ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน14)

ซอกซอนตะลอนไป                           (10 พฤศจิกายน 2567)

ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน14)

ก่อนอินเดียแยกประเทศ

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

นักรบอิสลามคนแรกที่หยิบยื่นความหายนะให้แก่อินเดียก็คือ มูฮัมหมัด อิบน์  คาซิม(MUHAMMAD IBN QASIM)  

ในราวปี 708-711  คาซิม นำทัพบุกเข้ามาในดินแดนที่เรียกว่า สินธุ ซึ่งปัจจุบันนี้คือปากีสถาน ตามคำสั่งของ อัล ฮัจจาจ ผู้ว่าการแห่งอิรัก ซึ่งขึ้นต่อคาลิปอูมายยัด แห่ง ดามัสกัส ซีเรีย


(แผนที่ที่ราบลุ่มแม่น้ำสินธุ(INDUS) ปากีสถานอยู่ทางซ้าย  อัฟกานิสถาน และ จีนอยู่ด้านบน  อินเดียอยู่ทางด้านใต้ ถัดขึ้นไปก็คือ เนปาล)

คาซิม  จับทั้งชายและหญิงจำนวนมากไปเป็นเชลย  และ ขนเอาทรัพย์สมบัติที่ปล้นสดมภ์ได้กลับไป  แต่ก็ยังถือว่า  เขามีความเมตตาต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เป็นอย่างมาก  เพราะเขายังยอมให้ชาวฮินดู  พุทธ และ เชน สามารถปฎิบัติกิจทางศาสนาได้ตราบเท่าที่ยังจ่ายภาษีให้แก่ท่านคาลิป

ก่อนหน้านั้น   มุสลิมจะไม่ทำร้ายชาวยิว และ ชาวคริสต์เท่านั้น   เพราะถือว่า  เป็นบุคคลในพระคัมภีร์(PEOPLE OF THE BOOK) เหมือนกัน   เนื่องจากทั้งสามศาสนาต่างมีกำเนิดมาจากแหล่งเดียวกันคือ อับบราฮัม

แต่ชาวอินเดียโชคดีแบบนี้ได้ไม่นาน  เพราะนักรบมุสลิมรายต่อไปไม่ใจดีขนาดนั้น


(มาห์มุด แห่ง กาซนี่ย์)

ในราวปี 1000  หรือร้อยกว่าปีหลังจากที่คาซิมบุกเข้ามาในแคว้นสินธุ    สุลต่าน มาห์มุด แห่ง กาซนี่ย์  ซึ่งพื้นเพของครอบครัวมาจากเปอร์เชีย  แต่เขาเกิดที่เมืองกาซนีย์ ในอัฟกานิสถาน  ทำให้ได้ชื่อว่า   มาห์มุด แห่ง กาซนี่ย์   เขาได้ขยายอำนาจออกไปจนกระทั่งครอบคลุมพื้นที่ประเทศอัฟกานิสถานในปัจจุบัน 


(อาณาจักรกาซนาวิด ของ มาห์มุด แห่ง กาซนี่ย์ที่กินพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลเข้ามาถึงปากีสถาน-ภาพจากวิกิพีเดีย)

ปี 1001  เขานำกองทัพรุกรานเข้ามาในแค้วนปัญจาบ  ซึ่งปัจจุบันนี้ก็คือ ปากีสถาน  และ ทำสงครามกับ กษัตริย์ชาห์ฮิ จาก ราชวงศ์ จายาปะลา(JAYAPALA DYNASTY) 

ในขณะที่สงครามที่เมืองเปชะวาร์  กำลังอยู่ในจุดเข้าได้เข้าเข็ม  นายพลคนหนึ่งของ จายาปะลา ก็ทรยศ แอบหันไปช่วยมาห์มุด  จนมาห์มุดสามารถมีชัยชนะเหนือจายาปะลา  กษัตริย์ชาห์ฮี ต้องฆ่าตัวตายในกองเพลิงเพื่อรักษาเกียรติของตัวเอง

หลังจากนั้น   มาห์มุด ก็ทำสงครามยึดดินแดนต่างๆทางตอนเหนือของอินเดีย  ปล้นสดมภ์เอาทรัพย์สินจำนวนมาก   รวมทั้งบรรดาทาสชายหญิงนำกลับไปกาซนี่ย์  แล้วแต่งตั้งผู้ปกครองประเทศราชซึ่งเป็นชาวฮินดูให้ทำการปกครองดินแดนในนามของเขา

มาห์มุด ตื่นเต้นที่ได้เห็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ของอินเดีย   ซึ่งผิดกันกับแผ่นดินที่เขาถือกำเนิดที่มีแต่ความแห้งแล้งกันดาร  ต้องใช้ชีวิตอย่างลำบาก

มาห์มุด จึงตั้งปณิธานว่า   จะยกทัพกลับมาอินเดียอีก 

และมิใช่เพียงครั้งเดียว   แต่มาห์มุดได้ยกทัพมาปล้มสดมภ์จากแผ่นดินอินเดียมากถึง 17 ครั้ง ตลอดระยะเวลา 27 ปี คือตั้งแต่ปี 1001 ถึง 1028    

นอกเหนือจากการปล้นชาวบ้านชาวเมืองแล้ว   สิ่งที่ยังตราตรึงในประวัติศาสตร์ของอินเดียก็คือ  การปล้นวิหารโสมนาถ ที่อยู่ในรัฐกุจราฐ ในปี 1025

วิหารโสมนาถ เป็นสถานที่สะสมความมั่งคั่งของดินแดนแถบตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย  ไม่ว่าจะเป็น  ทองคำ  และ  อัญมณีต่างๆ


(วิหารโสมนาถ ในหลายยุคหลายสมัย-ภาพจากวิกิพีเดีย)

โสมนาถ เป็นวิหารที่สร้างถวายแด่พระศิวะ   เป็นสถานที่แสวงบุญที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของอินเดีย  ดังนั้น   จึงมีผู้ศรัทธาเดินทางมาแสวงบุญกันอย่างเนื่องแน่น   เมื่อนักแสวงบุญมาถึงที่นี่  ก็มักจะถวายสิ่งของต่างๆให้แก่วิหาร   ทั้งข้าวของเงินทอง ทองคำและอัญมณี

จึงทำให้  วิหารโสมนาถ มีความมั่งคั่งร่ำรวยประมาณท้องพระคลังของแผ่นดินไปโดยปริยาย


(วิหารโสมนาถ ในปัจจุบัน หลังจากผ่านเหตุการณ์เลวร้ายมานาน-ภาพจากวิกิพีเดีย)

นอกจากปล้นทรัพย์สมบัติจากวิหารไปแล้ว   มาห์มุด ยังทำลายรูปเคารพของพระศิวะที่เป็นศิวลึงก์(JYOTIRLINGA)  และ ถอดเอาประตูวิหารโสมนาถ ที่สวยงามมากกลับไปทำเป็นประตูสุสานของตัวเอง   

หลังจากมาห์มุด ยกทัพกลับไป   ชาวฮินดูก็เริ่มสร้างวิหารโสมนาถขึ้นมาใหม่ให้ยิ่งใหญ่เหมือนเดิม  เหมือนกับจะรอให้มาห์มุด กลับมาปล้นอีกครั้ง

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .