ซอกซอนตะลอนไป (1 ธันวาคม 2567)
ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน17)
ก่อนอินเดียแยกประเทศ
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
ความขัดแย้งอย่างรุนแรงที่ฝังรากลึกในอินเดีย ระหว่างชาวฮินดู และ ชาวมุสลิม จนมีความรู้สึกว่า ไม่อาจอยู่ร่วมแผ่นดินเดียวกันได้นั้นมาจากสาเหตุจากเรื่องศาสนา และ ความเชื่อเป็นหลัก
นักรบมุสลิมเรียกคนที่นับถือศาสนาอื่นที่ไม่ใช่อิสลามว่า คาเฟอร์ (KAFIR) ซึ่งมีความหมายประมาณว่า พวกนอกศาสนา ต้องจัดการหันมานับถือศาสนาอิสลามให้ได้ หรือไม่ก็ต้องทำลายให้หมดสิ้นไป เช่นเดียวกับแนวคิดของศาสนาคริสต์ในช่วงยุคกลางที่มีการบังคับให้ผู้คนหันมานับถือศาสนาคริสต์ด้วยการข่มขู่ลงโทษจนถึงขั้นประหารชีวิต
แนวคิดของนักรบมุสลิมตั้งแต่ยุคมูฮัมหมัด คาซิม ที่ยกทัพบุกอินเดียในปี 708 จนถึงยุคแห่งความเลวร้ายของ มาห์มุด แห่ง กาซนี่ย์ ตั้งแต่ปี 1001 เรื่อยมานั้น เน้นในเรื่องการทำลายล้างผู้นับถือศาสนาอื่น จนทำให้ชาวฮินดูจำนวนมากจำต้องหันมานับถือศาสนาอิสลาม
สำนึกของบรรดานักรบมุสลิมเหล่านี้ ถูกหล่อหลอมด้วยหลักศาสนาให้ทุกคนวางน้ำหนักในเรื่องความเป็นภราดรภาพ หรือ พี่น้องศาสนาเดียวกันมากกว่าเรื่องอื่นใดทั้งปวง
เหนือกว่าแม้กระทั่งเรื่องแผ่นดินเกิด
จึงไม่น่าแปลกใจที่ จินนาห์ ผู้นำของกลุ่มมุสลิมลีกจึงยืนกรานที่จะต้องแยกประเทศออกไปเป็นประเทศปากีสถานให้ได้ เพราะเขาต้องการให้ปากีสถานเป็นดินแดนบริสุทธิ์ในความหมายของมุสลิมก็คือ แผ่นดินที่ทุกคนนับถือศาสนาอิสลาม
เพราะมุสลิมในอินเดียจำนวนหนึ่งมีแนวคิดไปในทางสุดโต่ง พวกเขาแทบจะไม่รู้สึกถึงความเป็นชาติเดียวกัน และไม่มีความรู้สึกผูกพันธ์ต่อแผ่นดินเกิด แต่จะผูกพันธ์ต่อศาสนาที่ตัวเองนับถือเท่านั้น
สิ่งที่พวกเขาคิดได้ก็คือ จะต้องสร้างประเทศใหม่ที่มีแต่พรรคพวกของตนที่นับถือศาสนาอิสลามเท่านั้น ไม่ยอมอาศัยปะปนกับคนในศาสนาอื่น
(อาณาเขตภายใต้การยึดครองของ ราชวงศ์อ๊อตโตมาน (สีเหลือง)ในช่วงที่รุ่งเรืองสูงสุด-ภาพจากกูเกิ้ล แมพ)
แนวคิดนี้ มีความรุนแรงขึ้นหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี 1918 เมื่ออาณาจักรอ๊อตโตมาน แห่ง ตุรกี พ่ายแพ้สงคราม นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราช ที่จักรพรรดิแห่งอ๊อตโตมาน ซึ่งมีสถานะเป็นคาลิปของศาสนาอิสลามด้วย เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด มาเป็นระบบสาธารณรัฐที่นำโดย มุสตาฟา เดคาล อะตาเติร์ก
หลังจากมีการลงนามในสนธิสัญญาแห่ง เซฟเรส (TREATY OF SEVRES) เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ปี 1920 ที่ฝรั่งเศส ทำให้อาณาจักรอ๊อตโตมานต้องสูญเสียดินแดนจำนวนมากโดยเฉพาะชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปให้แก่ชาติพันธมิตรฝ่ายชนะสงคราม เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี และ กรีซ
โชคดีที่ตุรกีมีผู้นำที่แข็งแกร่งและเห็นแก่ประโยชน์ของชาติเป็นหลักอย่าง อะตาเติร์ก ที่ทำการต่อสู้ทำสงครามกับอังกฤษเพื่อดึงดินแดนเหล่านี้กลับคืนมา และรวมถึงการดึงทำให้ชาติพันธมิตรต้องกลับสู่โต๊ะเจรจาอีกครั้ง นำไปสู่การที่ชาติพันธมิตรต้องคืนดินแดนที่ยึดคืนมาให้แก่ตุรกีด้วยสนธิสัญญาโลซานน์
พร้อมกันนั้น อะตาเติร์ก ก็สถาปนาประเทศใหม่ให้อยู่ในระบอบการปกครองแบบสาธารณะรัฐ ตัดขาดจากแนวคิดการปกครองประเทศที่ด้วยศาสนาอิสลาม ตามที่เคยเป็นมา
ปี 1919 มีการก่อตั้งขบวนการที่เรียกว่า คิลาฟัต (THE KHILAFAT MOVEMENT) ขึ้นในอินเดีย โดยชาวมุสลิมอินเดีย ทั้งนี้เพื่อที่จะฟื้นฟูระบบคาลิปในตุรกี ที่กำลังล่มสลายไปแล้วให้กลับคืนมาใหม่
คำว่า คิลาฟัต เป็นภาษาอาระบิค หมายถึง ตำแหน่ง คาลิป นั่นเอง
หลังจากนั้น วันที่ 3 มีนาคม ปี 1924 อะตาเติร์ก ก็ประกาศยุบเลิกระบบคาลิปของตุรกีที่ดำรงมาอย่างยาวนาน 400 ปีเศษ
ทำไม ชาวอินเดียมุสลิมกลุ่มหนึ่งถึงต้องเป็นเดือดเป็นร้อนกับการยุบเลิกตำแหน่งคาลิป สัปดาห์หน้าจะมาเล่าให้ฟังครับ