแอ   ปวดศรีษะ  และ โรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ 

               ทำให้เครื่องดื่มโคคา โคล่า ของเขาได้รับความนิยมขยายวงกว้างในประเทศ


(มีการปลอมสินค้า โคคาโคลา จนต้องให้รางวัลนำจับ)

               แต่จนถึงขณะนั้น  ชื่อเครื่องดื่มที่ว่านี้ ก็ยังมิได้เรียกขานว่า “โคคาโคล่า” แต่อย่างใด    ผู้ให้กำเนิดชื่อ “โคคา โคล่า” เป็นคนแรกก็คือ  แฟร้งค์ เมสัน โรบินสัน(FRANK MASON ROBINSON)  ซึ่งขณะนั้นทำงานในฐานะเลขานุการ  และ ผู้ทำบัญชี ให้แก่บริษัทของ จอห์น เพมเบอร์ตัน 

               เมื่อจอห์น กำลังทดลองคิดค้นสูตรเครื่องดื่มที่ว่านี้  ที่มีส่วนประกอบของ ใบโคคา  และ เมล็ดโคคา เป็นหลัก   แฟร้งค์ ก็จึงตั้งชื่อสูตรเครื่องดื่มนี้ว่านี้ว่า  “โคคา-โคล่า”  โดยเขียนด้วยลายมือในแบบที่เรียกว่า  สเปนเซอร์เรียน (SPENCERIAN SCRIPT) ที่กำลังเป็นที่นิยมเขียนกันในยุคนั้น


(ชื่อ “โคคา โคล่า” ที่เขียนในแบบ สเปนเซอร์เรียน)

               และกลายเป็นสัญลักษณ์ของชื่อสินค้าจนทุกวันนี้

               แต่ใครหรือจะฝืนลิขิตของฟ้าได้

               หลังจากที่เครื่องดื่ม “โคคา-โคล่า” ได้รับความนิยมจนติดตลาดแล้ว   เพมเบอร์ตันก็ล้มป่วย  และอยู่ในสภาพใกล้ล้มละลาย  จนต้องขายลิขสิทธิ์สูตรเครื่องดื่มโคคา โคล่าออกไป

               สาเหตุที่ต้องขายก็เพราะ   เขาติดมอร์ฟีนอย่างหนัก และต้องใช้เงินจำนวนมากในการเสพ


(แสดงเทคโนโลยีการผลิตซะหน่อย   และโคคาโคล่า ที่ผลิตจากเครื่องนี้ก็จะถูกบรรจุขวดแจกให้แก่ผู้เข้าชม)

               เดือนสิงหาคม ปีค.ศ. 1888 ขณะอายุเพียง 57 ปี  จอห์น เพมเบอร์ตัน ก็เสียชีวิตอย่างอนาถาด้วยโรครุมเร้ามากมาย  เช่น  มะเร็งที่กระเพาะอาหาร  อาการติดมอร์ฟีนอย่างหนัก  และ  ยากจนมาก  โดยไม่มีโอกาสชื่นชมกับความสำเร็จที่เขาสร้างขึ้นมาเท่าไหร่นัก 

               ที่ผมอยากรู้มากที่สุดในการเข้าไปชมพิพิทภัณฑ์ “WORLD OF COCA-COLA”  ก็คือ   เขาจะจัดพิพิทภัณฑ์ออกมาในรูปไหน   จะเป็นแผ่นป้ายวางเรียงให้อ่านเหมือนพิพิทภัณฑ์ทั่วไป   หรือ  จะมีเสียงบรรยายของแต่ละจุดให้ไปฟังกันเอาเอง   


(เรื่องราวความเป็นมาเล็กๆน้อยๆของโคคาโคล่า  ที่ไม่เน้นในพิพิทภัณฑ์แห่งนี้) 

               แต่สิ่งที่ผมได้เห็น  มันแตกต่างไปจากจินตนาการของคำว่า “พิพิทภัณฑ์” ไปไกลเหลือเกิน   หรือ ผมอาจจะใช้คำอธิบายสถานที่แห่งนี้ไม่ถูก    เพราะเขาใช้เพียงคำว่า “WORLD OF COCA-COLA”  ไม่มีคำไหนเลยที่บอกว่า   พิพิทภัณฑ์


(รูปแบบของการจัดแสดงที่เน้นความตืนตาตื่นใจ  เหมาะแก่การถ่ายรูป)  

               ทุกสิ่งข้างในจึงเน้นการสร้างสีสัน  ความตื่นตาตื่นใจ  บรรยากาศที่ชวนให้คนอยากถ่ายรูป  บรรยากาศที่ชวนให้คิดถึงอดีต   การผสมผสานเทคโนโลยี่สมัยใหม่เข้ามาร่วมนำเสนอ   และ  การได้ลิ้มลองรสชาติต่างๆของโคคาโคล่า


(สร้างบรรยากาศให้เหมือนร้านขายยาในสมัยของ จอห์น เพมเบอร์ตัน สักหน่อย)

               แม้ว่าตลอดการชม  ไม่มีส่วนไหนเลยที่บรรยายประวัติความเป็นมาของ โคคาโคลา อย่างเป็นเรื่องเป็นราวตามลำดับขั้นตอนแบบปีต่อปี    แต่คนที่เข้าไปชมก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจ และ รู้สึกคุ้มค่ากับค่าบัตรผ่านประตูคนละ 16 เหรียญ

               นอกจากได้ชิมเครื่องดื่มภายใต้ชื่อ “โคคา-โคล่า” ที่ขายอยู่ในหลายประเทศทั่วโลกแล้วอย่างไม่จำกัดแล้ว      ยังได้รับแจก โคคาโคลา ขวดเล็กพิเศษที่มีตัวหนังสือ “WORLD OF COCA-COLA” อยู่ข้างขวดเป็นที่ระลึกอีกด้วย 


(เทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์ถูกนำมาใช้ถ่ายรูปผู้เข้าชมเหมือนถ่ายผ่านพรายฟองของโคคาโคลา)

               นี่คือแนวคิดของพิพิทภัณฑ์แนวใหม่  ที่ใครก็ตามที่กำลังคิดจะสร้างพิพิทภัณฑ์  น่าจะต้องศึกษาดู 

               สวัสดีครับ 

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *