ซอกซอนตะลอนไป (19 มกราคม 2568)
ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน24)
ก่อนอินเดียแยกประเทศ
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
ในระหว่างการเกิดจลาจลของ “วันปฎิบัติการตรง” วันที่ 16 สิงหาคม 1946 ชาวกัลกัตตาจำนวนนับพันพยายามหนีออกจากเมืองโดยทางรถไฟ แต่จำนวนไม่น้อยที่หนีไม่สำเร็จ ถูกทำร้ายจนตาย
ข่าวการจลาจล และ การสังหารโหดชาวฮินดูโดยชาวมุสลิมในกัลกัตตา แพร่ออกไปอย่างไม่เร็วนัก เพราะการสื่อสารในสมัยนั้นยังไม่มีประสิทธิภาพ แต่ในไม่ช้า ข่าวก็มาถึงเมืองนัวคาลี(NOAKHALI) ในจังหวัดจิตตะกอง(CHITTAGONG) (ปัจจุบันอยู่ใน บังคลาเทศ) ซึ่งในวันนั้นเป็นส่วงหนึ่งของรัฐเบงกอล
อาจเรียกได้ว่า การจลาจลที่ นัวคาลี เป็นภาคสองของ วันปฎิบัติการตรง แต่หนักหนาสาหัสมากกว่า เพราะในพื้นที่นี้มีประชากรมุสลิมมากกว่าประชากรฮินดู
สาเหตุอีกส่วนหนึ่งมาจากข่าวลือที่แพร่กันไปอย่างไร้ความจริงว่า ชาวมุสลิมจำนวนมากถูกชาวฮินดูสังหารในเมืองกัลกัตตา จึงมีความพยายามจากชาวมุสลิมในเมืองจิตตะกองที่ต้องการจะฆ่าล้างแค้นชาวฮินดูให้แก่พวกของตัวเอง
นอกจากนี้ ยังมีข่าวลือแพร่สะพัดที่เสมือนราดไฟเข้าไปในกองเพลิงว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงวิธีบูชายัญต่อเทพเจ้าของชาวฮินดูที่ปกติจะใช้แพะเป็นเครื่องบูชายัญมาเป็นใช้เด็กชายมุสลิมแทน
การสังหารโหดชาวฮินดูในนัวคาลี เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม ซึ่งตรงกับเทศกาลเฉลิมฉลองโคจาการี ลักษมี ปูจา ของชาวฮินดู การสังหารโหดดำเนินต่อเนื่องนานราว 1 สัปดาห์
มีชาวฮินดูประมาณ 50,000 คนที่ตกอยู่ในสภาพโดดเดี่ยวเหมือนโดนปล่อยเกาะ ไม่สามารถทำอะไรได้เพราะอยู่ภายใต้การจับตาใกล้ชิดของชาวมุสลิม ในบางหมู่บ้าน ชาวฮินดูจะต้องขออนุญาตจากผู้นำมุสลิมเสียก่อนหากต้องการจะเดินทางออกจากหมู่บ้าน
ความรุนแรงของกลุ่มชนที่พลุ่งพล่านด้วยความโกรธ ถูกระบุว่าเป็นม็อบจัดตั้ง พวกนี้มีเจตนาที่จะทำร้ายชาวฮินดู ลบหลู่ และ เหยียดหยามศาสนาฮินดู หรือ อื่นใดที่เกี่ยวข้องกับศาสนาฮินดูเป็นหลัก
นอกจากการเผายุ้งฉาง อาคารบ้านเรือนของชาวฮินดูแล้ว ยังมีการเผาทำลายวิหารของฮินดูอีกด้วย และยังมีการโยนเนื้อวัวเข้าไปในวิหารเพื่อแสดงการลบหลู่ศาสนาฮินดู เพราะวัวเป็นพาหนะของพระศิวะ และเป็นที่เคารพของชาวฮินดู
ผู้หญิงจำนวนมากถูกดึงเอากำไลข้อมือสีขาวที่ทำจากหอยสังข์ของคู่กายของพระวิษณุ ที่ผู้หญิงชาวเบงกอลทุกคนถือว่าศักดิ์สิทธิ์มาก และ ยังลบหลู่ด้วยการลบสี “สินดูร์” สีแดงที่ขีดจากขอบผมตรงหน้าผากขึ้นไปตรงกลางศรีษะ อันเป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว
บางคนถูกบังคับให้ท่องบทสวดของมุสลิมที่เรียกว่าคัลมาห์ (THE SIX QALMAH) และคนจำนวนมากถูกบังคับให้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งการจลาจลที่นัวคาลี ถือเป็นครั้งที่มีชาวฮินดูเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามมากที่สุดในครั้งเดียว ประมาณว่า 95 เปอร์เซนต์ของประชากรของนัวคาลี ถูกบังคับให้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม
ผู้หญิงที่โชคร้ายกว่านั้นจำนวนมากถูกข่มขืน และ ฆ่า
คานธี เดินทางเข้าไปที่นัวคาลีในวันที่ 7 พฤศจิกายน 1946 เพื่อเรียกร้องให้หยุดการประหัตประหารกัน เขาใช้เวลาอยู่ที่นั่นนาน 4 เดือนเดินทางไปยังหมู่บ้านต่างๆกว่า 250 หมู่บ้าน เพื่อพบปะกับชาวฮินดู ชาวมุสลิม และ ผู้นับถือศาสนาอื่นๆเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดใช้ความรุนแรง
คานธี ซึ่งขณะนั้นอายุ 76 ปีแล้ว และ กำลังป่วยได้ประกาศว่า จะอดอาหารจนตาย หรือ จนกว่าประชาชนชาวนัวคาลีจะหยุดการประหัตประหารกัน
ในที่สุด การประหัตประหารกันในนัวคาลีก็สงบลง แต่ก็ยังมีการประหัตประหารกันในที่อื่นๆ เช่น รัฐพิหาร เป็นต้น
ถึงจุดนี้ ผู้นำของพรรคคองเกรส เริ่มยอมรับแล้วว่า การแยกประเทศเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ