ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน7)

ซอกซอนตะลอนไป                           (22 กันยายน 2567)

ยกเลิกมาตรา 370 ภารกิจรัฐบุรุษ(ตอน7)

ก่อนอินเดียแยกประเทศ

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ลอร์ด เมาท์ แบตเทน ถึงเดลีเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 1947  เขาต้องปฎิบัติภารกิจคืนอิสรภาพให้แก่อินเดียในฐานะประเทศเอกราชประเทศเดียวภายใต้เครือจักรภพอังกฤษ   เส้นตายที่รัฐบาลอังกฤษขีดให้แก่ เมาท์ แบตเทนก็คือ วันที่ 30 มิถุนายน 1948

               หมายความว่า  เมาท์ แบตเทน มีเวลา 1 ปี กับ 3 เดือนโดยประมาณ


(บอร์ด วาเวลล์ – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ลอร์ด อาชิบัลด์ วาเวลล์(LORD ARCHIBALD WAVELL) นายทหารตาเดียว และ ผู้สำเร็จราชการแห่งอินเดียในขณะนั้นให้การต้อนรับเมาท์ แบตเทน ที่บ้านพักพร้อมกับมอบตราสัญลักษณ์ของตำแหน่ง ผู้สำเร็จราชการแห่งอินเดียให้เขา


(โมฮัมหมัด อาลี จินนาห์-ภาพจากวิกิพีเดีย)

ลอร์ด วาเวลล์  กล่าวคำแรกว่า  “ผมรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ท่านถูกส่งมาปฎิบัติภารกิจนี้”

“คุณคิดว่าผมไม่ควรได้รับตำแหน่งนี้เหรอ” เมาท์ แบตเทน ถาม

“หามิได้  ผมชื่นชมท่านมาตลอด  แต่ท่านได้รับมอบภารกิจที่ไม่มีทางสำเร็จได้เลย  ผมได้พยายามทุกวิถีทางที่จะแก้ปัญหานี้มาตลอด  แต่ไม่เห็นทางที่จะสำเร็จเลย” วาเวลล์ตอบ

ภารกิจที่ว่านี้   ไม่ใช่การคืนอิสรภาพให้แก่อินเดีย  แต่มันคือ  การคืนอิสรภาพให้แก่อินเดีย และ ยังคงให้เป็นอินเดียประเทศเดียวต่างหาก


(ซาร์ดาร์ วัลลับไบ พาเทล – ภาพจากวิกิพีเดีย)

วาเวลล์ มอบแฟ้มปฎิบัติการอีกแฟ้มหนึ่งให้ เมาท์ แบตเทน   มีตัวหนังสือเขียนไว้บนแฟ้มว่า “ปฎิบัติการบ้านคนบ้า” (OPERATION MADHOUSE)   มันคือคู่มือ  หรือ  แผนการของรัฐบาลอังกฤษในการอพยพชาวอังกฤษ  ทั้งผู้หญิง  เด็ก  พลเรือน  และ ทหาร ออกจากจังหวัดต่างๆทีละจังหวัดของอินเดีย  เพื่อกลับบ้าน

เป็นสิ่งที่ คานธีได้ปรารภเกี่ยวกับแฟ้มดังกล่าวว่า  เป็นการทิ้งอินเดียให้เกิดจลาจล

นี่คือเหตุผลที่แท้จริงอีกข้อหนึ่งที่ลอร์ด วาเวลล์ แสดงความเสียใจอย่างยิ่งที่ เมาท์ แบตเทน ได้รับมอบภารกิจนี้


(เนห์รู – ภาพจากวิกิพีเดีย)

เมาท์ แบตเทน  นัดพบบรรดาผู้นำของทั้ง 3 ฝ่ายที่มีความเห็นขัดแย้งกัน   ฝ่ายแรก  พรรคคองเกรส ตัวแทนของชาวฮินดู ที่มี เนห์รู คานธี และ  ซาร์ดาร์ วัลลับไบ พาเทล เป็นตัวแทน  ,  ฝ่ายที่ 2 คือ สหพันธชาวมุสลิมทั้งปวง ที่มี มูฮัมหมัด อาลี จินนาห์(MUHAMMAD ) เป็นตัวแทน และ  ฝ่ายที่ 3 คือ  บัลเดฟ ซิงห์ (BALDEV SINGH) เป็นตัวแทนของชาวซิกห์

ทั้งหมดพกเอาความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันมาอย่างเต็มหัวใจ

มูฮัมหมัด อาลี จินนาห์ ยืนยันว่า   ชาวมุสลิมต้องการจะแยกประเทศเป็นอิสระออกไปจากอินเดีย   ในขณะที่ฝ่ายคองเกรส พยายามอย่างมากที่จะไม่ยอมแยกประเทศ

ถึงขนาดที่  คานธี เคยพูดปราศรัยต่อหน้าฝูงชนเกี่ยวกับเรื่องที่มุสลิมจะขอแยกประเทศว่า

“ต้องข้ามศพผมไปก่อน”

เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร   ติดตามอ่านในสัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .