ซอกซอนตะลอนไป (22 ธันวาคม 2567)
ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน20)
ก่อนอินเดียแยกประเทศ
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
เมืองกัลกัตตา ถูกกลุ่มมุสลิม ลีก วางแผนให้เป็นเมืองหลักในการประท้วงแบบทั่วไปของชาวมุสลิม ซี่งแน่นอนว่า ทั้งกลุ่มมุสลิมลีก และ พรรคคองเกรส ต่างก็รู้ว่าอาจจะเกิดความรุนแรงได้ แต่ทั้งสองฝ่ายก็ประเมินด้วยความประมาทว่า จะสามารถควบคุมได้ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร
แต่พวกเขาคาดการณ์ผิดไปไกลหลายโยชน์
ในช่วงนั้น ความรู้สึกของชาวมุสลิมต่อคำว่า “ชาติ” ไม่มีอยู่เลย หรือหากจะมีก็น้อยมาก พวกเขามีแต่ความรู้สึกในเรื่อง “ชาติอิสลาม” เท่านั้น
หลังจากจินนาห์ ได้ประกาศว่า หากชาวมุสลิมไม่ได้รับการตอบสนองให้แบ่งแยกประเทศออกไปเป็นประเทศปากีสถาน เขาจะเริ่มปฎิบัติการตรง (DIRECT ACTION DAY)ในวันที่ 16 สิงหาคม
ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ว่า “ปฎิบัติการตรง” จะมีรายละเอียดอย่างไร และ จะมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน แต่ทุกคนรู้ว่า ไม่น่าจะเป็นเรื่องดีแน่นอน
ประชาชนชาวเบงกอลตกอยู่ในสภาพหวาดกลัว บรรดาผู้บริหารรัฐเบงกอลเองก็รู้สึกเป็นห่วงต่อสถานการณ์ในวันนั้นไม่น้อยกว่ากัน จึงประกาศให้วันที่ 16 สิงหาคมเป็นหยุดราชการ ด้วยหวังว่าจะทำให้ผู้คนจากทั้งสองฝ่ายเลือกที่จะพักผ่อนอยู่กับบ้าน ไม่ออกมาเดินประท้วงตามถนนเพื่อลดการเผชิญหน้ากัน
แต่พรรคคองเกรสของรัฐเบงกอล ไม่เห็นด้วยที่จะประกาศให้เป็นวันหยุด ด้วยเหตุผลว่า เมื่อคนเหล่านี้โดยเฉพาะชาวมุสลิมไม่ต้องไปทำงาน ก็จะน่ามีเวลาที่จะไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มมุสลิมลีกได้ง่าย และมากขึ้น
วันที่ 14 สิงหาคม คิรอน แชงการ์ รอย (KIRON SHANKAR ROY)ผู้นำของพรรคคองเกรสในสภานิติบัญญัติของรัฐเบงกอล ได้ออกมาเรียกร้องขอให้เจ้าของร้านขายของชาวฮินดูอย่าได้หยุดงาน และ ขอให้เปิดร้านขายของตามปกติ
การประท้วงตามคำเรียกร้องของจินนาห์ ได้รับการตอบรับอย่างเป็นระบบ หนังสือพิมพ์ STAR OF INDIA ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีอิทธิพลในหมู่ชาวมุสลิมในเบงกอล ได้ประกาศสนับสนุน และ เรียกร้องให้ประชาชนทุกคนออกมาประท้วง และยังตีพิมพ์กำหนดการของการประท้วงในแต่ละวัน รวมทั้งระบุสถานที่จะประท้วงและรวมตัวกันทุกแห่งด้วย
ในแผนการดังกล่าวระบุด้วยว่า ผู้ประท้วงทั้งหมดจะเดินเท้าไปยังจุดนัดจบที่ OCHTERLONY MONUMENT ซึ่งปัจจุบันนี้เรียกว่า ชาฮีต มินาร์
ตรงจุดนัดพบนี้เอง จะมีม็อบผู้ประท้วงกลุ่มใหญ่รออยู่ ภายใต้การจัดการและนำโดย ฮูสเซน ชาฮีต ชูห์ราวาร์ดี (HUSEYN SHAHEED SUHRAWARDY)
ที่น่าสนใจก็คือ ชูห์ราวาร์ดี ดำรงตำแหน่ง มุขมนตรีแห่งรัฐเบงกอล(CHIEF MINISTER OF BENGAL)ในขณะนั้น ซึ่งเทียบเท่ากับนายกรัฐมนตรีแห่งรัฐนั่นเอง
ชูห์ราวาร์ดี นับถือศาสนาอิสลาม
สถานะการณ์ของอินเดียบีบรัดเข้ามาตรงคอหอยทุกขณะ อังกฤษสรุปความเป็นไปและตระหนักดีว่า คงยากที่จะหลีกเลี่ยงการปะทะกันได้ และน่าจะนำไปสู่ความวุ่นวาย แต่อังกฤษก็ไม่สน
อังกฤษเพียงต้องการจะปลดอินเดียออกไปจากภาระของตน โดยไม่สนใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น ขอแต่เพียงว่า ความเสียหายจะไม่เกิดขึ้นต่ออังกฤษเท่านั้น หรือ หากจะเกิดก็ควรจะเกิดความเสียหายน้อยที่สุดเท่านั้นก็พอ
สำหรับท่านที่สนใจจะร่วมเดินทางเจาะลึกอียิปต์กับผม ระหว่างวันที่ 12-21 กุมภาพันธ์ 2568 สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร 0885786666 หรือ LINE ID – 14092498
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ