ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน10)

ซอกซอนตะลอนไป                           (13 ตุลาคม 2567)

ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน10)

ก่อนอินเดียแยกประเทศ

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

นับจากวันประกาศ “กฎหมายให้อิสรภาพแก่อินเดียปี 1947” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ปี 1947 และมอบหมายให้เมาท์ แบตเทน จัดการเรื่องการคืนอิสรภาพให้แก่อินเดีย  รวมถึงการแยกประเทศอินเดียเป็น ประเทศอินเดีย และ ประเทศปากีสถาน ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 15 สิงหาคม ปี 1947 

หมายความว่า  เมาท์ แบตเทนมีเวลาแค่ 27 วันในการปฎิบัติภารกิจนี้เท่านั้น

               แต่ประเด็นที่เป็นปัญหาที่หนักกว่า และไม่รู้จะหาทางออกอย่างไรสำหรับเมาท์ แบตเทน ก็คือจะลากเส้นแบ่งประเทศอย่างไรในกำหนดเวลาที่บีบคั้นสุดๆเช่นนี้ 

               ลำพังแค่เดินทางสำรวจแนวเส้นที่จะแบ่ง  ก็ต้องใช้เวลาเป็นปีแล้ว  แต่นี่มีเวลาแค่ 27 วันเท่านั้น


(แผนที่อินเดีย ที่แสดงพื้นที่รัฐเบงกอล (สีชมพูเข้มและอ่อน) – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               แม้ว่า   ในอดีตเมื่อปี 1905  อังกฤษ โดยลอร์ด เคอร์ซอน (LORD CURZON)ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแห่งอินเดีย เคยขีดเส้นแบ่งอินเดียในดินแดนภาคตะวันออกที่เรียกว่า เบงกอล เพรสซิเดนซี่  ซึ่งก็คือ  พื้นที่ของรัฐเบงกอลให้แยกออกเป็น  เบงกอลตะวันตก และ  เบงกอลตะวันออก  โดยยึดหลักการการแยกพื้นที่ของประชากรฮินดู ออกจากพื้นที่ของประชากรมุสลิม


(เส้นแบ่งรัฐเบงกอลออกเป็นตะวันตกและตะวันออก (เส้นสีดำทึบ)โดยลอร์ด เคอร์ซอนในปี 1905 -ภาพจากวิกิพีเดีย)

               เป็นแนวคิดที่ชั่วร้ายของอังฤษที่ต้องการจะ “แบ่งแยกแล้วปกครอง”  และต้องการจะทำให้ขบวนการชาตินิยมที่ต่อสู้เรียกร้องอิสรภาพของอินเดียที่มีจำนวนมากอยู่ในรัฐเบงกอลอ่อนกำลังลง

               บรรดานักสู้ชาตินิยมของอินเดียต่างออกมาโต้แย้งและคัดค้านการแบ่งแยกเบงกอลอย่างหนัก   และย้ำว่า   มันจะยิ่งทำให้ความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดู และ มุสลิม เพิ่มมากขึ้นไปอีก  

               ในที่สุด   การแยกเบงกอลออกเป็น 2 ส่วนของลอร์ด เคอร์ซอน ก็ต้องยกเลิกไปในปี 1911

               แต่ผลของการแบ่งดินแดนครั้งนี้รอวันเวลาที่จะส่งผลใหญ่  และ  ยิ่งย้ำความแตกแยกของกลุ่มหลักทั้งสองให้พร้อมที่จะระเบิดขึ้นมาอีกครั้งเมื่อใดก็ได้  

               ปัญหาต่อมาก็คือ   จะเลือกใครมาเป็นคณะกรรมการขีดเส้นพรมแดนระหว่างอินเดีย และ ปากีสถาน


(ซีริล  แรดคลิฟฟ์ ผู้ไม่เคยเห็นอินเดียมาก่อน แต่ต้องมาทำหน้าที่ขีดเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างอินเดีย และ ปากีสถาน – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               หลังการประชุมร่วมกันของ พรรค เนชั่นนัล คองเกรส , สหพันธ์มุสลิม และ ตัวแทนของชุมชนชาวซิกห์ กับ เมาท์แบตเทนแล้ว ที่ประชุมก็ได้แต่งตั้ง  ตามคำสั่งของรัฐบาลอังกฤษที่ลอนดอนให้ ซีริล แรดคลิฟฟ์(CYRIL RADCLIFFE) เป็นประธานคณะกรรมการกำหนดเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างอินเดีย กับปากีสถานทั้งตะวันตก และ ตะวันออก

               ดังนั้น   การประชุมของสามฝ่ายจึงเป็นเพียงตราประทับเพื่อรับทราบเท่านั้น   ไม่มีสิทธิโต้แย้ง

               แรดคลิฟฟ์  เป็นนักกฎหมายผู้ไม่เคยเห็นอินเดียมาก่อน   เขาได้รับการทาบทามจากรัฐบาลอังกฤษมาตั้งแต่ก่อนวันประกาศใช้กฎหมายเมื่อวันที่ 18 กรกรฎาคมแล้ว   ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันว่า   อังกฤษวางแผนจะแยกประเทศอินเดียออกมาเป็นสองประเทศตั้งแต่ต้น 

               แต่แสร้งทำเป็นพยายามที่จะให้รักษาอินเดียให้เป็นประเทศเดียว  

               แรดคลิปฟ์ คงจะอยู่ในสถานการณ์ที่กระอักกระอ่วน  กลืนไม่เข้า  คายไม่ออก   ไม่ต่างอะไรกับ ลอร์ด เมาท์ แบตเทน  ตอนที่ต้องมารับหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแห่งอินเดียอย่างปฎิเสธไม่ได้  เพื่อจัดการกับภารกิจแบ่งแยกประเทศอินเดียเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้     

แรดคลิฟฟ์  เดินทางถึงเดลีวันที่ 8 กรกฎาคม ปี 1947  เขามีเวลาทำงานเพียง 5 สัปดาห์ เพื่อกำหนดเส้นแบ่งพรมแดนของสองประเทศให้เสร็จสิ้น 

เป็นภารกิจที่ยิ่งกว่า MISSION IMPOSSIBLE

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .