ระบบการศึกษาของอินเดียล้ำหน้ากว่าไทยมาก (ตอน1)

ชีวิตเป็นของมีค่า

ระบบการศึกษาของอินเดียล้ำหน้ากว่าไทยมาก (ตอน1)

โดย     เสรษฐวิทย์   ชีรวินิจ

               ผมมีเพื่อนไกด์ที่สนิทกันมากคนหนึ่งในเมืองกอลกัตตา  เขามีลูกสาวเรียนชั้น ป 7 (ขณะนี้)     เมื่อสองปีก่อน  ตอนที่เธอเรียนชั้น ป 5 ขณะที่ผมสนทนากับพ่อของเธอทาง ไลน์ แอพพลิเกชั่น  เธอซึ่งมักจะนั่งอยู่ข้างๆได้ขอพ่อของเธอว่าอยากจะคุยกับผม


(เพื่อนไกด์ของผมที่กอลกัตตา ที่หน้าวิคเตอเรีย เมมมอเรียล ฮอลล์)

               ความรู้สึกของผมตอนนั้น  ผมไม่คิดว่าเด็กนักเรียนอินเดียชั้น ป 5  จะสามารถพูดคุยสื่อสารกันทางโทรศัพท์ด้วยภาษาอังกฤษได้

               แต่ไม่น่าเชื่อ   เธอพูดจาสื่อสารกับผมได้อย่างเข้าใจดีทุกเรื่อง  หลังจากนั้น  ผมก็พูดคุยกับเธอมาตลอดแทบจะทุกครั้งที่ผมคุยกับพ่อของเธอ   แต่ละปี   เธอพูดภาษาอังกฤษในระดับที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ  จนกระทั่งได้คุยกับเธอเรื่องการสอบ  และได้เห็นข้อสอบของโรงเรียน   จึงคิดว่า  น่าจะนำมาให้ท่านผู้อ่านได้ทราบเกี่ยวกับระบบการศึกษาของอินเดียกันว่า 

               ระบบการศึกษาของไทยล้าหลังกว่าของอินเดียแค่ไหน  

               ระบบการศึกษาของอินเดียในระดับชั้นประถม 7 ปี จะแบ่งปีการศึกษาออกเป็น 3 เทอม  เทอมละ 4 เดือน    แต่การเก็บค่าเล่าเรียน หรือ ค่าเทอมของโรงเรียนจะเก็บกันเป็นรายเดือน

               ระบบการศึกษาของอินเดียจะแบ่งโรงเรียนออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ  คือ

               หนึ่ง  โรงเรียนของรัฐบาลเต็มรูปแบบ  หมายความว่า  รัฐบาล ซึ่งหมายถึงรัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละรัฐ  ไม่ใช่รัฐบาลกลาง จะเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินร้อยเปอร์เซนต์   ดังนั้น   จึงไม่มีการเก็บค่าเล่าเรียนใดๆทั้งสิ้น

               สอง  โรงเรียนกึ่งรัฐกึ่งเอกชน  คือโรงเรียนที่รัฐบาลท้องถิ่นช่วยเหลือเงินบางส่วน  โรงเรียนประเภทนี้มักจะก่อตั้งโดยองค์กรจากต่างประเทศ  เช่น  โบสถ์คริสต์ เป็นต้น  แต่แน่นอนว่า   ค่าใช้จ่ายขั้นต้นของโรงเรียนประเภทนี้จะแพงกว่าของโรงเรียนรัฐแน่นอน   แต่มันก็หมายถึง  รายละเอียดการเรียนการสอนที่ดีกว่า

               คนชั้นกลางที่พอจะมีกำลังทรัพย์มากขึ้นมาหน่อย แต่ยังไม่ถึงขั้นร่ำรวย ก็จะส่งลูกหลานมาเรียนในโรงเรียนประเภทนี้

โรงเรียนเหล่านี้นอกจากจะได้รับเงินอุดหนุนจากองค์การใดองค์กรหนึ่ง  เช่น  โบสถ์คริสต์   รัฐบาลท้องถิ่นเข้ามาช่วยอุดหนุนให้โรงเรียนอีกส่วนหนึ่ง  ทำให้ค่าเล่าเรียนมีราคาถูกลง  สำหรับพ่อแม่ชนชั้นกลางที่มีฐานะพอที่จะส่งเสียลูกๆให้ดีกว่าโรงเรียนของรัฐ จะได้มีทางเลือก

แต่รัฐก็จะเข้าไปควบคุมราคาค่าเล่าเรียนด้วย

เพื่อนซึ่งลูกสาวเรียนชั้น ป.7 ของโรงเรียน CHRIST CHIRCH GIRL’S HIGH SCHOOL ที่เมืองกอลกัตตา จะต้องจ่ายค่าเทอมเป็นรายเดือน  เดือนละ 1800 รูปี  หรือเทียบเท่ากับ 900 บาท  ค่าใช้จ่ายนี้จะรวมค่าใช้จ่ายในการเรียนคอมพิวเตอร์ที่มีราคา 100 รูปีด้วย  


(โรงเรียน CHRIST CHURCH GIRL’S HIGH SCHOOL ที่กัลกัตตา)

เวลาเรียนของโรงเรียนทั่วไปจะอยู่ที่ 10.00 น. ถึง 16.20 น.  เนื่องจาก  โรงเรียนจะไม่มีร้านอาหาร  นักเรียนทุกคนจึงต้องเตรียมอาหารเที่ยงมาจากบ้านกันเอง


(ชุดนักเรียนชั้น ป 7 ของโรงเรียน ไครสเชิร์ต ลูกสาวของเพื่อนผมคือคนที่ 2 จากซ้ายมือ)

สาม  โรงเรียนที่เป็นของเอกชนร้อยเปอร์เซนต์ที่ไม่รับเงินสนับสนุนจากรัฐ   รัฐจึงไม่สามารถเข้าไปควบคุมเรื่องราคาค่าเล่าเรียนได้   เพียงแต่ควบคุมในเรื่องคุณภาพของหลักสูตรเท่านั้น   เปรียบไปก็คือ  โรงเรียนเอกชนในประเทศไทย ที่มีค่าเล่าเรียนสูงกว่าโรงเรียนของรัฐ  

โรงเรียนประเภทที่ 3 นี้   แบ่งออกเป็นหลายระดับ   ตั้งแต่ระดับราคาถูก จนถึงระดับแพงหูฉี่  เช่นโรงเรียนอินเตอร์ที่มีค่าเล่าเรียนเป็นล้าน   พ่อแม่ตั้งแต่ชนชั้นกลางและสูง ที่ต้องการจะทุ่มเททรัพยากรของตัวเองเพื่อลูก ก็สามารถเลือกส่งลูกมาเรียนได้ตามระดับราคาที่สามารถจ่ายได้

โรงเรียนระดับแพงหูฉี่นี้เอง ที่บรรดามหาเศรษฐีอินเดียที่มีเงินเยอะมากจนไม่รู้จะเอาเงินไปทำอะไร  ได้หันมาลงทุนในธุรกิจที่ว่านี้   เพราะได้ทั้งกำไร และ ทั้งชื่อเสียง   เช่น ตระกูลธุรกิจ RELIANCE  และ  ตระกูล BIRLA เป็นต้น

โรงเรียนประเภทที่ 4  เป็นโรงเรียนที่มาในรูปแบบพิเศษ  เพื่อช่วยเหลือนักเรียนประเภทที่มีอนาคต หรือ  นักเรียนที่ฉายแววความเก่ง   หากได้รับการสนับสนุนที่ดี และ ถูกทาง  

รออ่านรายละเอียดของมาตรฐานโรงเรียนประเภทที่ 4 ของอินเดียในตอนหน้านะครับ   

Posted in ชีวิตเป็นของมีค่า โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ.