ระบบการศึกษาของอินเดียล้ำหน้ากว่าไทยมาก (ตอน2)

ชีวิตเป็นของมีค่า

ระบบการศึกษาของอินเดียล้ำหน้ากว่าไทยมาก (ตอน2)

โดย        เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ตอนที่แล้ว  ผมได้พูดถึงระบบโรงเรียนชั้นประถมของอินเดียที่แบ่งออกเป็น 4 ประเภท  คือ  โรงเรียนของรัฐฯ หรือ โรงเรียนที่รัฐอุปถัมภ์เต็มร้อย  ประเภทที่ 2 คือ  โรงเรียนกึ่งรัฐกึ่งเอกชน   ประเภทที่ 3 คือ โรงเรียนเอกชนเต็มร้อย

               โรงเรียนประเภทที่ 4 ที่จะพูดถึงก็คือ  โรงเรียนที่มีผู้อุปถัมภ์

เป็นโรงเรียนเอกชนที่มีผลงานการเรียนการสอนที่มีแนวทางที่ดี  มีอนาคต  ทำให้บริษัทที่ร่ำรวยและมีจิตสาธารณะบางบริษัทที่ต้องการจะช่วยชาติได้เข้ามาสนับสนุนทางด้านการเงิน  เพื่อให้โรงเรียนเหล่านี้สามารถสรรหาบุคลากรครูที่มีคุณภาพมาสอน   และ  สามารถหาอุปกรณ์การเรียนการสอนที่พัฒนาก้าวหน้าขึ้นไปมาช่วยการสอน

หลักการสำคัญก็คือ   แม้จะมีครูที่ดี   อุปกรณ์การเรียนการสอนที่ดี   แต่ต้องไม่เก็บค่าเทอมในราคาแพงในระดับเดียวกับโรงเรียนเอกชนที่มีคุณภาพเท่าๆกัน


(สำนักงานของ TATA STEEL ในเมืองกอลกัตตา)

บริษัทที่เข้ามาสนับสนุนโรงเรียนประเภทนี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวก็คือ บริษัทตาต้า  

               ผมเคยเขียนถึงตระกูลตาต้า  ที่มาและที่ไปเอาไว้ซึ่งอยู่ในบล็อก “ซอกซอนตะลอนไป” ในเว็บไซต์ www.whiteelephanttravel.co.th  ท่านที่สนใจสามารถเข้าไปหาอ่านย้อนหลังได้

               ตาต้า เป็นตระกูลชาวอินเดียที่มีต้นกำเนิดมาจากเปอร์เชีย หรือ อิหร่านปัจจุบันนี้   หลังจากที่อพยพมาขึ้นฝั่งที่บริเวณรัฐกุจราฐ   ก็เริ่มต้นทำการค้าขายจนประสบความสำเร็จเป็นมหาเศรษฐีอันดับต้นๆของอินเดีย   แล้วตระกูลตาต้าก็เริ่มตอบแทนแผ่นดินอินเดีย

               แม้จะร่ำรวยอย่างบ้าคลั่ง  แต่ตระกูลตาต้าก็ไม่เคยออกมาโอ้อวดความร่ำรวยของตนเอง  และไม่เคยบ้าเลือดใช้เงินหลายพันล้านดอลล่าร์ในการจัดงานแต่งงานของคนในตระกูลอย่างไร้สาระ 

               แต่สมาชิกของตระกูลกลับเป็นคนที่อ่อนน้อม ถ่อมตน ติดดิน  และ  สำรวม   

               ตระกูลตาต้าหันไปทุ่มเทเงินทองเพื่อสร้างบุคลากรของประเทศให้เป็นบุคคลคุณภาพของประเทศในอนาคต  และมิใช่เพียงแค่บุคลากรทางด้านการศึกษาเท่านั้น   เขายังให้การสนับสนุนทางด้านการกีฬาด้วย


(จัมเชดจิ คนแรกของตระกูลตาต้าในอินเดียที่วางรากฐานที่มั่นคงให้แก่ตระกูล-ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ที่เมือง จัมเชดปูร์ ในรัฐจาร์คฮาน ซึ่งเป็นสถานที่แห่งแรกที่ จัมเชดจิ ตาต้า เริ่มสร้างโรงงานของเขาเป็นครั้งแรกที่อินเดีย  จนช่วยทำให้เขาสร้างตัวขึ้นมาจนเป็น 1 ใน 5  มหาเศรษฐีของอินเดีย  

               ตระกูลตาต้า สำนึกในบุญคุณของเมืองนี้มาตลอด   ไม่เคยทอดทิ้งไปไหนแม้ว่าตาต้าจะสร้างสำนักงาน และ โรงงานในหลายๆเมือง

               เขาช่วยพัฒนา และ ดูแลรักษาเมืองจัมเชดปูร์ จนกระทั่งในปี 2020  จัมเชดปูร์ถูกจัดอันดับให้เป็นเมืองที่สะอาดที่สุดของอินเดีย


(JRD TATA SPORTS COMPLEX-ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ตระกูลตาต้าได้สร้าง JRD TATA SPORTS COMPLEX ซึ่งมีทั้งสนามฟุตบอลขนาดใหญ่  ลู่วิ่งแข่งขันระดับมาตรฐาน  และ สถานฝึกฝนกีฬาประเภทต่างๆ  เช่น  ยิงธนู   บาสเก็ตบอล   ฮ็อคกี้  เทนนิส  ปิงปอง  ว่ายน้ำ   วอลเลย์บอล  และอีกมามาย   

สถาบันนี้ได้สร้างนักฟุตบอล และ นักกีฬาเก่งๆออกไปเป็นนักกีฬาทีมชาติมากมายหลายคน


(เจอาร์ดี ตาต้า บุคคลที่มีวิสัยทัศน์ไกล ผู้บุกเบิกตลาดของตระกูลในหลายๆด้าน เช่น เปิดสายการบินแอร์อินเดีย-ภาพจากวิกิพีเดีย)

กลับมาพูดถึงโรงเรียนประเภทที่ 4  ซึ่งหมายถึงโรงเรียนเอกชนที่ได้รับการอุปถัมภ์จากตระกูลตาต้า

ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่า  ไม่ใช่โรงเรียนเอกชนทุกโรงเรียนของอินเดียจะร่ำรวย  บางแห่งก็อยู่ในฐานะยากจน หรือ พอถูไถไปได้  หรืออยู่ห่างไกลชุมชน  หรือด้วยเหตุผลอะไรก็ตามทำให้เก็บค่าเล่าเรียนแพงไม่ได้

การศึกษาจึงไม่อาจพัฒนาเท่ากับโรงเรียนเอกชนที่มีทุนทรัพย์สูงๆได้


(ราทาน ตาต้า ทายาทรุ่นปัจจุบันของตาต้า ผู้มีความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างมาก -ภาพจากวิกิพีเดีย)

ตระกูลตาต้า จะมีคณะกรรมการชุดหนึ่งคอยพิจารณาโรงเรียนที่มีศักยภาพ  แต่ขาดทุนทรัพย์เพื่อเข้าไปสนับสนุน   เช่น  จ้างครูที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่างๆที่มีค่าตัวสูงๆมาสอนซึ่งลำพังโรงเรียนเองไม่มีเงินเพียงพอที่จะจ้างครูเหล่านี้มาสอนได้  เพราะโรงเรียนเก็บค่าเทอมไม่แพง

ทำให้นักเรียนที่แม้จะอยู่ห่างไกลเมืองใหญ่  หรือ  ห่างไกลความเจริญก็มีโอกาสที่จะก้าวขึ้นมาเป็นอนาคตของชาติได้

เป็นแนวคิดที่สุดยอดและน่าสนับสนุนมาก

ตั้งแต่เด็กผมได้รับรู้ว่า   โรงเรียนเตรียมอุดมฯ เป็นสถานศึกษาที่ผลิตคนเก่งๆออกมามาก  แต่โรงเรียนนี้อยู่ในกรุงเทพ   เด็กๆผู้เกิดและเติบโตที่หนองหมาว้อ ห่างไกลความเจริญกลายเป็นเด็กนักเรียนที่ตกขบวนรถ  เพราะไม่สามารถสอบแข่งขันกับเด็กนักเรียนเตรียมได้เนื่องจากโอกาสทางการศึกษาไม่เท่ากัน

ทำไม  นักธุรกิจไทยทั้งระดับประเทศ  และ  ระดับท้องถิ่น  จึงไม่คิดวิธีพัฒนาท้องถิ่น และ ประเทศแบบเดียวกับที่ตระกูลตาต้า ทำบ้าง 

เรื่องนี้จะถือว่า   เป็นโชคร้ายของชะตากรรมประเทศไทยได้หรือไม่

ตอนหน้า  ผมจะเจาะลึกถึงหลักสูตรของชั้นเรียน ป 7 ของเมืองกอลกัตตา   อ่านแล้วอย่าร้องไห้ก็แล้วกัน

Posted in ชีวิตเป็นของมีค่า โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ.